xs
xsm
sm
md
lg

พระราชดำรัส : ปัญหาโลกร้อน “เราจึงต้องมีความรับผิดชอบในโลกมากขึ้น”

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

“...พูดอย่างนี้ท่านทั้งหลายก็งง วันนี้มีแต่งง เพราะวันนี้ไปถึงสิ่งแวดล้อมขั้นโลก แต่ก่อนนี้เคยพูดถึงสิ่งแวดล้อมขั้นประเทศ เดี๋ยวนี้ถึงขั้นโลก ก็เป็นความรับผิดชอบที่เรามี ความจริงต้องพูดถึงขั้นโลกเพราะประเทศไทยนี้ก็เติบโตขึ้นมา จะมีหน้ามีตาในโลกว่าเป็นประเทศที่มั่นคง เป็นประเทศที่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เราจึงต้องมีความรับผิดชอบในโลกมากขึ้น ทั้งนี้ก็เชื่อว่า เป็นความดีของประเทศไทย...”

ข้อความดังกล่าวคือส่วนหนึ่งในตอนท้ายๆ ของพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2532 หรือเมื่อ 27 ปีมาแล้ว

เราคงจำกันได้ว่า เมื่อปลายปี 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุมเวทีโลกที่ชื่อว่า “COP21 ปารีส-2558” ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ประจำปีครั้งที่ 21 ที่จัดโดยองค์การสหประชาชาติ นั่นหมายความว่าในหลวงได้มีพระราชดำรัสเรื่องปัญหาโลกร้อนตั้งแต่ก่อนที่จะมีการประชุม “COP1 เบอร์ลิน-2538” (ประเด็นหลักของการประชุมว่าด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโลกร้อน) ถึง 6 ปีก่อนพิธีสารเกียวโตว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (COP3-เกียวโต-2540) ที่คนไทยพอจะคุ้นหูเสียอีก นับว่าพระองค์มีสายพระเนตรอันยาวไกลต่อปัญหาของมนุษยชาติ

ในพระราชดำรัสดังกล่าว นอกจากทรงทักทายตามปกติแล้ว พระองค์ทรงเริ่มต้นปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก แล้วตามด้วยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยยกเอาเรื่องใกล้ตัวของคนไทยคือเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ จากนั้นก็ตามด้วยสาเหตุพร้อมด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างละเอียดและซับซ้อนถึงที่มาที่ไปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหา ความตอนหนึ่งว่า

“เพราะมีสารคาร์บอนขึ้นไปในอากาศมาก จะทำให้เหมือนเป็นตู้กระจกครอบ แล้วโลกนี้ก็จะร้อนขึ้น เมื่อโลกนี้ร้อนขึ้นมีหวังว่าน้ำแข็งจะละลายลงทะเล และรวมทั้งน้ำในทะเลนั้นจะพองขึ้น เพราะสิ่งของที่ร้อนขึ้นย่อมมีการพองขึ้น ปริมาตรก็มากขึ้น เมื่อน้ำพองขึ้นก็จะทำให้ที่ที่ต่ำ เช่น กรุงเทพฯ ถูกน้ำทะเลท่วม อันนี้ก็เป็นเรื่องเขาว่า ก็เลยสนใจว่าเรื่องเป็นอย่างไร จึงได้ข้อมูลว่าสิ่งที่ทำให้คาร์บอน (ในรูปคาร์บอนไดออกไซด์) ในอากาศเพิ่มมากขึ้นนั้น มาจากการเผาเชื้อเพลิงซึ่งอยู่ในดินและจากการเผาไม้ ซึ่งตามตัวเลขจำนวนคาร์บอนในอากาศนี้... ไม่ทราบว่าท่านจะจดจำได้หรือไม่”

“นี่ก็เป็นตัวเลข ท่านทั้งหลายฟังแล้วก็คงปวดหัว แต่คงหาผู้ที่จะเขียนตัวเลขเหล่านี้ให้ได้ ก็เป็นอันว่าปัญหามันมีจริง ว่าเราจะประสบความเดือดร้อน”


เนื่องจากพระราชดำรัสดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 27 ปีมาแล้ว ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ภาพข้างล่างนี้เป็นค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2548-2557 ซึ่งมีบางองค์กรได้จัดทำให้ดูเข้าใจง่ายขึ้น (หมายเหตุ ความจริงพระราชดำรัสมีรายละเอียดในกลไกของธรรมชาติมากกว่านี้อีก)

โดยสรุปก็คือว่า แหล่งที่มาของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มี 2 ส่วน คือ (1) จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล (ซึ่งพระองค์เรียกว่า “เชื้อเพลิงที่อยู่ใต้ดิน”) และ (2) จากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งมีประมาณ 10% ของส่วนแรก

สำหรับแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (หมายเหตุ ก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 73% ที่เหลือเป็นก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์) ก็มี 2 แหล่ง คือ (1) ต้นไม้และพืชบนบก และ (2) พืชในมหาสมุทร

เมื่อนำทั้ง 4 แหล่งมาคิดรวมกันทางคณิตศาสตร์ ก็พบว่า มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นถึง 16,000 ล้านตันต่อปี คิดเป็นประมาณ 0.1% ของปริมาณที่ได้สะสมอยู่ในปัจจุบันนับตั้งแต่ปี 1781 ที่มนุษย์เริ่มใช้เครื่องจักรไอน้ำทำงาน ขอย้ำนะครับว่าข้อมูลนี้เป็นค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีสุดท้ายซึ่งผมค้นคว้ามาเสริมจากแหล่งอ้างอิงในรูป

โปรดสังเกตว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นกิจกรรมของมนุษย์นั้น มีประมาณ 3 เท่าของความสามารถที่พืชบนบกจะดูดซับได้ ดังนั้น ถ้าเราจะลดปริมาณก๊าซที่เป็นปัญหานี้ เราจะต้องมีต้นไม้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า คำถามคือแล้วมนุษย์มีปัญญาจะทำได้ไหม? เพราะพื้นดินของโลกมีจำกัด ต่อให้ลดปัจจัยการเผาป่าลงมาเป็นศูนย์ ก็ยังมีผลแค่ 10% ของปริมาณการปล่อยด้วยการใช้พลังงานเท่านั้นเอง

เพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์ของปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น ผมได้นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 2 ข้อมูล คือ (1) ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละปี ซึ่งประมาณว่านับตั้งแต่พระองค์มีพระราชดำรัสจนถึงปัจจุบัน ปริมาณการปล่อยได้เพิ่มขึ้นถึง 63% และ (2) ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้น 13% นอกจากนี้ยังพบว่า ในเดือนกันยายน 2559 ความเข้มข้นดังกล่าวได้สูงถึง 401 พีพีเอ็มแล้ว ทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนว่าไม่ควรเกิน 350 พีพีเอ็ม ตั้งแต่ปี 1990

ก่อนที่เราจะได้ศึกษาถึงคำสอนของพระองค์ที่ว่าให้คนไทย “ต้องมีความรับผิดชอบในโลกมากขึ้น” เรามาดูความหนักหนาสาหัสของปัญหาโลกร้อนหลังจากการประชุม COP21-ปารีส กันก่อนครับ

ทั้งๆ ที่ได้มีการรณรงค์กันอย่างหนักของภาคประชาสังคมทั่วทุกมุมโลกมานานพอสมควร จนผู้นำประเทศต่างๆ ต้องลงนามในสัตยาบรรณว่าจะลดการปล่อยก๊าซ แต่จำนวนที่จะลดรวมกันแล้วก็ยังไม่เพียงพอที่จะรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม) คือ อุณหภูมิของอากาศในปี 2100 หรืออีก 84 ปีข้างหน้าจะอยู่ระหว่าง 1.7-3.2 องศาเซลเซียส และความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์จะสูงถึง 500 พีพีเอ็ม นี่ลดแล้วนะครับ

แปลความว่า หากทุกประเทศไม่มีการเบี้ยวความรับผิดชอบตามที่ได้ตกลงกันแล้วเลย ก็ยังไม่เพียงพอที่สภาพภูมิอากาศจะกลับมาสู่ระดับที่ปลอดภัย คือไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งขณะนี้ (ปี 2015) ก็ได้เกินมาประมาณ 1 องศาเซลเซียสแล้ว

หลายท่านอาจจะสงสัยว่า เมื่อวันนั้นมาถึง (คือวันที่ความเข้มข้นของก๊าซ 500 พีพีเอ็ม) จริงอะไรจะเกิดขึ้น องค์กร Global Carbon Project ได้มีผลการพยากรณ์ไว้แล้ว พอสรุปได้ดังนี้ครับ (http://globalcarbonatlas.org/?q=en/outreach)

เกี่ยวกับบรรยากาศ

พื้นที่น้ำท่วมจะเพิ่มขึ้นประมาณ7 เท่า คลื่นความร้อนจะรุนแรงและนานขึ้น พื้นที่ชื้นจะมีฝนตกมากขึ้น ที่ที่แล้งอยู่แล้วจะแล้งมากขึ้น

พื้นที่บนบก

ประสิทธิภาพการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของพืชจะลดลง พืชหลายชนิดจะย้ายถิ่นไม่ทันและจะสูญพันธุ์ พื้นที่ที่เป็นน้ำแข็งจะหายไปไม่น้อยกว่า 50% ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนจะมากขึ้น ผลผลิตข้าวสาลี ข้าวจะลดลง

ในมหาสมุทร

น้ำแข็งในเดือนกันยายนจะลดลงจากเดิมมากกว่า 60% ปะการังส่วนใหญ่จะตาย บริเวณตอนเหนือจะจับปลาได้เพิ่มขึ้น 30-70% แต่บริเวณเขตร้อนจะลดลง 40-60% ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 0.3 ถึง 0.6 เมตร

ยังมีผลกระทบอีกเยอะครับ แต่โมเดลไม่ได้นำไปคิด ที่ผมชอบอ้างถึงบ่อยๆ ก็คือ “โลกร้อน คนไม่ชอบ แต่ยุงชอบ” ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคระบาดที่น่ากลัวมาก เช่น โรคไข้เลือดออก และโรคซิก้าที่ประเทศไทยเราได้พบแล้วอย่างน้อย 1 ราย

กลับมาที่พระราชดำรัสซึ่งมีความยาว 6 หน้า ในหน้าที่ 4 ซึ่งเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า พระองค์ตรัสว่า

“มีผู้เสนอให้ไปซื้อถ่านหินจากออสเตรเลีย มาสร้างโรงไฟฟ้าใช้ไอน้ำ คือใช้ถ่านหินมาเผาเพื่อที่จะทำความร้อนและขับเทอร์ไบน์ให้เป็นไฟฟ้า คำนวณดู ที่เราจะต้องซื้อถ่านหินจากประเทศออสเตรเลียมา ก็เสียเงินทองเท่าไหร่ มาเผาแล้วจะออกมาเป็นคาร์บอน เวลามาเผาสำหรับหมุนกังหันจะต้องเกิดคาร์บอนขึ้นไปเท่าไหร่ เปรียบเทียบกับที่จะเสียพลังการกำจัดคาร์บอนจากต้นไม้สัก 3-4 ต้น นั้นน่ะ มันคุ้มหรือเปล่า ถ้าทำไฟฟ้าด้วยพลังน้ำที่ไม่ต้องตัดต้นไม้ เพียงแต่ตัดต้นหญ้าก็คงไม่เสียหาย”

“พูดอย่างนี้ก็อาจฉงนว่าจะทำที่ไหน ไปคิดเอาเอง ว่าที่ไหนทำได้ มันมีที่ที่จะทำได้ รวมทั้งน้ำที่จะกักเอาไว้ปล่อยออกมาทำไฟฟ้า และปล่อยออกมาทำการเพาะปลูกในที่ที่อย่างน้อย 200,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันนี้รกร้างว่างเปล่า เพราะว่าไม่มีน้ำ...”


แม้ว่าพระองค์ไม่ได้สรุปแบบฟันธง แต่ความใน 2 ย่อหน้าที่อยู่ติดกันนี้ มีความชัดเจนมาก ยิ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับโครงการอื่นๆ เช่น ไบโอดีเซลเพื่อการพึ่งตนเองที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พลังงานแสงอาทิตย์ในสวนจิตรลดา กังหันลมในโครงการพระดาบส เป็นต้น รวมทั้งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้วยิ่งแจ่มแจ้งใหญ่เลย

ในตอนท้ายของพระราชดำรัส พระองค์ได้ทรงสอนให้คนไทยมีความรับผิดชอบต่อโลกให้มากขึ้น และสอนให้คนไทยรักษาความดี ดังที่ผมได้อัญเชิญมาอยู่ส่วนแรกของบทความนี้

พระราชดำรัสในครั้งนี้ได้ยกระดับจิตสำนึกของคนไทยให้กว้าง และสูงส่งมากขึ้นไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อมไปทั่วประเทศ ได้เกิดกลุ่มกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วประเทศ ทั้งในหมู่นักศึกษา ชาวบ้าน และประชาสังคม กล่าวเฉพาะในจังหวัดสงขลาก็ได้เกิด “กลุ่มโลกสดใสในบ้านเกิด” กลุ่มรักบ้านเกิด รวมถึง “ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา” ที่ริเริ่มโดยกลุ่มพระสงฆ์และมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องถึง 8 ปี

ในส่วนของรัฐบาลในอีก 2 ปีต่อมาคือปี 2534 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย”อย่างเป็นทางการนับว่าพระราชดำรัสดังกล่าวของพระองค์ ได้ส่งผลสะเทือนในวงกว้างและเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างมาก

คราวนี้มาดูเรื่องความรับผิดชอบต่อโลกของประเทศไทยเราบ้าง ดังที่บทความนี้ได้กล่าวมาตั้งแต่ตอนต้นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ร่วมลงสัตยาบรรณ เพื่อจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2030 แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไปซื้อเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย พร้อมกันนี้มีโครงการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยอีก 7,400 เมกะวัตต์

นี่ถ้าคิดด้วยสามัญสำนึกก็ไม่น่าจะเป็นความรับผิดชอบต่อโลกตามคำสอนของพ่อแล้วนะครับ ได้โอกาสเหมาะๆ ผมจะเอาข้อมูลจริงมาคิดให้เป็นระบบเพื่อจะได้ทราบว่ารัฐบาลมีความความรับผิดชอบต่อโลกจริงหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น