xs
xsm
sm
md
lg

บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยเริ่มฟื้นตัว (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์รวยด้วยรัก...รวยด้วยหุ้น …
โดย มนตรี ศรไพศาล

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปร่วมงานประชุมของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ผมได้นำเสนอมุมมองแบบ “คนอ้วน” คือ คนมองโลกในแง่ดี เพราะคนอ้วนมักจะเป็นเช่นนั้น จึงได้รับประทานอะไรก็อร่อย (ฮา)

ผมได้นำเสนอความคิด จุดประกาย “ความสว่าง” เป็นความหวังสำหรับนักลงทุนไทย โดยเสนอในภาพว่า

... Fight the Fear คือ เอาชนะความกลัว (เกินเหตุ) และ

... Cheered by Hope ซึ่งคือ มีกำลังใจกับความหวัง (ที่ถูกมองข้าม)

ผมได้พูดด้วยข้อมูล ดังต่อไปนี้

ความกลัว 1. การส่งออกนับเป็น 70% ถ้าส่งออกย่ำแย่ เศรษฐกิจไทยต้องลำบากแน่ๆ แต่ในความเป็นจริง

... การส่งออกไทยลด 2% จากข้อมูล 4 เดือนแรกจริง แต่เป็นเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สหรัฐอเมริกาส่งออกลด 6% ยุโรปส่งออกลด 16% จีนส่งออกลด 5% สิงคโปร์ลด 2% พอๆ กัน มาเลเซียลด 10%

…ไทยส่งออกลด 2% นำเข้าก็ลด 6% สรุปยังน่าจะเกินดุลการค้าอยู่ด้วย

... ไทยนำเข้าลด หลายๆ ประเทศก็นำเข้าลด สหรัฐอเมริกานำเข้าลด 6% ยุโรปนำเข้าลด 19% ญี่ปุ่นนำเข้าลด 18% จีนนำเข้าลด 19% ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ๆ นำเข้าลดลง ประเทศต่างๆ ก็ย่อมส่งออกลดลงเป็นธรรมดา

... บางคนเข้าใจว่า ส่งออกเป็น 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี : GDP) ถ้าหายไป รายได้คนไทยจะหายไปเกินครึ่งเช่นนั้นหรือไม่? เราต้องเข้าใจก่อนว่า ประเทศไทยเรานั้นผลิตสินค้าส่งออก ซึ่งไม่น้อยมีการนำเข้าสูงเช่นกัน เช่น ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ฯลฯ จริงๆ เราอาจควรดูตัวเลขที่ “ส่งออกสุทธิ” มากกว่า อย่างของสิงคโปร์ การส่งออกคิดเป็นประมาณถึง 200% ของจีดีพี ตัวเลข “ส่งออกสุทธิ” จึงมีความหมายมากกว่า ซึ่งของไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 15-20% ซึ่งก็ไม่น้อย แต่ก็ไม่ถึงกับ 70% อย่างที่กังวลกันครับ

ความกลัว 2 : กรีซเจอวิกฤตหนี้...แล้วพี่ไทยล่ะ? ซึ่งนักลงทุนไทยทั่วไปอาจมีความกลัว แต่ในความเป็นจริงสถานการณ์ไทยดีกว่ากรีซมาก

... ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมี 1.57 แสนล้านเหรียญ (อันดับ 14 ของโลก) กรีซมีเพียง 5.7 พันล้านเหรียญ (อันดับ 86 ของโลก)

... หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยมีเพียง 44.6% แต่กรีซมีสูงถึง 158.3%

… อัตราการว่างงานของไทยต่อเพียง 0.9% แต่กรีซมีอัตราการว่างงานสูงถึง 25.2%

ความกลัว 3 : ตลาดหุ้นจีนลูกโป่งแตกไป...แล้วไทยล่ะ? ซึ่งนักลงทุนไทยทั่วไปอาจมีความกลัวว่าลูกโป่งไทยจะแตก แต่ในความเป็นจริงผมวัดลูกโป่งจากสินเชื่อที่ปล่อยให้ซื้อหุ้น

... ยุคก่อนลูกโป่งแตก 2540 (1997) ตัวเลขสินเชื่อมาร์จิ้นประมาณ 1.2-1.8 แสนล้านบาท ปัจจุบันเพียง 5-6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่เมื่อเทียบกับขนาดตลาดหุ้นยุคนั้นมีขนาดเพียงประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันสูงถึง 14 ล้านล้านบาท ขนาดตลาดหุ้นใหญ่เป็น 4 เท่าของอดีต แต่มาร์จิ้นโลนมีเพียงครึ่งเดียว

... โดยภาพรวม พีอีตลาดยุคก่อนลูกโป่งแตกอาจสูงถึงประมาณ 20 เท่า คิดส่วนกลับเป็นผลตอบแทน 1/20 = 5% (คือ กำไรต่อหุ้น 1 บาท บนเงินลงทุนที่จ่าย 20 บาท คิดเป็น 5%) ทั้งๆ ที่ฝากเงินธนาคารช่วงนั้นอาจได้ดอกเบี้ยถึง 10%

... ปัจจุบัน พีอีตลาด 14 เท่า คือผลตอบแทน 1/14 = 7% ดอกเบี้ยต่ำเพียง 1-2% ฟันธงได้ว่า ไม่มีลูกโป่งแตกรวม

... แต่ถ้าเป็นลูกโป่งรายหุ้น นักลงทุนก็จะดูได้จากปัจจัยพื้นฐานรายหุ้น หุ้นขาดทุน ยอดขายปลอมๆ กำไรต่ำๆ พีอีแพงๆ นักลงทุนก็สามารถที่จะระมัดระวัง และเลือกหุ้นดีๆ ลงทุนแทน

ความกลัว 4 : ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยปลายปีนี้แน่นอน? ผมเองก็เห็นว่า ตั้งแต่ผู้ว่าการธนาคารกลางท่านที่แล้วจนถึงท่านนี้ก็บอกว่า เขาจะขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่ใช่ทำแบบ “หลับหูหลับตา” ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย ซึ่งผมก็ได้สรุปว่าธนาคารกลางคงต้องดูปัจจัยประกอบ ดังนี้

... การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แม้เมื่อมองในสหรัฐอเมริกาเอง เศรษฐกิจฟื้นตัว อัตราว่างงานต่ำกว่า 6.5% ตามเป้าหมายที่วางไว้ตอนมีอัตราว่างงาน 9-10% แต่ถ้าขึ้นดอกเบี้ย ยุโรป จีน ก็คงต้องขึ้นด้วย แล้วเศรษฐกิจภูมิภาคเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร? ยุโรปก็ยังต้องเร่งฟื้นตัว จีนก็เริ่มมีปัญหาการเติบโตชะลอตัว ถ้าขึ้นดอกเบี้ยจะซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกได้

... อัตราเงินเฟ้อก็ไม่เป็นแรงกดดัน นโยบายหนึ่งที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ย คือเพื่อให้มีดอกเบี้ยที่แท้จริงหลังหักอัตราเงินเฟ้อเป็นบวก เมื่อฐานอัตราเงินเฟ้อต่ำมากหรือติดลบ ก็ไม่เป็นแรงกดดันให้ขึ้นดอกเบี้ยแต่อย่างใด

... อัตราแลกเปลี่ยน ดอลลาร์สหรัฐ ก็แข็งมากอยู่แล้ว จากนโยบายต่างๆ ของแต่ละภูมิภาค ทั้งยุโรป จีน ญี่ปุ่น ประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศอาเซียนของเรา หากสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยอีกค่าเงินก็จะยิ่งแข็งมากขึ้น
... และ สุดท้าย อีกประเด็นที่ธนาคารกลางพูดชัด คือ การขึ้นดอกเบี้ยอาจจะทำให้เงินไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้เศรษฐโลกฟื้นตัวยากขึ้น

และในปลายสัปดาห์ การประกาศของ IMF และธนาคารกลางสหรัฐฯ เอง ก็ดูจะเป็นไปในทางเดียวกัน และตลาดหุ้นก็ฟื้นตัวทะลุ 1,400 จุดได้จริง

สัปดาห์หน้า ผมจะนำเสนอต่อส่วนที่ 2 คือ ความหวังอีก 4 ประการครับ

สภาวะตลาดอย่างนี้ ยังน่าจะเป็นโอกาสดีๆ ที่จะเก็บหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีๆ ที่ตกลงมาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาครับ

มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)


กำลังโหลดความคิดเห็น