xs
xsm
sm
md
lg

“จีน” แถลงจีดีพีปี 2015 ขยายตัว 6.9% แย่ที่สุดในรอบ 25 ปี IMF ก็ปรับลดคาดการณ์เติบโต ศก.โลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชายผู้หนึ่งอ่านหนังสือพิมพ์ซึ่งพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งว่า “จีดีพีจีนโต6.9%” ขณะเดินไปตามถนนสายหนึ่งในกรุงปักกิ่งเมื่อวันอังคาร (19 ม.ค.) นี้  อัตราเติบโตของเศรษฐจีนถือว่าต่ำสุดในรอบ 25 ปี แต่ก็ยังคงเป็นไปตามที่คาดหมายกันไว้
เอเจนซีส์ - ทางการจีนรายงานในวันอังคาร (19 ม.ค.) เศรษฐกิจแดนมังกรรอบปี 2015 ที่ผ่านมา มีอัตราขยายตัว 6.9% ถือว่าแผ่วสุดในรอบ 25 ปี แต่กลายเป็นการเพิ่มความหวังว่าปักกิ่งจะออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มมากขึ้นอีก และความรู้สึกเช่นนี้ก็หวนกลับมาทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ในวันเดียวกันนี้เอง ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ออกรายงานอัปเดตคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งมีการปรับลดอัตราเติบโตของจีดีพีโลกให้ต่ำลงมาเป็นครั้งที่ 3 ในช่วงเวลาไม่ถึงปี โดยระบุว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ การชะลอตัวแรงของจีน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดต่ำ ซึ่งกำลังสร้างความลำบากให้แก่บราซิล ตลอดจนตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (เอ็นบีเอส) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 6.9% ต่ำสุดนับจากปี 1990 ภายหลังที่ในไตรมาส 4 ขยายตัวได้เพียง 6.8%

เหลี่ยว ชุน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของซิติก แบงก์ อินเตอร์เนชันแนลในฮ่องกง แสดงความเห็นว่า เศรษฐกิจแดนมังกรยังคงอยู่ในกระบวนการสร้างเสถียรภาพซึ่งยังไม่เสร็จสิ้น

ปัจจุบัน ผู้นำจีนกำลังเปลี่ยนแปลงโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจจากที่เคยเน้นการลงทุนและการส่งออกมาชานาน ก็หันมามุ่งอาศัยความต้องการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับดัน เอ็นบีเอส ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเช่นนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ อันนำมาซึ่งความท้าทายและปัญหามากมายที่รัฐบาลต้องแก้ไข

อัตราเติบโตปี 2015 นี้ ต่ำลงกว่าปี 2014 ที่ขยายตัว 7.3% และสำหรับปี 2016 นี้ หวัง เป่าอัน ผู้อำนวยการเอ็นบีเอส ยอมรับว่า สถานการณ์จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเติบโตของจีนจะยังต้องเผชิญสถานการณ์ภายนอกที่ซับซ้อนและผันผวน แต่เขาก็ชี้ว่า บางอุตสาหกรรมจะสามารถลดจำนวนสินค้าคงคลังและลดการผลิตส่วนเกินได้ ขณะที่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น ออนไลน์ และพลังงานหมุนเวียน จะยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสรุปก็คือ เอ็นบีเอสยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจะยังคงเติบโตอย่างมั่นคง

ทั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ถูกคาดหมายอย่างกว้างขวางว่า จะลดเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ลง และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า การขยายตัว 6.5% ก็เพียงพอสำหรับความต้องการของจีน

นอกจากตัวเลขจีดีพีแล้ว เอ็นบีเอสยังรายงานข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจประจำเดือนธันวาคมอีกหลายตัวซึ่งไม่ค่อยสวยงามนัก กล่าวคือ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 5.9% เทียบกับที่ทำได้ 6.2% ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ยอดค้าปลีกที่เป็นตัวบ่งชี้การใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้น 11.1% เทียบกับ 11.2% ในเดือนพฤศจิกายน และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่ชี้วัดการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขยายตัว 10% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่าตลาดการเงินยังคงบังเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ในเมื่ออย่างน้อยที่สุดอัตราเติบโตของจีดีพีก็เป็นไปตามที่คาดหมายกัน อีกทั้งการที่ตัวเลขเศรษฐกิจในแต่ละด้านยังสะท้อนถึงความอ่อนแอเช่นนี้ ก็ดูเป็นไปได้มากขึ้นที่ทางการจะออกมาตรการผ่อนคลายใหม่ ๆ ตามที่พวกนักลงทุนคาดหวังกัน โดยอาจจะได้เห็นในช่วงก่อนตรุษจีน

บรรยากาศเช่นนี้ทำให้นักลงทุนดันราคาหุ้น และดัชนีหุ้นคอมโพสิตของตลาดเซี่ยงไฮ้ปิดวันอังคาร (19) สูงขึ้น 3.25% ส่วนดัชนีหุ้น CSI300 ของพวกบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ที่สุดทั้งในตลาดเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น ก็บวกขึ้นมา 2.95%

เนื่องจากหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ตามที่ทางการคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้า ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ไม่น้อยแสดงความสงสัยข้องใจ และภายหลังการแถลงของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนคราวนี้ ก็มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้กันอีก

จูเลียน อีแวนส์-พิตชาร์ด นักเศรษฐศาสตร์จีนของแคปิตอล อิโคโนมิกส์ เป็นฝ่ายมองการณ์ในแง่ดี โดยบอกว่า แม้จีดีพีของทางการอาจเป็นตัวเลขที่แต่งขึ้นเพื่อให้ดูดีอย่างที่มีคนร่ำลือ แต่มันก็ไม่ได้บ่งชี้ว่า จีนกำลังเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงแต่อย่างใด และยังน่าเชื่อว่า จีดีพีจีนจะค่อย ๆ ดีขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนนับจากนี้

ตรงข้ามกับเจ้า หยาง จากโนมูระ ที่คาดว่า จีดีพีจีนปีนี้จะขยายตัวแค่ 5.8% เนื่องจากเผชิญปัจจัยลบสำคัญ ภาวะกำลังผลิตล้นเกิน ตลอดจนถึงภาวะอุปทานล้นเกินในตลาดอสังหาริมทรัพย์

ในวันเดียวกันนี้ (19) ไอเอ็มเอฟได้เปิดตัวฉบับอัปเดตล่าสุดของรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (เวิลด์ อีโคโนมิก เอาต์ลุก) ซึ่งคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีโลกในปีนี้ว่าจะทำได้ 3.4% ส่วนปีหน้า 3.6% โดยทั้ง 2 ปีนี้ต่างถูกปรับลดลง 0.2% จากการประมาณการครั้งก่อนในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

สำหรับเศรษฐกิจจีนนั้น ไอเอ็มเอฟยังคงตัวเลขคาดการณ์เดิมไว้ นั่นคือจะทำได้ 6.3% สำหรับปี 2016 และ 6.0% ในปี 2017 ถึงแม้ตัวเลขเหล่านี้จะต่ำลงแรงทีเดียวจากที่ทำได้ 6.9% ในปีที่แล้ว และ 7.3% ในปี 2014

รายงานอัปเดตของไอเอ็มเอฟ บอกด้วยว่า การที่ดีมานด์ของจีนกำลังชะลอตัวลงอย่างแรง ยังคงเป็นความเสี่ยงประการหนึ่งของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และจากการที่การนำเข้าและการส่งออกของจีนอ่อนตัวกว่าที่เคยคาดหมายกัน กำลังส่งผลกระทบหนักต่อตลาดเกิดใหม่รายอื่น ๆ ตลอดจนพวกชาติผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ไล่ตั้งแต่บราซิล ออสเตรเลีย ไปจนถึงพวกประเทศยากจนในแอฟริกา

ไอเอ็มเอฟยังชี้ว่า หากการชะลอตัวของจีนย่ำแย่ลงไปกว่านี้ ค่าเงินหยวนก็อาจอ่อนตัวลงอีก และบังคับให้สกุลเงินตราของชาติอื่น ๆ ต้องลดค่าไปด้วย

นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องการชะลอตัวของจีนแล้ว รายงานของไอเอ็มเอฟยังชี้ถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ต่อเศรษฐกิจโลกเวลานี้ อันได้แก่ การที่สหรัฐฯเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์แพงขึ้น และต้นทุนกู้ยืมของพวกชาติตลาดเกิดใหม่ตลอดจนชาติยากจน รวมทั้งภาคธุรกิจของประเทศเหล่านี้ ก็จะเพิ่มสูงขึ้น

ไอเอ็มเอฟบอกว่า ความปั่นป่วนผันผวนทางการเมืองเวลานี้ ก็อาจสร้างความวุ่นวายเสียหายให้แก่ชาติที่เศรษฐกิจกำลังเจอปัญหาหนักอยู่แล้ว อย่างเช่น รัสเซีย และบราซิล และตลอดทั่วทั้งตะวันออกกลาง


กำลังโหลดความคิดเห็น