เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นับเป็นเรื่องแทบไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่นายทหารในกองทัพปลดแอกประชาชนจีนจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้บังคับบัญชา โดยแสดงความผิดหวังงบประมาณกลาโหมปีนี้ ที่ขยับขึ้นนิดเดียว
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่า การเพิ่มงบประมาณกลาโหม “ต่ำอย่างน่าแปลกใจ” เป็นสิ่งยืนยันว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดแห่งกองทัพแดนมังกร ไม่ยั่นเหล่าแม่ทัพนายกองจะขุ่นเคืองใจ แต่ต้องการแสดงให้รู้เสียบ้างว่า ใครคือคนคุมกองทัพตัวจริง
ที่ประชุมประจำปีสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน ( NPC) ประกาศเมื่อวันเสาร์ ( 5 มี.ค. 2559) ว่า มีการเพิ่มงบประมาณกลาโหมในปีนี้ร้อยละ 7.6 เป็น 954,000 ล้านหยวน หรือมากกว่า 4 ล้านล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มร้อยละ 10.1 และเป็นการเพิ่มเพียงตัวเลขหลักเดียวครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ซึ่งมีการเพิ่มงบกลาโหมร้อยละ 7.5
พลตรี เฉียน ลี่ฮวา อดีตหัวหน้าสำนักงานกิจการต่างประเทศของกระทรวงกลาโหมจีน กล่าวในการอภิปรายแบบคณะของสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีน (CPPCC) เมื่อวันอาทิตย์ ( 6 มี.ค. 2559) ว่า การเพิ่มงบประมาณกลาโหมปีนี้ต่ำกว่าที่เขาคาดการณ์ไว้อย่างมาก นอกจากนั้น ก่อนหน้าการเปิดการประชุมประจำปีสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ และการเปิดการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีน ซึ่งเปรียบเสมือนสภาพี่เลี้ยงของสภาผู้แทนประชาชนนั้น สื่อตะวันตกบางสำนักเองยังคาดการณ์ว่า งบประมาณกลาโหมของจีนปีนี้อาจเพิ่มถึงร้อยละ 20
ด้านพลเรือตรี อิ้น โจว ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการเมืองแห่งชาติเช่นเดียวกับพลตรีเฉียน กล่าวกับสถานีวิทยุ ไชน่า เนชั่นแนล เรดิโอ ว่า การเพิ่มงบประมาณกลาโหมควรมีความสมน้ำสมเนื้อกับเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็ต้องให้มีสัดส่วนเหมาะสมกับความจำเป็นในด้านความมั่นคงของชาติด้วย และจีนไม่ควรหยุดพัฒนากองทัพกลางคันในภาวะที่จีนกำลังเผชิญปัญหาท้าทายความมั่นคงรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาท้าทายทางทะเล
เขาเห็นว่า จีนไม่ควรแข่งขันสร้างอาวุธยุทธภัณฑ์ หรือแสนยานุภาพกับสหรัฐฯ แต่สัดส่วนงบประมาณกลาโหมต่อจีดีพีในขณะนี้ ซึ่งเขาระบุว่า อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ยังนับว่า ต่ำเกินไป สัดส่วนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ร้อยละ 2-2.5 โดยกองทัพยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการลดจำนวนกำลังพลจำนวน 3 แสนนาย ที่กำลังดำเนินการอีกด้วย
ส่วนพลโท หวัง หงกวง อดีตผู้บัญชาการกองทัพภาคหนันจิงแสดงความเห็นในที่ประชุม CPPCC ว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจำเป็นต้องได้รับงบประมาณเพิ่มร้อยละ 20 ในปีนี้ สำหรับการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย และรับมือกับปัญหาท้าทายในทะเลจีนใต้ และทะลเจีนตะวันออก
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสี ซึ่งนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางได้ประกาศเมื่อเดือนก.ย. ปีก่อน ถึงแผนการลดกำลังพล ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่หน่วยรบจำนวน 3 แสนนาย เพื่อยกเครื่องกองทัพจีน ซึ่งพลมากที่สุดในโลก ให้ทันสมัยและเพรียวลม โดยเขาได้ฤกษ์ประกาศ ภายหลังการล้างบาง 3 อดีตนายพลทุจริต คือพลเอก สีว์ ไฉโฮ่ว และพลเอก กัว โป๋สง บุคคลทั้งสองมีตำแหน่งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลาง และพลโท กู๋ จวิ้นซาน อดีตรองหัวหน้าฝ่ายพลาธิการแห่งกองทัพ
แหล่งข่าวระบุว่า กวาดล้างคอร์รัปชั่นก่อน แล้วจึงประกาศลดกำลังพล นับเป็นอุบาย ที่แยบยล เพราะเป็นการข่มขวัญนายพลบางคน ที่ทะนงตัว แต่พอเห็นพยัคฆ์ ที่ว่าแน่หลายคนในกองทัพถูกกำจัด ก็พากันขยาด
แหล่งข่าวยังเสริมอีกว่า ประธานาธิบดีสีต้องการแสดงให้กองทัพเห็นว่า เขามีอำนาจควบคุมความเป็นอยู่ของทุกคนในกองทัพ โดยประธานาธิบดีสี เป็นผู้นำทหาร ที่มีภูมิหลังมาจากพลเรือน แตกต่างจากเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งลดกำลังพล 1 ล้านนายเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ฉะนั้น เขาจึงหันมาใช้วิธีการกวาดล้างการคอร์รัปชั่น และวิธีการใช้จ่ายในกองทัพ ซึ่งได้แรงเชียร์จากประชาชนในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม นายแอนโทนี หว่อง ตง นักวิเคราะห์ทางทหาร ซึ่งอยู่ในมาเก๊ามองว่า วิธีการของประธานาธิบดีสีมีความเสี่ยงสูง เพราะเขามอบหมายภารกิจเพิ่มแก่กองทัพ แต่ขณะเดียวกันกลับให้แหล่งทรัพยากรในการดำเนินภารกิจน้อยลง
“ วิธีการเช่นนี้อาจส่งผลร้ายย้อนกลับมาหา หากประธานาธิบดีสีไม่สามารถทำให้นายทหารระดับสูงทั้งหมดในกองทัพเชื่อฟังเขาได้” นักวิเคราะห์ผู้นี้ระบุ