xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ทหารสหรัฐฯ ระบุ กองทัพมะกัน “เสี่ยงสูง” ถ้าทำศึกใหญ่กับรัสเซีย, จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ภาพจากแฟ้มของพล.อ.มาร์ก มิลลีย์  ผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐฯ  ทั้งนี้มิลลีย์ไปให้ปากคำแก่คณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของรัฐสภาเมื่อวันพุธ (16 มี.ค.) ระบุว่าหากสหรัฐฯเข้าทำศึกกับ 1 หรือ 2 ใน 4 ประเทศเหล่านี้คือ จีน, รัสเซีย, อิหร่าน, หรือเกาหลีเหนือ  ทหารของเขาก็จะอยู่ในความเสี่ยงอย่างสูง </i>
รอยเตอร์/เอพี/MGRออนไลน์ - เหล่าผู้นำทางทหารของสหรัฐฯ กล่าวแสดงความวิตกกังวลเมื่อวันพุธ (16 มี.ค.) ว่า ทหารของพวกเขาจะเผชิญกับความเสี่ยงในระดับสูง ถ้าหากสหรัฐฯ เข้าสู้รบทำศึกขนาดใหญ่กับมหาอำนาจอย่างเช่นรัสเซียหรือจีน พร้อมบอกกับคณะกรรมาธิการของรัฐสภาด้วยว่า การขาดแคลนทรัพยากรและการฝึกอบรมกำลังส่งผลลิดรอนความพร้อมรบของอเมริกา

พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐฯ (US Army Chief of Staff) กล่าวในการให้ปากคำแก่คณะกรรมาธิการกิจการการทหารของสภาผู้แทนราษฎรว่า ถ้ากองทัพบกอเมริกันต้องสู้รบใน “สงครามที่ทำกับมหาอำนาจรายใหญ่” อย่างเช่น จีน, รัสเซีย, อิหร่าน, หรือเกาหลีเหนือแล้ว เขาก็มี “ความเป็นห่วงอย่างยิ่ง” เกี่ยวกับความพรักพร้อมของกองทหารของเขา

มิลลีย์อธิบายว่า ภายหลังต้องสู้รบอย่างยาวนานหลายๆ ปีในอิรักและอัฟกานิสถาน รวมทั้งงบประมาณที่มีการจำกัดตัดทอน ตลอดจนการตัดลดกำลังทหาร จึงได้ส่งผลโดยรวมต่อความพร้อมของกองทัพบก

เขาระบุว่า กองทัพบกอเมริกันมีความพร้อมที่จะสู้รบกับกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ตลอดจนองค์การก่อการร้ายอื่นๆ

แต่ถ้าเป็นสิ่งที่มิลลีย์เรียกว่า “สงครามที่ทำกับมหาอำนาจรายใหญ่” กล่าวคือ เป็นการทำศึกกับ 1 หรือ 2 ใน 4 ประเทศเหล่านี้ อันได้แก่ จีน, รัสเซีย, อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ก็จะกลายเป็นความท้าทายที่ใหญ่โตยิ่ง

มิลลีย์บอกว่า ความพรักพร้อมของกองทัพบกนั้นไม่ได้อยู่ในระดับที่ถูกต้องเหมาะสมถึงขั้นที่ประชาชนชาวอเมริกันคาดหมายเอาไว้ในการพิทักษ์ปกป้องพวกเขา

“(กองทัพบก) ไม่ได้อยู่ในระดับที่สามารถดำเนินการออกมาอย่างน่าพึงพอใจ … ในแง่ของระยะเวลา, ต้นทุนที่ต้องจ่ายในแง่ของการบาดเจ็บล้มตาย หรือต้นทุนที่ต้องจ่ายในแง่ของวัตถุประสงค์ทางทหาร” มิลลีย์ระบุ
<i>ภาพจากแฟ้มของ รัฐมนตรีทบวงกองทัพอากาศ เดบอราห์ เจมส์ ที่ถ่ายโดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ เธอให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของรัฐสภาในวันพุธ (16 มี.ค.) ว่า กำลังทหารทำหน้าที่สู้รบในกองทัพอากาศประมาณครึ่งหนึ่งทีเดียว มีความพร้อมไม่เพียงพอสำหรับการสู้รบกับประเทศใหญ่ๆ อย่างเช่นรัสเซีย </i>
ทางด้าน เดบอราห์ เจมส์ รัฐมนตรีทบวงกองทัพอากาศสหรัฐฯ (US Air Force Secretary) ซึ่งมาให้ปากคำในเวทีเดียวกันนี้ ได้กล่าวถึงงบประมาณที่ฝ่ายทหารยื่นขอมาสำหรับปีงบประมาณ 2017 (ต.ค. 2016-ก.ย. 2017) โดยระบุด้วยว่า กำลังทหารทำหน้าที่สู้รบในกองทัพอากาศของเธอนั้น ประมาณครึ่งหนึ่งทีเดียวมีความพร้อมไม่เพียงพอสำหรับการสู้รบกับประเทศใหญ่ๆ อย่างเช่นรัสเซีย

“เงินทองนั้นมีส่วนช่วยอย่างมากสำหรับการเตรียมความพร้อม แต่การเปิดให้มีเวลาเพิ่มมากขึ้นสำหรับการที่คนของเราจะเข้าสู้รบ รวมทั้งให้มีเวลาสำหรับการฝึกซ้อมเรื่องนี้ด้วย ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญพอๆ กัน”

ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคมนี้เอง พวกเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ ระบุว่า พวกเขากำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนนักบินสำหรับขับเครื่องบินขับไล่กว่า 500 คน และคาดหมายว่าปัญหานี้จะขยายตัวกลายเป็นขาดแคลนกว่า 800 คนภายในปี 2022

งบประมาณของกองทัพสหรัฐฯ นั้นพุ่งพรวดขึ้นอย่างรวดเร็วนับจากเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 อีกทั้งอเมริกาก็ยึดครองตำแหน่งประเทศที่มีรายจ่ายด้านกลาโหมสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกมานานปี โดยล่าสุดตามรายงาน “ดุลทางทหาร” (The Military Balance) ของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา (ไอไอเอสเอส) ประจำปี 2016 ซึ่งศึกษาวิจัยตัวเลขของรอบปี 2015 นั้น ปรากฏว่าสหรัฐฯ มีงบประมาณกลาโหม 597,500 ล้านดอลลาร์ เท่ากับ 3.3% ของจีดีพีของประเทศ ทิ้งห่างหลายเท่าตัวแม้กระทั่งอันดับ 2 อย่างจีน ซึ่งอยู่ที่ 145,800 ล้านดอลลาร์ ที่เท่ากับ 1.2% ของจีดีพีจีน (ดูรายละเอียดได้จากวิกิพีเดีย https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_military_expenditures)

สำหรับในงบประมาณประจำปี 2017 ยอดใช้จ่ายที่กองทัพบกอเมริกันขอไว้อยู่ที่ 148,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากงบประมาณรวม 146,900 ล้านดอลลาร์ของปี 2016

อย่างไรก็ตาม งบประมาณของกองทัพบกในปี 2017 จะยังคงทำให้ต้องมีการลดขนาดของกองทัพนี้ลงไปอีก ดังนั้นในปี 2017 ทหารประจำการของกองทัพบกจะลดลงเหลือ 460,000 คนจากระดับ 475,000 คนในเวลานี้

กำลังโหลดความคิดเห็น