xs
xsm
sm
md
lg

“หลักคำสอนของแม่” กับการปฏิรูปพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ผมรู้สึกดีใจมากที่ประเด็นพลังงานซึ่งภาคประชาชนได้เคลื่อนไหวในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาได้รับการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้เป็น 1 ใน 11 ประเด็นที่ต้องมีการปฏิรูปกันเป็นการด่วน

คำถามแรกที่สำคัญมากก็คือ เราจะใช้หลักการอะไรในการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานไปสู่สิ่งที่ประชาชนไทยต้องการในครั้งนี้ ส่วนจะเอาใครมาร่วมทำการปฏิรูปและด้วยกระบวนการใดนั้น มีความสำคัญในอันดับรองลงมาหลักคิดที่ถูกต้องต้องมาก่อนการกระทำ

ต้องยอมรับความจริงว่า มีคนจำนวนมากอยากเห็นผลของการปฏิรูปโดยไม่สนใจทั้งหลักการและกระบวนการ ถึงขนาดต้องการให้ราคาน้ำมันต้องลดลงมาไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อลิตร และคนจำนวนมากต้องการให้รัฐบาลเอาบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลับมาเป็นของรัฐ (หมายเหตุ ข่าวโทรทัศน์รายงานว่า รัฐบาลมาเลเซียกำลังจะซื้อหุ้นทั้งหมดของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ซึ่งตก 2 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน จากนั้นก็จะถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์แต่คนไทยเราถูกให้ข้อมูลเสมอมาว่า แนวคิดเช่นนี้ “ใช้ไม่ได้”)

หลักการที่ผมจะเสนอต่อไปนี้เป็นหลักการเดียวกันกับที่ประเทศเยอรมนีใช้จนได้ประสบผลสำเร็จมากที่สุดในโลกเรื่องพลังงานมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้า

คนไทยที่เป็นคอฟุตบอลโลกทราบดีว่า เยอรมนีวางแผนมา 10 ปีกว่าจนได้เป็นแชมป์โลกในคราวนี้ เขาวางแผนเลี้ยงต้อยตั้งแต่ผู้เล่นยังเป็นเยาวชนจนเป็นทีมชาติและเป็นแชมป์โลกในที่สุดแต่ในเรื่องพลังงานนั้นเขาได้วางแผนมานานกว่านั้นอีกตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้วแต่คนไทยเราไม่ค่อยจะรู้กัน รู้ดีมากแต่เรื่องฟุตบอลเพราะไม่มีพ่อค้ามากีดกันการรับรู้

หลักการที่ว่าคือ “คุณค่าหลัก 2 ประการของมนุษย์ (Two Main Values of the People)” คือ (1) มนุษย์ต้องมีเสรีภาพส่วนบุคคล มีความเป็นอิสระ และ (2) มีความรับผิดชอบต่อสังคมและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

เนื่องในเทศกาลวันแม่แห่งชาติ ผมจำได้ว่าแม่ผมก็สอนพี่น้องของผมในลักษณะอย่างนี้ และผมก็เชื่อว่าแม่ส่วนใหญ่ในประเทศนี้ก็เช่นเดียวกันแต่คำพูดอาจจะไม่ชัดเจนเท่ากับหลักการนี้ เช่น ตอนเด็กๆ ก็สอนว่า “อย่าทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน” พอโตขึ้นมาก็สอนว่า “ไว้ผมแค่พอเกล้า กินเหล้าแค่พองาม (อย่าให้เหล้ากินคน-คงกระแทกไปถึงพ่อด้วยมั่ง)” เป็นต้น

ผมเข้าใจว่า คุณค่าหลัก 2 ประการของมนุษย์ดังกล่าวนี้เป็นหลักการทั่วไปของความเป็นมนุษย์ทั่วโลกเป็นหลักสิทธิมนุษยชนข้อแรกขององค์การสหประชาชาติที่ใช้กันทั่วโลก (ที่ว่า “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรมและควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ” ) และหากพิจารณากันให้ลึกซึ้งแล้ว สามารถถือได้ว่าเป็นหลักการที่ทำให้มนุษย์กับสัตว์อื่นมีความแตกต่างกัน ผมอยากเรียกหลักการนี้ว่า “หลักคำสอนของแม่” เป็นคำสอนจากเลือดเนื้อและหัวใจของผู้เป็นแม่ที่รักสันติภาพทุกคน

กล่าวให้แคบเข้ามาหน่อย ถ้าเราจะปฏิรูปพลังงานกันจริงๆ แล้ว ก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า มีแหล่งพลังงานใดบ้างที่เมื่อนำมาใช้แล้ว หลักการสำคัญ 2 ประการของมนุษย์หรือ “หลักคำสอนของแม่” จะไม่ถูกลบล้างหรือละเมิด

เท่าที่ปรากฏในสื่อทั้งกระแสหลักและสังคมออนไลน์ได้ให้ความสนใจไปกับเรื่องราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ การปล้นทรัพยากรปิโตรเลียมของบริษัทต่างชาติที่มีนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงมาก ในขณะบริษัท ปตท. จำกัด มีกำไรปีละหลายแสนล้านบาท บริษัทผู้ได้รับสัมปทานก็มีกำไรสุทธิปีล่าสุดถึง 117% ของเงินลงทุน ประเทศชาติผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรกลับได้รับประโยชน์เพียงน้อยนิดในขณะที่ข้าราชการระดับสูงได้รับเบี้ยประชุมและโบนัสปีละกว่าสิบเท่าของเงินเดือนราชการทั้งปี

คำถามต่อมา สมมติว่า (สมมตินะครับสมมติ!) เราสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ทั้งหมด แล้ว “หลักคำสอนของแม่” จะได้รับการเคารพไหม?

คำตอบคือไม่ครับ เพราะ

หลักการข้อแรก ผู้บริโภคยังไม่มีความเป็นอิสระยังคงถูก “ล่ามโซ่” ไว้กับแหล่งพลังงานที่พ่อค้าสามารถผูกขาดได้เท่านั้น นั่นคือ แหล่งพลังงานฟอสซิล ยังไม่มีเสรีภาพส่วนบุคคลที่จะเลือกใช้แหล่งพลังงานชนิดอื่นได้

หลักการข้อที่สอง การไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม เรื่องนี้หากพิจารณาอย่างผิวเผินแล้ว การใช้พลังงานของเราก็ไม่น่าจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนอยู่แล้ว เพราะเราซื้อมา ไม่ได้ขโมยมา แต่เมื่อพิจารณาอย่างเชื่อมโยงที่เป็นระบบแล้ว นักวิทยาศาสตร์และองค์กรที่มีชื่อเสียงของโลกจำนวนมากต่างสรุปตรงกันว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นความแห้งแล้ง ความร้อน-หนาวจัดรุนแรงอย่างผิดปกติ การเกิดพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว รวมทั้งการระบาดของโรคบางชนิด ล้วนมีสาเหตุมาจากสิ่งที่เรียกรวมๆ ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)” ทั้งนั้น

และสาเหตุสำคัญของเจ้าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้มาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดการเผาเชื้อเพลิงหรือพลังงานฟอสซิล ครับ

ดังนั้น ต่อให้เรามีน้ำมันจำนวนมากและราคาถูกราวกับน้ำทะเล เราก็ถือได้ว่าเป็นผู้ละเมิดต่อ “หลักคำสอนของแม่” ที่เราทั้งรักและเคารพอยู่ดี เพราะสิ่งที่ตามมาคือผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ที่บอบบางของโลก นั่นคือการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน นั่นคือการไม่รับผิดชอบต่อสังคม

ไหนๆ ก็ได้พูดถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติกันแล้ว ผมขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อจะได้เห็นความสำคัญกัน แล้วหันมาให้ความสนใจกับ “การไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและรับผิดชอบต่อสังคม” กันอย่างจริงจังมากขึ้น

กราฟข้างล่างนี้แสดงการเปรียบเทียบจำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในช่วง ค.ศ. 1900 ถึงค.ศ. 2012 (หรือระหว่าง พ.ศ. 2443 ถึงพ.ศ. 2555) ซึ่งอยู่ในรายงานการพัฒนามนุษย์ประจำปี 2014ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)

จากกราฟพบว่า ในช่วง 9 ปีแรก (หรือประมาณ 100 ปีเศษมาแล้ว) จำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติมีเพียง 82 ครั้ง แต่ในช่วง 9 ปีหลังสุดจำนวนครั้งได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 4,000 ครั้ง โดยที่ภัยพิบัติได้ถูกจำแนกออกเป็น 5 ประเภทคือ สภาพภูมิอากาศ พายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และโรคระบาดทางชีวภาพ

หากจำแนกจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นรายทวีป พบว่าในปี 2013 จำนวนผู้เสียชีวิตร้อยละ 88 อยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63 ของคิดค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2003 ถึง 2012

ที่กล่าวมาแล้วเป็นภัยพิบัติในระดับสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นเรื่องของระบบนิเวศน์ในระดับโลกแต่ยังไม่ได้กล่าวถึงผลกระทบในระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมในภาคอีสาน การเจาะน้ำมันใกล้ชายฝั่งในภาคใต้ และผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่แม่เมาะและโรงใหม่ๆ ในหลายจังหวัดของภาคใต้

กล่าวอย่างสรุปเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เราพบว่าในช่วงหลังๆ เกิดบ่อยกว่าช่วงแรกๆ นั้น จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้บริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษได้พยากรณ์ว่า ในอีกประมาณ 40 ปี หากไม่มีการแก้ไขใดๆ มูลค่าความเสียจากภัยพิบัติทางธรรมชาติจะสูงกว่ารายได้ทั้งปีของคนทั้งโลกรวมกัน น่ากลัว!

กลับมาที่ “หลักคำสอนของแม่” อีกครั้งครับ

เนื่องจากมนุษย์ยุคใหม่ต้องการใช้พลังงาน ดังนั้นจึงได้เกิดวาทกรรมขึ้นมาครอบความคิดของคนให้จนตรอกและยอมจำนนต่อนโยบายพลังงานของพวกพ่อค้า ว่า “การพัฒนาต้องได้อย่างเสียอย่าง จึงจำเป็นต้องมีผู้เสียสละ”

วาทกรรมดังกล่าวไม่เป็นความจริงครับ แท้ที่จริงแล้วเรายังมีแหล่งพลังงานอื่นที่มีผลกระทบน้อยมากคือพลังงานหมุนเวียน เป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด ซึ่งประเทศเยอรมนีได้แสดงให้ชาวโลกประจักษ์มาแล้วว่าเขาคือแชมป์โลกในเรื่องนี้

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีได้ตั้งเป้าหมายใหม่ว่าในปี 2025 จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 40-45% ของไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด (ประเทศเยอรมนีใช้ไฟฟ้าประมาณมากกว่า4 เท่าของประเทศไทย) ในวันนี้เขาทำได้แล้วถึง 30% และในปี 2035 และปี 2050 จะเพิ่มเป็น 55-60% และ 80% ตามลำดับ ถึงวันนั้นท่านผู้อ่านหลายคนยังมีชีวิตอยู่ คงจะได้เห็นกัน (ไม่ต้องเขียนไปเล่าให้ผมฟังหรอกครับ!)

ในปี 2556 ประเทศเยอรมนีผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดเพียงอย่างเดียวได้ถึง 29,300 ล้านหน่วยซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าไฟฟ้าที่คนไทยใน 20 จังหวัดภาคอีสานและ 14 จังหวัดภาคใต้ใช้รวมกัน ทั้งๆ ที่ความเข้มของพลังงานแสงอาทิตย์ต่อตารางเมตรมีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทยเท่านั้น

ในปี 2556 การจ้างงานในภาคการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของเยอรมนีสูงถึง 5.6 หมื่นคน ผมได้ยินว่าทาง คสช.ประกาศว่าได้อนุมัติให้มีการส่งเสริมการลงทุนไปนับแสนล้านบาท ผมว่าหากไม่มีการกีดกันเชิงนโยบายอย่างที่เป็นอยู่ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีบ้านสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาได้อย่างไม่จำกัดโควตา ผมคาดว่าจะมีเงินลงทุนและการจ้างงานมากกว่าการลงทุนที่ คสช.เสนอเยอะเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มผู้เกษียณอายุที่เงินเดือนไม่ได้เพิ่มขึ้นมาหลายปีแล้วเงินเก็บเพียงเล็กน้อยก็แทบไม่ได้ดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ

ยังมีมายาคติเกี่ยวกับพลังงานแสงแดดอีก 2 ประเด็นครับ คือ (1) ต้นทุนสูง และ (2) เวลากลางคืนหรือฝนตกติดต่อกันหลายวันจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้ ซึ่งทางวิศวกรรมเรียกว่า Base load ผมจะขอกล่าวถึงพร้อมกับแสดงหลักฐานอย่างย่อๆ ดังต่อไปนี้

ประเด็นเรื่องต้นทุน

จากการศึกษาของ “สถาบันเพื่อความเชื่อมั่นในตนเองของท้องถิ่น (Institute for Local Self-Reliance)” ในบทความเรื่อง “อิสรภาพและแสงแดดสำหรับทุกคน (With Liberty and Solar for All)” เมื่อ 1 สิงหาคม 2557 โดยนำข้อมูลค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับผู้อยู่อาศัยใน 12 รัฐในบริเวณตะวันตกตอนกลางของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมีพลังงานแสงแดดน้อยกว่ารัฐอื่นและน้อยกว่าไทย) และมีค่าไฟฟ้าถูกกว่ารัฐอื่นๆ พบว่า

ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ค่าไฟฟ้าในบ้านเพิ่มขึ้นปีละ 4.7% แต่ในกรณีที่ไม่ได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์จากรัฐบาลเลย ในปี 2562 ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์จะมีราคาถูกกว่าราคาไฟฟ้าที่บริษัทขายให้กับผู้อยู่อาศัย ดังแสดงในกราฟ

ด้วยเหตุดังกล่าว การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐอเมริกากำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมามีการติดตั้งมากกว่าที่เคยติดตั้งมาแล้วทั้งหมดในช่วง 35 ปีรวมกัน

ประเด็น Base Load

ประเด็นที่ถูกนำมาอ้างคือถ้าฝนตกหลายวันจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้ หรือจะเอาเชื้อเพลิงที่ไหนมาผลิตไฟฟ้าฐาน คำว่าไฟฟ้าที่เป็น Base Load หมายถึงไฟฟ้าที่ใช้ในช่วงตอนดึกๆ ซึ่งมีคนใช้น้อยและมีระดับต่ำสุดของวัน ผมจะไม่ขออธิบายมากในเวลานี้ เพียงแต่จะบอกว่า ได้มีการผลิตและใช้ได้แล้วตั้งแต่กลางปี 2554 ที่ประเทศสเปน(ซึ่งมีแดดน้อยกว่าไทย) เป็นครั้งแรกของโลก

หลักการผลิตก็ง่ายมากคือใช้กระจกธรรมดาที่เราใช้ส่องหน้าจำนวนนับแสนแผ่นเพื่อรับแสงแดดแล้วส่องไปรวมกันที่จุดเดียวที่หอสูงเพื่อต้มน้ำ แล้วเอาไอน้ำไปหมุนกังหันโดยปกติถ้าอุณหภูมิแค่นี้น้ำจะไม่เดือด แต่เมื่อเติมเกลือบางตัวลงไป (เรียกว่า Potassium Nitrate และ Sodium Nitrate) จะส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำสูงถึง 550 องศาเซลเซียส และสามารถเก็บความร้อนไว้ได้ตลอด 24 ชั่วโมงนานถึง 7 วัน ความร้อนของน้ำดังกล่าวจึงทำหน้าที่คล้ายเป็น “แบตเตอรี่” เก็บพลังงาน จึงเป็นที่มาของ (24/7) Solar Power Plant ดังในภาพ

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าชนิดนี้มีต้นทุนประมาณ 4 เท่าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงอีกเลย รวมทั้งไม่ปล่อยควันพิษ ไม่ปล่อยน้ำเสีย ไม่ไปทำความเดือดร้อนตามหลักคำสอนของแม่

นักวิเคราะห์ให้ข้อคิดว่า เดิมทีเดียวคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือก็มีราคาแพงมาก แต่ในปัจจุบันราคาถูกลงจนแทบจะหาคนที่ไม่ใช้ไม่เจอ โรงไฟฟ้าใหม่ชนิดนี้ก็ทำนองเดียวกันครับ ปัจจุบันที่เมืองไทยก็กำลังก่อสร้างอยู่ 2 โรง

ผมอยากจะสรุปบทความนี้ว่า เราต้องยึด “หลักคำสอนของแม่” เป็นหลักการสำคัญในการปฏิรูปพลังงานในครั้งนี้ และหนทางเดียวที่จะเป็นไปได้ก็คือการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพลังงานแสงแดดซึ่งเรามีเยอะมากแทบจะไม่เป็นสองรองใครในโลก (ร่วมกับการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ-ซึ่งยังไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ แต่แม่ผมสอนมากในเรื่องนี้บ่อยมาก รวมทั้งการรองรับน้ำฝนบนหลังคาแล้วนำมาเก็บไว้ใช้ในบ่อเก็บใต้ระเบียงบ้าน)

อุปสรรคประการเดียวที่เรามีอยู่ก็คือการต่อต้านทุกวิถีทางจากผู้สูญเสียผลประโยชน์และลูกสมุนผู้รับจ้างกลุ่มทุน

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “คนโง่สามารถทำปัญหาให้ใหญ่ขึ้น ซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น มันต้องใช้ความอัจฉริยะเพียงเล็กน้อยและความกล้าหาญเป็นจำนวนมาก เพื่อทำให้ปัญหานั้นเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม (คือ เล็กลง ง่ายกว่าเดิมและไม่รุนแรง)”

โอกาสที่จะทำให้ปัญหาเล็กลง ง่ายขึ้นและไม่รุนแรง กำลังท้าทาย คสช.อยู่ครับท่านไม่ต้องมีความเป็นอัจฉริยะมากนักหรอก แต่ท่านต้องใช้ความกล้าหาญให้มากและต้องกล้าหาญอยู่ในร่องรอยตาม “หลักคำสอนของแม่” ครับ ไม่อย่างนั้นเสียของแน่นอน!
กำลังโหลดความคิดเห็น