xs
xsm
sm
md
lg

ก่วนจ้ง : มหาเสนาบดีผู้ยากจะนิยาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเขียน: ก่วนจ้ง
หากพูดถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีนอย่างขงจื่อ(孔子) เหลาจื่อ(老子) เมิ่งจื่อ (孟子)หรือแม้แต่สวินจื่อ(荀子) เชื่อว่าคนไทยหลายต่อหลายคนคงได้ยินผ่านหูมาบ้าง แต่มีบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีนอีกท่านหนึ่งที่ยังไม่ค่อยปรากฏสู่สายตาคนไทยและยังไม่ค่อยได้รับการพูดถึงเท่าใดนัก นั่นก็คือ ก่วนจ้ง(管仲)หรือก๋วนจื่อ (管子)อัครมหาเสนาบดีผู้เลื่องชื่อแห่ง รัฐฉี(齐国)ในสมัยชุนชิว(春秋770-476 ก่อนคริสตกาล)

และหนึ่งในคำสอนที่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัยของเขานั่นก็คือ‘หลักคุณธรรมค้ำจุนรัฐทั้งสี่’ (国之四维)ได้รับการบันทึกไว้ในบท ‘มู่หมิน’(牧民) ซึ่งเป็นบทแรกในตำรา ‘ก๋วนจื่อ’(管子)อันเป็นตำราที่อนุชนได้รวบรวมภูมิปัญญาความคิดของก่วนจ้งเอาไว้ ตำราเล่มนี้มีเนื้อหาครอบคลุมหลากหลายด้าน ทั้งเรื่องการปกครองบ้านเมือง การวางระบบกฎหมาย การจัดระเบียบสังคม และการพัฒนาเศรษฐกิจ อีกทั้งยังสอดแทรกแนวคิดของลัทธิขงจื่อ (儒家) ลัทธิเต๋า (道家)และลัทธินิติธรรมนิยม(法家)เข้าไว้อีกด้วย

‘หลักคุณธรรมค้ำจุนรัฐทั้งสี่’ ในแง่คิดของก่วนจ้ง ประกอบไปด้วย
1. จารีตประเพณี(礼)หมายถึง การไม่ก้าวล้ำขอบเขตที่พึงมี ความคิดและพฤติกรรมต้องไม่ก้าวล้ำบรรทัดฐานทางจริยธรรมที่ชนชั้นปกครองได้กำหนดไว้

2. มโนสำนึก(义)หมายถึง การไม่อวดอ้างตนเอง แม้ว่าความคิดและพฤติกรรมของตนเองจะสอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรมของชนชั้นปกครองก็ตาม

3. ความซื่อสัตย์สุจริต(廉)หมายถึง การไม่ปกปิดจุดด้อยหรือข้อผิดพลาดของ
ตนเอง และต้องเป็นคนใจซื่อมือสะอาด

4. ความละอายต่อการประพฤติชั่ว (耻)หมายถึง การไม่คบค้าสมาคมกับบุคคลที่ประพฤติตนผิดทำนองคลองธรรม และตนเองต้องรู้จักละอาย ไม่ประพฤติชั่ว

ก่วนจ้งเปรียบ ‘หลักคุณธรรมค้ำจุนรัฐทั้งสี่’ เป็นดั่งเสาบ้านทั้งสี่ต้น หากขาดเสาไปหนึ่งต้น บ้านก็จะเริ่มทรุดเอียง ขาดไปสองต้นบ้านก็จะเริ่มมีอันตราย ขาดไปสามต้นบ้านก็จะพังถล่มลงมา และถ้าสุดท้ายเมื่อไม่เหลือเสาเลยสักต้น ก็จะไม่มีบ้านอีกต่อไป

ก่วนจ้งคิดว่า เมื่อนำ ‘หลักคุณธรรมค้ำจุนรัฐทั้งสี่’ มาเปรียบกับกฎหมายแล้ว หลักคุณธรรมนั้นสำคัญกว่ากฎหมายมาก เพราะบ้านเมืองจะสงบสุขและเจริญรุ่งเรืองได้นั้นจะต้องมีคุณธรรมเป็นตัวนำพา ‘หลักคุณธรรมค้ำจุนรัฐทั้งสี่’ เป็นหลักที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงอยู่ของรัฐ คนเราไม่ประพฤติชั่วไม่ใช่เพราะเกรงกลัวกฎหมาย หากแต่เป็นเพราะมีจิตสำนึกที่ดี เมื่อใดที่หลักคุณธรรมทั้งสี่นี้หลอมรวมกันเป็นจิตสำนึกสามัญของมวลชนแล้ว เมื่อนั้นรัฐก็จะดำรงอยู่ได้อย่างสงบสุขและยืนยง

ลิงค์ ดาวน์โหลดจดหมายข่าวฉบับเต็ม

อ่าน จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา


กำลังโหลดความคิดเห็น