รอยเตอร์ - นักวิเคราะห์เตือนรัฐบาลจีนนิ่งเฉยไม่ได้แล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือนสิงหาคมแดนมังกรบ่งชี้เศรษฐกิจเฉื่อยเนือยชัดเจน โดยคาดกันว่า จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอื่นๆ ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อกระตุ้นการเติบโตไปให้ถึงเป้าหมาย
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน อัตราการเติบโตของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนส.ค. 2557 ของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเติบโตต่ำสุดในรอบเกือบ 6 ปี นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 ที่เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก นอกจากนั้น ยังต่ำกว่าการตั้งเป้าที่ร้อยละ8.8 และถือว่า ชะลอตัวอย่างฉับพลัน หากเทียบกับการเติบโตร้อยละ 9.0 ในเดือนก.ค.
ขณะที่ดัชนีชี้วัดในภาคอื่น ๆ ก็ไม่คึกคัก ทำให้วิตกกันว่าเศรษฐกิจ ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกอาจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอกตัวฉับพลัน โดยอัตราการเติบโตของการค้าปลีก ซึ่งชี้วัดการใช้จ่ายบริโภค ตลอดจนการลงทุน และการนำเข้าล้วนส่งสัญญาณว่า จะแผ่วแรงลงไปอีก เช่นเดียวกับตลาดที่อยู่อาศัย ซึ่งขาดแรงขับเคลื่อน และพลอยฉุดภาค ที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่การซื้อขายปูนซีเมนต์ไปจนถึงเหล็กกล้า ให้อืดอาดตามไป พร้อมกับกัดเซาะความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
นายสีว์ เกา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัทหลักทรัพเอเวอร์ไบรต์ ในกรุงปักกิ่งมองว่า ข้อมูลเดือนส.ค. อาจแสดงถึงการดิ่งกระแทกของเศรษฐกิจจีน โดยขอบเขตการชะลออัตราการเติบในไตรมาส 3 ไม่ใช่น้อย ๆ จึงมีโอกาสมากขึ้น ทีรัฐบาลจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยและข้อกำหนดเกี่ยวกับทุนสำรองธนาคาร โดยส่วนตัวเขาเห็นว่า น่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า
ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประจำปีอาจลงลงเหลือร้อยละ 7 ในไตรมาสที่สาม และเสี่ยงว่า เป้าหมายที่รัฐบาลจีนกำหนดให้อัตราการเติบโตทั้งปีพ.ศ. 2557 อยู่ที่ราวร้อยละ 7.5 จะไม่สำเร็จ หากรัฐบาลยังไม่เข็นมาตรการเชิงรุกออกมามากกว่านี้ โดยผู้เชี่ยวชาญคำนวณว่า การเติบโตของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมต้องอยู่ที่ประมาณร้อยละ 9 จึงจะไปถึงเป้าหมายการเติบโตที่ตั้งไว้ได้ ซึ่งรัฐบาลจีนต้องรีบผ่อนคลายนโยบายการเงินโดยเร็วที่สุด
มีข้อมูลด้วยว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าของจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยลดลงร้อยละ 2.2 ในเดือนส.ค. จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแสดงว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรมลดลง
อย่างไรก็ตาม นายเจียง หยวน นักสถิติอาวุโสของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. ที่ดิ่งลงนี้ก็เนื่องมาจากความต้องการบริโภค ที่ลดลงทั่วโลก โดยเฉพาะจากตลาดเกิดใหม่ และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำให้ความต้องการเหล็กกล้า ปูนซีเมนต์ และยานยนต์น้อยลงตาม
ขณะที่นายกั๋ว ต่งซิ่น นักสถิติประจำที่นี่อีกคนมองในแง่ดีว่า แม้อัตราการเติบโตชะลอลงก็จริงแต่ตัวเลขการจ้างงานกลับเพิ่มขึ้นในช่วง 8 เดือนแรกของปีพ.ศ. 2557 โดยเพิ่มกว่า 100,000 ตำแหน่งจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นเรื่องธรรมดา ที่ดัชนีบางตัวจะแกว่งไปบ้าง
ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนเริ่มอ่อนแรงมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 7.4 ซึ่งเชื่องช้าที่สุดในรอบ 18 เดือน รัฐบาลปักกิ่งจึงรีบออกมาตรการกระตุ้น ซึ่งทำให้ไตรมาส 2 กระเตื้องมาอยู่ที่ร้อยละ 7.5 กระทั่งมาแผ่วลงในเดือนก.ค. และส.ค. ซึ่งแสดงว่า แรงกระตุ้นหมดฤทธิ์ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า รัฐบาลจีนจะเปิดเผยมาตรการเพิ่มเติมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่การผ่อนคลายคงทำในระดับ ที่จำกัด เนื่องจากมาตรการครั้งก่อนได้ส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นมีหนี้สินท่วมสูง และกระตุ้นให้การเก็งกำไรระบาด โดยเฉพาะในตลาดอสังหาริมทรัพย์
นักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การออกมาตรการกระตุ้นอย่างชนิดโผงผางในตอนนี้อาจมีแต่จะทำให้เงินไหลเข้าไปในกระแสการเก็งกำไรและในกิจกรรม นอกภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงได้
ขณะที่นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียงกล่าวในการประชุมด้านธุรกิจในกรุงปักกิ่งเมื่อวันจันทร์ (15 ก.ย.) ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจจีนจะพึ่งการผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อไม่ได้ พร้อมกับให้ความมั่นใจในเวทีการประชุมนักธุรกิจว่า รัฐบาลปักกิ่งจะยังคงออกมาตรการ ซึ่งตั้งเป้าหมายระดับปานกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจีน
ทั้งนี้ เศรษกิจจีนเคย “ดิ่งกระแทก” ("hard landing") ครั้งล่าสุดขณะวิกฤตการโลกย่ำแย่ถึงที่สุด โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจแดนมังกรร่วงลงมาที่ร่อยละ 6.6 เมื่อต้นปีพ.ศ. 2552 แม้ยังไม่ถึงขั้นล่มอย่างที่เริ่มปรากฏราง ๆ กับเศรษฐกิจชาติพัฒนาบางชาติ แต่ก็ทำให้ชาวจีนหลายสิบล้านคนต้องตกงาน และบรรดาผู้นำภายในพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งพยายามรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของชาติพากันนั่งไม่ติดด้วยความร้อนใจกันเลยทีเดียว