xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลอกคราบกลุ่มปฏิลวงพลังงาน เกมเตะตัดขา “ภาคประชาชน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแถลงข่าวเปิดตัว “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” นำโดย “นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์” เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเซ็นทาราลาดพร้าว
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -มีคำถามต่อ “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” ในทันทีที่เปิดหน้าโชว์ตัวกัน เพราะหัวหอกของกลุ่มนี้คุ้นหน้าคุ้นตากันดีด้วยมีข้อกังขาจากสังคมมาตลอดว่ามีเอี่ยวกับกลุ่มทุนพลังงาน ดังนั้นเพียงแค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่จะให้สังคมไว้เนื้อเชื่อใจได้อย่างไร แม้ว่าข้อเสนอบางเรื่องจะดูดีมากๆ อย่างเช่น การแยกท่อก๊าซฯออกจากปตท. แต่น่าสงสัยว่า เหตุไฉนในสมัยที่คนบางคนในกลุ่มนี้มีอำนาจเป็นถึงระดับรัฐมนตรี ปลัดและรองปลัดกระทรวง จึงปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปไม่ลงมือทำให้สำเร็จ
 
หนำซ้ำการอ้างเหตุและผลในการก่อตั้งกลุ่มยังมาพร้อมกับการดิสเครดิต เครือข่ายปฏิรูปพลังงานภาคประชาชนว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์และถูกต้อง เช่น น้ำมันและก๊าซ LPG ราคาถูก การเก็บภาษีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้สูง หรือทวงคืน ปตท.มาเป็นของรัฐ ซึ่งหากรัฐบาลทำตามจะสร้างความเสียหายแก่ประเทศโดยรวมนั้น ก็สมควรที่จะถูกสวนกลับว่าแท้จริงแล้วเป็นเพราะเกรงว่าหากมีการปฏิรูปพลังงานในระดับรื้อโครงสร้างกันอย่างที่เครือข่ายภาคประชาชนกำลังผลักดันกันแล้ว จะเป็นการทุบหม้อข้าวของกลุ่มทุนพลังงานและบิ๊กข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ด้วย ใช่หรือไม่?
 
ก่อนอื่นมาดูกันว่า หน้าตาของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนนั้นมีใครบ้าง ข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์http://www.energyreform.in.th ของกลุ่ม ระบุรายชื่อ ณ วันที่ 11พ.ค. 2557 จำนวน 32 รายนั้น มีชื่อที่เป็นบิ๊กเนมอยู่หลายคน เช่น ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต อดีตผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย, นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน), ดร.คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน, ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, ดร.เทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการพลังงาน, ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สผ.และ PTTGC, นายอนันต์ เกษเกษมสุข  อดีตผู้บริหาร บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย, นางอานิก อัมระนันทน์  อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร,
 
นายมนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายมนูญ ศิริวรรณ อดีตผู้บริหาร บมจ.บางจาก, นายเมตตา บันเทิงสุข  อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน/ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน, ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ธนาคารแห่งประเทศไทย, นางสาววิไลพร ลิ่วเกษมศานต์ อดีตรองเลขาธิการสภาพัฒน์, ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์  ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย, นางปรียาภรณ์ วิเวกาภิรัต อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน/รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นต้น
 
เห็นรายชื่อก็รู้ว่ามากันพร้อมหน้าพร้อมตา ทั้งอดีตผู้บริหารกลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่เครือปตท.-บางจาก,ปูนซีเมนต์ไทย กลุ่มข้าราชการระดับสูงตั้งแต่หน่วยงานวางแผนจากสภาพัฒน์ ไปจนถึงหน่วยงานที่กำหนดนโยบาย กำกับดูแล และบริหารจัดการด้านพลังงาน พรั่งพร้อมไปด้วยนักวิชาการที่มีจุดยืนสอดคล้องกับกลุ่มทุนพลังงาน รวมถึงขุนนางนักวิชาการที่ผันตัวเองเป็นไปนักการเมืองอย่างดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ซึ่งเมื่อดูจากรายชื่อแล้วก็ต้องบอกว่านี่เป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังและเบื้องหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานของประเทศให้มีผลอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในเวลานี้ก็คงไม่ผิดนัก แล้ววันนี้พวกเขากลับออกมาเสนอโรดแมปปฏิรูปพลังงาน จะเล่นตลกร้ายหลอกลวงสังคมกันไปถึงไหน?
 
หากนโยบายด้านพลังงานของประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวมแล้ว เครือข่ายปฏิรูปพลังงานภาคประชาชนก็คงไม่ออกมารณรงค์ให้เกิดกระแสปฏิรูปพลังงานครั้งใหญ่จนสร้างแรงกระเพื่อม และทำให้กลุ่มทุนพลังงานบิ๊กข้าราชการและนักการเมือง รีบชิงธงนำตั้งกลุ่ม “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” เพื่อเบรกกระแส และไม่ให้รัฐบาลกำหนดนโยบายด้านพลังงานแปรเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นมาตามเสียงเรียกร้องของภาคประชาชน

ถ้าการตั้งข้อสังเกตดังกล่าวไม่จริง เป็นการมองด้วยจิตอคติ กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ก็ควรตอบคำถามของหม่อมหลวงกรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่ถามถึงกลุ่มที่เรียกตัวว่าจะมาปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนว่ามองดูเงาของตัวเองแล้วใช้สามัญสำนึกตรึกตรองดูว่าขัดหลักธรรมาภิบาลหรือไม่? 

“เพราะคนกลุ่มนี้หลายคนอยู่ในแวดวงพลังงานหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงาน และนักวิชาการบางคนก็เป็นหรือเคยเป็นกรรมการบริษัทพลังงานรับผลประโยชน์กันมาคนละเป็นล้าน กลับรวมตัวกันมาบอกว่าจะปฏิรูปพลังงาน นี่เรื่องจริงหรือความฝัน!
 
“ดังนั้น เพื่อความจริงใจและความโปร่งใส ทุกท่านจึงควรเปิดเผยข้อมูล ดังนี้ 1) เคยได้รับเงินหรือผลประโยชน์อื่น เช่น หุ้นจอง ฯ จากธุรกิจพลังงานหรือไม่? ทั้งในอดีตและปัจจุบัน 2) ถ้าเคยรับผลประโยชน์จากธุรกิจพลังงาน ท่านรับจากบริษัทใด? จำนวนทั้งหมดเท่าไร ?และเมื่อใด และ 3) เนื่องจากหลายท่านเป็นผู้มีอำนาจทางราชการในเรื่องพลังงานในอดีต ขณะมีอำนาจเหตุใดจึงไม่แก้ไข แล้วเหตุใดขณะนี้ท่านจึงอยากปฏิรูปพลังงาน?
 
“ที่ถามเช่นนี้ เพราะต้องการเห็นการปฏิรูปเพื่อประชาชนจริงๆ ที่ไม่ใช่การสวมตอของกลุ่มทุนพลังงาน เพราะหากบางท่านมีผลประโยชน์ทับซ้อนในธุรกิจพลังงาน (Conflict of Interest) การปฏิรูปที่แท้จริงเพื่อประชาชนคงเกิดขึ้นได้ยาก ผมขอให้ความเห็นว่า ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนได้รับพระราชทานมาจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาราษฎร หากการตั้งต้นปฏิรูปสมบัติของประชาชนจากบุคคลบางคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แค่เพียงก้าวแรกนี้ก็ขัดหลักธรรมาภิบาลสากลและขัดพระราชปณิธานของรัชการที่ 7 เสียแล้ว การคาดหวังว่าผลจะออกมาเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนคงไม่ง่าย

“ดังนั้น หากกลุ่มของท่านมีความจริงใจต่อประชาชน ขอให้ทุกท่านตอบคำถาม ผมเชื่อว่าประชาชนคงอยากได้ยินคำตอบของคำถาม 3 ข้อนี้ก่อนข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปของท่าน”
 
หม่อมหลวงกรณ์กสิวัฒน์ ยังโพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตถึงกลุ่มดังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “เมื่อครั้งที่ผมไปบรรยายให้พี่น้องเสื้อแดงหรือเสื้อเหลืองฟัง เขาถามผมกันทุกที่ว่า ใครอยู่เบื้องหลังปัญหาและผลประโยชน์พลังงานไทย พี่น้องฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า อดีตนายกฯ อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าอำมาตย์ ผมตอบว่า อย่าเพิ่งให้ผมรีบตอบตอนนี้เลย เดี๋ยวเมื่อตอนพวกเราทุกสีทวงคืนทรัพยากรพลังงานใกล้จะสำเร็จ คนพวกนี้จะออกมาปกป้องผลประโยชน์ที่เขาเอาจากเราไป ขอให้อดใจรอดู เดี๋ยวพวกเราจะได้เห็นเอง โดยลิ่วล้อที่เป็นข้าราชการจะเปิดตัวก่อน แต่คงสู้ความจริงไม่ได้ แล้วตัวใหญ่ๆ จะตามมา แต่เมื่อสู้ไม่ได้อีก คราวนี้ก็ลากกันมาเป็นโขยง       
 
“ความจริงแล้วการฉ้อฉลในเรื่องพลังงาน นักการเมืองไม่สามารถทำได้ด้วยตนเองโดยลำพัง ต้องอาศัยข้าราชการประจำนี่แหละ " เป็นคนชง" วันนี้ "คนชง" เริ่มเปิดตัวตนให้เห็นหน้าเห็นตา ประวัติบางส่วนของแต่ละคนในการรับผลประโยชน์จากกลุ่มทุน สามารถค้นได้ในข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อบริษัทพลังงานต่างๆ ในหมวดการจัดการ
 
“หากนำตัวเลขของทุกคนมารวมกัน คนไทยคงช็อคกับจำนวนตัวเลขที่มากมายมหาศาล เงินจำนวนนี้สูงกว่าเงินเดือนตลอดอายุราชการ จึงเกิดคำถามว่าท่านๆ จะรับใช้ประชาชนหรือรับใช้กลุ่มทุน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้การรู้เห็นของนักการเมือง แล้วนักการเมืองได้อะไร??? น่าหาคำตอบจริงๆ แต่สิ่งที่น่าจะตอบได้ในวันนี้คือ ข้าราชการ(บางคน)ที่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาพลังงานในอดีต เหตุใดจึงไม่เคยแก้ไข ก็เพราะเขามีความสุขบนความทุกข์ของพวกเราประชาชนนี่ครับ” หม่อมหลวงกรณ์กสิวัฒน์ เฉลยปริศนา
 
ส่วนนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน นอกจากจะสงสัยว่าทำไมกลุ่มคนเหล่านี้ถึงเพ่งจะมาคิดจะปฏิรูปพลังงานแล้ว ยังตั้งคำถามเช่นกันว่ากลุ่มนี้เป็นบุคคลที่ทำมาหารับประทานกับนโยบายพลังงานที่เน้นเรื่องพลังงานปิโตรเลียมและพลังงานฟอสซิลใช่หรือไม่ ทำมาหารับประทานทั้งในรูปแบบเป็นผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแล ออกใบอนุญาต เป็นนักวิชาการรับจ้าง เป็นกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจปิโตรเลียม ถ่านหิน ใช่หรือไม่
 
“และเหตุที่คนเหล่านี้ออกมานำพูดถึงเรื่องปฏิรูปพลังงานเพราะเห็นว่าสิ่งที่นำเสนโดยบุคคลบางกลุ่มอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์และถูกต้องนักนั้น ความจริงแล้วเป็นเพราะกลัวประชาชนจะรู้ความจริงมากขึ้นในสิ่งที่ใครบางคนกระทำระยำตำบอนในกิจการพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดปัญหาสร้างความเดือดร้อนกับประชาชนอยู่ในขณะนี้ และประชาชนก็ได้ช่วยกันผลักดันข้อเสนอการปฏิรูปพลังงานที่จะกลายเป็นการทุบหม้อข้าวใบใหญ่ของกลุ่มทุนธุรกิจพลังงานมหาโหด จึงต้องรีบออกมาแสดงตัวว่าอยู่ในขบวนการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปพลังงานด้วยเหมือนกัน

“แต่อย่าปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคนนะ เอาแค่พอเป็นพิธีก็พอ แล้วถ้ารัฐบาลต่อไปอยากจะใช้บริการ ให้เป็น รมต. เป็นที่ปรึกษา เป็นทีมงานวิจัย เป็นธุรกิจหนุนรายได้ให้กับรัฐบาลก็พร้อมนอนรอรับเต็มที่ ใช่หรือไม่” นายอิฐบูรณ์ ตั้งข้อกังขา แต่ว่าถ้าใครไม่ได้ทำระยำตำบอนก็ไม่ควรเดือดเนื้อร้อนใจ หาเรื่องฟ้องร้องนักต่อสู้คนนี้ให้มีคดีความเพิ่มอีก เพราะตอนนี้เขาก็เจอคดีฟ้องร้องจากบมจ.ปตท. ซ้ำถูกจับด้วยข้อกบฏที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้

ทีนี้มาดูข้อเสนอของกลุ่มนี้ว่ามีอะไรที่พอมีประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติบ้าง โดยข้อเสนอหลักๆ มี 6 ข้อ ดังนี้
 
หนึ่ง ปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หลีกเลี่ยงการใช้ราคาพลังงานเป็นโครงการประชานิยม
 
สอง ให้กิจการที่มีการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจเข้ามาอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า และให้ บมจ.ปตท.ขายหุ้นทั้งหมดในโรงกลั่นบางจากและโรงกลั่น SPRC ส่วนกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ให้แยกออกจาก บมจ.ปตท.เพื่อความโปร่งใสและง่ายแก่การกำกับดูแล และเปิดให้มีการให้บริการใช้ท่อก๊าซธรรมชาติแก่บุคคลที่สามเพื่อให้ผู้ใช้มีทางเลือก
 
สาม ลดการแทรกแซงโดยมิชอบและแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดย (1) แยกการกำกับดูแล กำหนดนโยบาย และดูแลผลประโยชน์ของรัฐในฐานะของผู้ถือหุ้นออกจากกัน (2) ปรับปรุงระบบการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการในบริษัทที่รัฐถือหุ้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล (3) ข้าราชการที่ไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจหรือกรรมการในบริษัทมหาชนที่รัฐถือหุ้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่ หากมีผลตอบแทนส่วนที่เกินสมควรให้นำส่งคลัง (4) เมื่อแยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกไปจาก บมจ.ปตท.แล้ว ให้ลดการถือหุ้นของรัฐใน บมจ.ปตท.ให้ต่ำกว่า 50% และพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อลดการแทรกแซงจากภายนอก
 
สี่ ปรับปรุงกระบวนการในการกำหนดนโยบาย และการขออนุญาต โดยตั้งสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานแบบ EIA ของสหรัฐฯ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมายที่ซ้ำซ้อน เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการขออนุญาตในกิจกรรมที่เกี่ยวกับพลังงาน และเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ที่มิชอบทางการเมือง
 
ห้า สำรวจ พัฒนาและจัดหาแหล่งพลังงาน โดย (1)ให้ประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกของโครงการเพื่อความโปร่งใสในภาคอุตสาหกรรมการสกัดทรัพยากร (Extractive Industries Transparency Initiative: EITI) (2) ตั้งคณะกรรมการที่มีผู้แทนจากทุกฝ่ายเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการปรับปรุงระบบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในปัจจุบัน ให้ได้ข้อยุติใน 3 เดือน และเดินหน้าเปิดพื้นที่สำรวจและพัฒนาปิโตรเลียม (3) นำพื้นที่ในภาคเหนือที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงกลาโหมเข้ามาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (4) เร่งพิจารณาแนวทางในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมสำหรับสัมปทานในพื้นที่ผลิตที่ไม่สามารถต่อระยะเวลาได้อีก เพื่อให้ได้ข้อยุติอย่างน้อย 5 ปีก่อนการสิ้นสัมปทาน (5) ให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภา ร่วมกันวางแนวทางและมอบหมายให้มีคณะเจรจาเพื่อเจรจาหาข้อยุติกับกัมพูชา ในการเข้าไปสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในทะเล
 
หก ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด โดย (1) แก้ไขกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน ให้การผลิตไฟฟ้าเป็นโรงงานจำพวกที่ 1 เพราะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอยู่แล้ว และยุบเลิกคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ส่วนโครงการ SPP/VSPP ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ให้เจรจาปรับเงื่อนไขและราคารับซื้อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน และปฏิบัติต่อผู้ลงทุนทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน (2) แก้ไขพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้สามารถเร่งกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานขั้นต่ำของเครื่องจักร อุปกรณ์ และอาคาร ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น (3) จัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และการจัดหาพลังงานเพื่อใช้ในยานยนต์อย่างเป็นระบบ
 
 ข้อเสนอข้างต้นดูในภาพรวมบางเรื่องดูดี เช่น การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การแยกท่อก๊าซออกจากบมจ.ปตท. และให้บมจ.ปตท.อยู่ภายใต้กฎหมายแข่งขันทางการค้า ซึ่งจะว่าไปแล้วนับแต่คลอดกฎหมายนี้มาก็ไม่เคยเห็นมียักษ์ใหญ่ธุรกิจรายใดที่ทำตัวผูกขาดตัดตอนถูกลงโทษแม้แต่น้อยก็ตาม

แต่บางเรื่องยังดูคลุมเครือเพียงแต่สร้างภาพฉาบให้ดูเหมือนดีขึ้น เช่น ผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ยังเปิดช่องไว้เหมือนเคย ส่วนเรื่องพัฒนาและจัดหาแหล่งพลังงานไม่มีการพูดถึงเรื่องระบบการให้สัมปทานที่มีข้อเรียกร้องของภาคประชาชนให้ไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแม้แต่น้อย ทั้งที่เรื่องนี้คือหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนโยบายปฏิรูปพลังงานของประเทศ
 
แล้วจะไม่ให้สังคมคลางแคลงใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนกำลังผลักดันอยู่นี้เป็นเพียงแค่ฉากบังหน้าที่มีกลุ่มทุนพลังงานเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง และซ่อนหมากกลเอื้ออำนวยประโยชน์แก่กลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่ของชาติและข้ามชาติให้สูบเลือดสูบเนื้อคนไทยต่อไปชั่วกาลปาวสาน

“กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน”
(ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2557)

1.นางกรรณิการ์ ศรีธัญญลักษณา อดีตข้าราชการกระทรวงพลังงาน
2.นายกวี จงคงคาวุฒิ อดีตข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
3.นางสาวกฤติยา เพ็ชรศรี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
4.นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด
5.ดร.คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน
6.นายชยุตพงศ์ นันท์ธนะวานิช กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
7.นายชาย ชีวะเกตุ อดีตผู้บริหาร กฟผ.และกรรมการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม
8.ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
9.คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต อดีตผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
10.ดร.เทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการพลังงาน
11.นางสาวเนตรนฤมล ศิริมณฑล อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการ UNDP ประเทศไทย
12.นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)
13.ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
14.นางปรียาภรณ์ วิเวกาภิรัต อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน/รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
15.นางสาวพนิดา อมรศักดิ์ รักษาการผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม
16.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
17.นายมณฑล วสุวานิช อดีตข้าราชการกระทรวงพลังงาน
18.นายมนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
19.นายมนูญ ศิริวรรณ อดีตผู้บริหาร บมจ.บางจาก
20.นายเมตตา บันเทิงสุข อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน/ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
21.ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ธนาคารแห่งประเทศไทย
22.นางสาววิไลพร ลิ่วเกษมศานต์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
23.ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
24.นางสาวสุจิตร เข็มมี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
25.นายสิริวัต วิทูรกิจวานิช วิศวกรปิโตรเลียม บมจ.ปตท.สผ.
26.ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการสถาบัน Sasin Institute for Global Affairs (SIGA)
27.นางสาวสุวพร ศิริคุณ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
28.รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
29.นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สผ.และ PTTGC
30.นายอนันต์ เกษเกษมสุข อดีตผู้บริหาร บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย
31.นายอนุชิต ลิ้มสุวัฒน์ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
32.นางอานิก อัมระนันทน์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร


กำลังโหลดความคิดเห็น