รอยเตอร์ - ประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรครัฐบาลที่พ่ายการเลือกตั้งมีความยุติธรรมในการอภิปรายที่เหลือของสภานิติบัญญัติซึ่งกำลังจะหมดวาระรับผิดชอบ ที่สามารถกำหนดงบประมาณของรัฐบาลชุดใหม่นำโดยฝ่ายค้านซึ่งจะรับช่วงต่อในปีหน้า
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ชนะเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย. และอองซานซูจี หัวหน้าพรรคได้พบหารือกับฉ่วย มาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันอาทิตย์ (15) เพื่อขอความช่วยเหลือในการเปลี่ยนผ่านที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปลายเดือน มี.ค.
ฉ่วย มาน กลายเป็นพันธมิตรของซูจี และการเสียที่นั่งในสภา และสัญญาณของความบาดหมางจากกองทัพและพรรคสหภาพสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ทำให้อนาคตทางการเมืองของฉ่วย มาน ไม่แน่นอน
“สมาชิกรัฐสภาชุดปัจจุบันส่วนใหญ่ รวมทั้งผมแพ้การเลือกตั้ง และไม่มีเหตุผลที่จะกลับมา แม้ว่าเราจะไม่ได้กลับมา เราก็จำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่ที่รับผิดชอบอยู่ให้ดีที่สุด ในขณะที่เรายังมีโอกาส มาช่วยกันมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ประชาชน” ฉ่วย มาน กล่าวในการเปิดประชุมสภา
สมาชิกพรรค NLD บางคนยังคงวิตกว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งโดยทหารสามารถบีบบังคับสมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรค USDP ให้เสริมงบประมาณถัดไปของกองทัพ ที่พรรค NLD หวังจะนำไปใช้ในด้านที่พรรคให้ความสำคัญท่ามกลางความคาดหวังของประชาชนสำหรับการเปลี่ยนแปลง
พรรค USDP ครองสภาในปัจจุบัน แต่จนถึงเวลานี้พรรคได้ที่นั่งมาเพียง 41 ที่ในสภาสูง และสภาล่าง เทียบกับพรรค NLD ที่ได้ไปถึง 390 ที่นั่ง สะท้อนถึงการปฏิเสธพรรคที่ถูกสร้างขึ้นจากรัฐบาลเผด็จการทหาร และควบคุมโดยบรรดานายพลที่ยกอำนาจให้ในปี 2554
ในบรรดาทหารเหล่านั้น คือ นักปฏิรูป เช่น ประธานาธิบดีเต็งเส่ง และทีมรัฐมนตรีของเขาที่พยายามมองหาความช่วยเหลือจากต่างชาติที่จะยกเครื่องเศรษฐกิจที่ถูกล่ามไว้ด้วยมาตรการคว่ำบาตร และการทุจริตมานานหลายทศวรรษ และการปกครองของทหารที่ไม่เหมาะสม แต่เต็งเส่งไม่ได้ลงรับเลือกตั้งในคราวนี้
หลังกวาดชัยชนะได้ถึง 80% ของที่นั่งที่เปิดแข่งในทั้งสองสภา พรรค NLD ต้องประสบต่อความท้าทายในการดึงดูดการลงทุน และสร้างงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามควบคุมราคาผู้บริโภค ค่าเงินที่ผันผวน และการขาดดุลการค้า
คำแถลงนโยบายทางการเมืองของพรรค NLD ยังกว้าง และคลุมเครือ แต่พรรคได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนส่งเสริมโรงเรียน และโรงพยาบาลของประเทศที่ยังไม่เจริญเต็มที่ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องสนับสนุนให้สมาชิกสภานิติบัญญัติคู่แข่งจัดสรรทุนให้เพียงพอ
ภายใต้ระบบกึ่งพลเรือนของพม่า ผลประโยชน์ของทหารได้รับความคุ้มครองจากการสงวนที่นั่งร้อยละ 25 ในสภา พร้อมกับตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญ 3 กระทรวงสำหรับกองทัพ ซึ่งประเด็นด้านกลาโหมถูกจำกัดการควบคุมจากพลเรือน
“เรากังวลว่ากองทัพจะผลักดันค่าใช้จ่ายทางทหารอย่างหนัก เราไม่สามารถแตะต้องงบประมาณกลาโหมได้ แต่สิ่งที่เราให้ความสำคัญลำดับต้นคือ สาธารณสุข และการศึกษา” วิน เต็ง แกนนำพรรค NLD กล่าว
แต่รัฐบาล NLD จะต้องการทหาร ไม่เพียงแต่เพราะกลุ่มทหารเป็นกำลังฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดในสภา แต่เพราะการควบคุมของทหารในกระทรวงมหาดไทย กลาโหม และความมั่นคงชายแดน ซึ่งหมายความว่า กองทัพยังเป็นหุ้นส่วนสำคัญในรัฐบาล
“เราไม่ต้องการที่จะยั่วยุพวกเขา เพราะไม่มีอะไรเทียบได้ต่อการทำงานของรัฐบาลทั้งหมด” วิน เต็ง กล่าว.