xs
xsm
sm
md
lg

ประโยชน์จาก facebook ที่ทำให้คน “รำแดง” สำนึกรักบ้านเกิด (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุดม ทักขระ นายก อบต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา
นอกจาก “ทุ่งปอเทืองบาน ณ รำแดง” ที่ทาง อบต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา จัดกิจกรรม และทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแล้ว นี่เป็นเพียงผลต่อยอดจากต้นปอเทือง ที่มีประโยชน์มหาศาลในการบำรุงดิน และเป็นปุ๋ยพืชสดให้แก่ชาวนา เมื่อเห็นผล และปลูกกันเป็นจำนวนมาก จึงได้พัฒนามาเป็นแหล่องท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชื้อเชิญคนภายนอก หรือนักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสถึงกลิ่นอายท้องทุ่ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็ได้บรรจุที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวไม้ดอกไม้ประดับด้วย วิถีของคนรำแดงคือ “โหนด นา ไผ่ คน” นี่คือ อัตลักษณ์ของรำแดง

ส่วนเรื่อง วิสัยทัศน์ และการบริหารของ อบต.รำแดง ทีมข่าว “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายอุดม ทักขระ นายก อบต.รำแดง ซึ่งมีความน่าสนใจไม่น้อย มุ่งเน้นให้คนรำแดง และลูกหลาน “สำนึกรักบ้านเกิด” โดยการใช้สื่อออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊กให้เป็นประโยชน์ และมันก็ได้ผลจริงๆ

อุดม ทักขระ นายก อบต.รำแดง : วิสัยทัศน์ของการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา คือ ยึดหลักการใช้ทรัพยากรในพื้นถิ่นในพื้นที่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางด้านชีวภาพ กายภาพ ทางด้านวัฒนธรรม คือ จะคงไว้ให้เป็นแบบเดิมให้มากที่สุด ประชากร ต.รำแดง มีประมาณ 8,200 กว่าคน 620 กว่าครัวเรือน มีพื้นที่ประมาณ 6,800 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์ (วัว) ทำต้นตาลโตนด และรับจ้าง รายได้จากการทำนาต่อปีร่วม 10 ล้านบาท ส่วนวัวประมาณ 4 ล้านเศษต่อปี มูลวัวก็กำลังมีโครงการต่อยอดนำมาทำเป็นพลังงานสะอาด คือ แก๊ส และปุ๋ยหมัก

: การเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ การสร้างมวลชนสัมพันธ์ กับประชากรกว่า 8,200 คน นายกฯ มีวิธีการอย่างไร

นายก อบต.รำแดง : ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก การพัฒนาชุมชนเรื่องสำคัญที่สุดคือ เรื่องข้อมูล ตอนนี้ที่รำแดง เรามีระบบการจัดการเรื่องฐานข้อมูลค่อนข้างจะละเอียด ไม่ว่าในมิติของจำนวนประชากร ในด้านจำนวนรายได้ เราได้ในเชิงพื้นที่ด้วย เราสามารถรู้ได้เลยว่า พื้นที่ไหนทำอะไรอยู่ในขณะนี้ เรื่องที่ 2 คือ เราได้ทำฐานข้อมูล และแหล่งเรียนรู้ เพื่อเผยแพร่ข้อมูล อย่างที่ 3 คือ การสร้างการมีส่วนร่วม โดยเริ่มจากทาง อบต.ได้ทำวารสารปีละ 1 ฉบับ โดยการรวบรวมข้อมูล กิจกรรมในรอบปี มีจดหมายข่าวเดือนละครั้ง มีวิทยุระบบไร้สาย และเรามีเวทีศุกร์สุดท้ายของเดือน โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าชุมชน และประชาชนทั่วไป เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งนี่คือ พลังสำคัญในการจัดการพื้นที่ อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้นคือ ต้องมี 3 ส่วน ข้อมูล แหล่งเรียนรู้ และการสื่อสารกับมวลชน

: นอกจากนี้ นายกฯ อุดม ยังได้นำสื่อโซเชียลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนรำแดงอีกด้วย

นายก อบต.รำแดง : เรื่องการนำสื่อโซเชียลมาใช้กับคนรำแดง ผมพบแล้วว่ามันมีประโยชน์ และมีพลังมาก ซึ่งผมเองเข้ามาเล่น และใช้ประโยชน์กับตัวนี้มาแล้วหลายปี คือการใช้ “เฟซบุ๊ก” โดยใช้ชื่อว่า “อุดม ทักขระ” มีคนรำแดงเข้ามาเป็น “เฟรนด์” เยอะมาก ทั้งหมด 620 ครัวเรือน เข้ามาใช้ตรงนี้ไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังมีเฟซบุ๊กที่ชื่อกลุ่มของคนหนุ่มสาวรำแดง อันนี้เป็นวัยจ๊าบหน่อยโดยใช้ชื่อว่า “รวมก๊วนชวนรักบ้านเกิด ณ บ้านรำแดง” เป็นเฟซบุ๊กของคนหนุ่มสาวในบ้านรำแดง ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกเข้ามาในกลุ่มกว่า 350 คน ซึ่งเป็นคนรำแดงทั้งหมด แต่จะอาศัยอยู่พื้นที่รอบนอกด้วย

โดยเฉพาะคนรำแดงที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ กระจายกันไป 4-5 ปะเทศ ที่เข้ามาคุยกันบ่อยก็มาจากประเทศนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เยอรมนี ญี่ปุ่น เบลเยียม ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ตลอดเวลา นายกฯเอง จึงต้องเปิดใช้เฟซบุ๊กตลอดเวลาเช่นกัน ซึ่งความรู้สึกของคนเหล่านี้คือ อยากเห็นรำแดงในทุกมิติ ตลอดเวลา นายกฯ จึงต้องทำหน้าที่โพสต์ และอัปเดตสเตตัสทุกวัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นในเชิงขอร้องจากคนนอกพื้นที่ว่า “อยากเห็นรำแดงในทุกมิติ” จึงได้โพสต์ความเคลื่อนไหวทุกอย่าง น้องๆ หลานๆ ที่ดูก็จะได้ไปคิด และไปบอกต่อให้แก่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ถึงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต.รำแดง

: ในส่วนนี้อาจจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ แล้วในส่วนของผู้ใหญ่ที่ใช้สื่อโซเชียลไม่เป็น?

นายก อบต.รำแดง : เราให้ความสำคัญในส่วนตรงนี้นะ สำหรับผู้ใหญ่ นอกจากรำแดง จะมีกลุ่มองค์กรค่อนข้างเยอะ มีการประชุมกันบ่อยๆ มีการแลกเปลี่ยนกันโดยสภาพที่กลุ่มเขาต้องมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่แล้ว อย่างที่สองที่ อบต.จัดคือ เวทีวันศุกร์สุดท้ายของเดือน ชื่อที่เป็นทางการคือ “โครงการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ต.รำแดง” แต่ที่เราเรียกติดปากคือ เวทีศุกร์สุดท้ายของเดือน หมายถึงว่า ในทุกๆ วันศุกร์สุดท้าย เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป เราจะเชิญคนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย โดยเฉพาะจะเน้น ผู้นำท้องถิ่น ต้องอยู่ในเวทีนั้นด้วย เป็นเวทีสบายๆ ไม่มีการกำหนดว่าต้องมากี่คน ใครจะมาหรือไม่มา ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าอยากพูดหรืออยากฟังอะไรก็มาเลย ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่รำแดง เป็นที่รู้กันว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือนเราได้คุยกัน นี่เป็นการเก็บ “ตะกอนความคิดของคนทุกกลุ่ม”

อีกส่วนหนึ่งคือ จดหมายข่าวที่ค่อนข้างจะเข้าถึงพี่น้องประชาชนที่เข้าไม่ถึงสื่อออนไลน์ จดหมายข่าวเราก็ทำราคาถูกใช้กระดาษ A4 สองแผ่น แต่พิมพ์เป็นสี เป็นการสรุปข่าวเด่นที่สุดในรอบเดือน หลักๆ ก็เอาข้อมูลจากในเฟซบุ๊ก สรุปเอาข้อมูลที่เด่นๆ ที่เป็นที่สนใจที่สุด ในรอบเดือน แล้วก็นำส่งไปตามบ้าน โดยใช้วิธีส่งที่รับรองถึงบ้านแน่นอน เพราะเรามอบหมายให้เจ้าหน้าที่เก็บค่าน้ำประปา คือ นำบิลประปาไปส่งให้แก่ชาวบ้าน เก็บค่าบริการน้ำประปาจากพี่น้องแต่เราก็เอาข่าวฝากไปด้วย

: ฟีดแบ็กตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างไรบ้าง

นายก อบต.รำแดง : พลังที่ผมอยากเห็นเป็นพลังสำคัญ 1 ใน 3 คือ พลังสำนึกรักบ้านเกิด ที่เห็นตอนนี้คือ รำแดงเรา หลังจากที่เราสร้างการมีส่วนร่วม และเราพยายามสร้างมนุษยสัมพันธ์ใหม่ของรำแดงก็คือ “คนรำแดงต้องมีคุณลักษณะ คือจิตอาสา” เราทำให้คนรำแดง และลูกหลาน พึงพอใจที่เกิดเป็นคนรำแดง อย่างเช่น ทุ่งปอเทือง หรือฐานเรียนรู้ต่างๆ ล้วนแล้วแต่สร้างให้คนรำแดงสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งเห็นผลอย่างมาก

เห็นได้จากปัจจุบันคนที่เพิ่งสร้างบ้านใหม่เพิ่มขึ้นมาเกือบทุกหลัง เขาไม่ได้แพลนไว้ก่อนว่าเกษียณอายุแล้วจะกลับมาอยู่บ้าน ส่วนใหญ่แล้วจะคิดถึงที่อื่น แต่ตอนนี้ย้อนกลับมา มาสร้างที่รำแดง เพราะรำแดง มีลักษณะพิเศษอยู่คือ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีคนภายนอกมาอยู่อาศัยเลย ในลักษณะที่มาซื้อที่ หรือมีสามีภรรยาแล้วมาสร้างบ้านแล้วไปทำงานในเมือง ในลักษณะนี้ไม่มี ที่รำแดงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นคนรำแดงโดยกำเนิด ไม่เป็นเขยก็เป็นสะใภ้ แล้วสอดคล้องต่อนโยบายที่นายก อบต.ได้ประกาศไป และกำลังเป็นที่สนใจในแวดวงสังคมอย่างเข้มข้น คือ เรื่องรณรงค์ไม่ให้คนรำแดงขายที่เด็ดขาด (โดยไม่รู้วัตถุประสงค์การใช้) และพูดหลังไมค์ว่า ถ้าหากจำเป็นต้องขายก็ให้ขายแก่ลูกหลานก่อน แต่ถ้าลูกหลานของท่านไม่ซื้อ ก็มาคุยกับ อบต.ได้ ซึ่งผมก็จะกลับไปดูในแผนพัฒนาอีกที ว่า ที่ดินแปลงนั้นมันตรงจุดกับสิ่งที่เราแพลนไว้ในระยะเวลา 3 ปี เราก็จะซื้อไว้ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ได้ซื้อไว้แล้วทั้งหมด 11 แปลง ทุกที่มีประโยชน์ ที่ผืนสุดท้ายที่ซื้อไว้ประมาณ 16 ไร่ ตอนนี้ทำเป็นฐานเรียนรู้ที่ 7 ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดฐานเรียนรู้ ของ “โหนด นา ไผ่ คน” แล้วเป็นแผนที่เราต้องทำให้เสร็จเพื่อต้อนรับการเปิดเสรีอาเซียน รวมถึงการรณรงค์ไม่ให้ชาวนาขายหน้าดิน

: มีการต่อต้านไม่ให้มีโรงงานเกิดขึ้นในพื้นที่ ต.รำแดง ?

นายก อบต.รำแดง : ส่วนหนึ่งที่เราไม่ให้ขายที่ คือภาพรวมรำแดงไม่มีโรงงาน ไม่มีนากุ้ง และไม่สนับสนุนให้ทำพืชเชิงเดี่ยว แต่อย่างโรงงานคนรำแดงไม่เอาเด็ดขาด ตอนนี้รำแดงประกาศเป็นพื้นที่สีเขียว แต่เราไม่ได้ปลอดพวกมลพิษ เนื่องจากว่า ประตูรำแดงทั้งสองฝั่ง คือ รอยต่อทั้ง 2 ตำบลหัวท้าย มีโรงงานเต็มเลย จึงมีผลกระทบเรื่องกลิ่น เพราะระยะห่างจากโรงงานเพียง 1 กก. และคลองของเราที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ที่เราทำได้ตอนนี้คือ สกัดกั้นไม่ให้เพิ่มเข้ามา และไปศึกษาข้อมูลโรงงานที่อาจจะก่ออันตรายได้

: ดูเหมือนทุกอย่างในรำแดงจะราบรื่น ปัญหาในพื้นที่มีบ้างไหม ?
นายก อบต.รำแดง: ปัญหาในพื้นที่ของเราที่ต้องแก้ ตอนนี้คิดว่าถ้าเราจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม คนรำแดงเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ เราต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม สิ่งที่ติดตามมาคือ อาจจะมีทุนไหลเข้ามาที่คนรำแดงไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น เราต้องเร่งให้ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และหาตลาด เราต้องเพิ่มระบบการให้บริการ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณค่า เรื่องเศรษฐกิจทั่วไปเรายังไม่ดีเท่าที่ควร เราเน้นขายธรรมชาติ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม เราจะทำการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดมาเป็นสินค้าอีกที ก็ไม่ได้รีบเร่งอะไรมากมาย สิ่งที่ต้องเร่งทำอย่างหนักตอนนี้คือ ให้พี่น้องของเราเพิ่มพูนองค์ความรู้ และได้มีโอกาสจากผลประโยชน์ที่ได้รับจากคนภายนอกที่เข้ามา

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงวิถีชีวิตของคนรำแดงในเบื้องต้น จากที่ทีมข่าว “ASTVผู้จัดการ” ได้ลงไปสัมผัสในพื้นที่ ต.รำแดง ยังมีอีกหลายอย่างหลากเรื่องราวที่มีการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง มุ่งเน้นให้ทุกคนมีจิตสำนึกรักบ้านเกิด อย่างเช่น โครงการ “โหนด นา ไผ่ คน” ที่เป็นโครงการใหญ่ครอบคลุมเรื่องราวทั้งหมดของรำแดง และกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำให้เสร็จสมบูรณ์

 
 





 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น