เอเอฟพ/รอยเตอร์ - ราคาน้ำมันร่วงแรงเมื่อวันพุธ (6 ม.ค.) ด้วยตลาดลอนดอนทรุดลงต่ำกว่า 35 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี จากแรงกดดันของภาวะอุปทานล้นความต้องการ ปัจจัยนี้ประกอบกับข้อมูลจากเฟดฉุดให้วอลล์สตรีทขยับลงต่อเนื่อง สวนทางกับทองคำที่ดีดขึ้นสูงสุดในรอบ 2 เดือน หลังนักลงทุนแสวงหาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 2.00 ดอลลาร์ ปิดที่ 33.97 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำสุดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2008 ช่วงที่เกิดวิกฤตการเงิน
ส่วนเบรนต์ทะเลหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 2.19 ดอลลาร์ ปิดที่ 34.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทรุดลงต่ำกว่า 35 ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี โดยครั้งสุดท้ายที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนต์ขยับลงต่ำเช่นนี้ เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2004
ตลาดน้ำมันที่ตกอยู่ท่ามกลางความกังวลอุปทานเกินความต้องการอยู่ก่อนแล้ว ถูกซ้ำเติมจากรายงานของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ที่เผยแพร่ในวันพุธ (6 ม.ค.) ซึ่งพบว่าคลังน้ำมันเบนซินสำรองของประเทศในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มกราคม เพิ่มขึ้นถึง 10.6 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นมากสุดนับตั้งแต่ปี 1993 ส่วนสต๊อกน้ำมันกลั่นที่ประกอบด้วยดีเซล และน้ำมันทำความร้อน เพิ่มขึ้น 6.3 ล้านบาร์เรล ส่งสัญญาณว่าภาวะอุปทานล้นตลาดอาจยืดเยื้อกว่าที่คาด
ความกังวลดังกล่าวมีขึ้นแม้ว่าในขณะเดียวกันคลังน้ำมันดิบสำรองของประเทศในสัปดาห์เดีนยวกัน ลดลงถึง 5.1 ล้านบาร์เรล เหลือ 482.3 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดหมายเอาไว้
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันพุธ (6 ม.ค.) ทรุดลงหนักในช่วงท้ายของการซื้อขาย จากแรงฉุดของหุ้นกลุ่มพลังงานและรายงานการประชุมเฟด (minutes) ที่เพิ่มเติมความกังวลแก่นักลงทุนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ
ดาวโจนส์ ลดลง 252.15 จุด (1.47 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 16.906.51 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 26.45 จุด (1.31 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,990.26 จุด แนสแดค ลดลง 55.67 จุด (1.14 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,835.76 จุด
วอลล์สตรีทเริ่มต้นปีด้วยความหวาดผวามาตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ (4 ม.ค.) จากข้อมูลที่อ่อนแอของจีนที่ฉุดให้ตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดลง และในวันพุธ (6 ม.ค.) ความกังวลของนักลงทุนยังถูกซ้ำเติมจากถ้อยแถลงของเกาหลีเหนือที่อ้างว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบระเบิดไฮโดรเจน
นอกจากนี้ยังมีความวิตกต่อรายงาน (Minutes) การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เผยให้เห็นว่าเหล่าคณะกรรมการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเมื่อเดือนที่แล้ว หลังเกือบทั้งหมดเชื่อมั่นว่าตัวเลขเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้น ทว่าบางส่วนส่งเสียงกังวลว่าอัตราเงินเฟ้ออาจติดหล่มอยู่ในระดับต่ำที่เป็นอันตรายต่อไป
ในวันพุธ (6 ม.ค.) เวิลด์แบงก์ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2016 ลงจากการคาดคะเนก่อนหนานี้ โดยอ้างถึงการเติบโตที่น่าผิดหวังในตลาดเกิดใหม่หลักๆ อย่างเช่นจีน และบราซิล
โดยในรายงานฉบับล่าสุด เวิลด์แบงก์ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2016 ลงอีกถึงร้อยละ 0.4 เหลือเพียง 2.9 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะยังคงขยายตัวมากกว่าในปี 2015 ซึ่งตะเกียกตะกายอยู่ที่ราวๆ 2.4 เปอร์เซ็นต์
ปัจจัยความกังวลทั้งราคาน้ำมัน เศรษฐกิจโลกและด้านภูมิรัฐศาสตร์เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน กระตุ้นให้นักลงทุนแห่ถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ดันราคาทองคำในวันพุธ (6 ม.ค.) ปิดบวกแรง โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์เพิ่มขึ้น 13.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,091.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สูงสุดในรอบ 2 เดือน