xs
xsm
sm
md
lg

25 ปี การต่อสู้ประชาธิปไตย ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน 1989 และจีนหลังจากนี้ไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มวลมหาประชาชนจีนชุมนุมประท้วงรอบ “อนุสาวรีย์เทพีแห่งเสรีภาพ” รูปปั้นจำลองจากเทพีเสรีภาพในนิวยอร์ก ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน เรียกร้องประชาธิปไตยวันที่ 30 พ.ค. 1989 แม้รัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกในปักกิ่งแล้วก็ตาม  (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
ASTVผู้จัดการออนไลน์--วันที่ 4 มิ.ย. 2014 คือวาระครบรอบ 25 ปี กรณีชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง โดยกลุ่มนักศึกษาและประชาชนนับแสน ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของการประท้วงหลังจากที่รัฐบาลนำกองกำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างนองเลือด ทั้งนี้ “เทียนอันเหมิน” หมายถึง ประตู “สันติสุขแห่งสรวงสรรค์”

ก่อนเกิดเหตุฯ....มีกระแสความไม่พอใจในกลุ่มประชาชน ต่างคับข้องใจต่อราคาอาหารมีแต่พุ่งขึ้นๆ ขณะที่สังคมชาชินกับคอรัปชั่น กลุ่มที่มีเส้นสายในพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาล ก็กอบโกยผลประโยชน์จาก “นโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ”

ขณะที่ผู้นำจีนมองสถานการณ์โลกคอมมิวนิสต์ที่ถดถอยอย่างวิตกจริตยิ่ง พี่เบิ้มสหภาพโซเวียตประกาศคำมั่นถอนทหารออกจากยุโรปตะวันออก ในฮังการี พรรคคอมมิวนิสต์ก็เสนอระบบการเมืองแบบหลายพรรค ในโปแลนด์ สหภาพแรงงานโซลิดาลิตี้ ที่ได้รับการรับรองทางกฎหมาย หันมาเจรจากับรัฐบาล ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แลตเวีย, ลิธัวเนีย และแอสโทเนีย ประกาศเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต
หลังเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินผ่านพ้นไป 5 วัน ผู้นำสูงสุด เติ้ง เสี่ยวผิง ปรากฏตัวต่อสาธารณะผ่านโทรทัศน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 1989  (แฟ้มภาพ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์)
แต่ในจีน ที่มีผู้นำสูงสุดคือ เติ้ง เสี่ยวผิง ลั่นจะไม่นั่งอยู่เฉยๆ เติ้งเห็นความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ต่างๆในจีนและต่างประเทศ แล้วก็ตัดสินใจหยุดสิ่งที่เรียกว่า “การลุกฮือที่เป็นปฏิกิริยาต่อการปฏิวัติ” ไม่ว่าจะต้องจ่ายราคาเป็นเลือดเนื้อและชีวิตเท่าไหร่ก็ตาม
ขบวนรถถังเคลื่อนพลมาปราบกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน วันที่ 4 มิ.ย. 1989 (แฟ้มภาพ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์)
วันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1989 (2532) สำหรับ“ชาวจีนกลุ่มหนึ่ง” คือ เหตุการณ์นองเลือดจากเหตุที่รัฐบาลส่งกองกำลังทหาร ขบวนรถถัง เข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาด ยิงใส่กลุ่มนักศึกษา และพลเรือน เพื่อสลายการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาประชาชน ผลของการปราบปราม มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน บาดเจ็บนับพันๆ
พวงหรีดไว้อาลัย หู เย่าปัง ในบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 19 เมษายน 1989 กลุ่มนักศึกษาเริ่มหลั่งไหลมายังจัตุรัส (แฟ้มภาพ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์)
เมื่อสิ้นผู้นำการปฏิรูปการเมือง หู เย่าปัง จุดชนวนการเคลื่อนไหวนักศึกษา
การประกาศอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ หู เย่าปัง ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 1989 เป็นข่าวช็อกคนจำนวนมาก และได้เร่งความเคลื่อนไหวของนักศึกษา

“สำหรับพวกเรา สวรรค์พังทลายเสียแล้ว” อู๋ จยาเซียง ที่ปรึกษาอาวุโสคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลานั้น กล่าวเมื่อได้รับรายงานการเสียชีวิตของหู เย่าปัง ผู้นำที่เป็นเสาหลักผลักดันการปฏิรูปการเมือง
กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งชุมนุมประท้วงอดอาหารที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 1989 (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
ปณิธานอันแรงกล้า...
 โจว เฟิ่งซัว วัย 21 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยชิงหวา คิดว่าเขากำลังเข้าร่วมขบวนเพื่อสร้างอนาคตที่เรืองรองของประเทศชาติ “ทุกคนกำลังแสวงหาความคิดใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ มันน่าตื่นเต้นมากที่ได้เรียนรู้และถกเถียง การเปลี่ยนแปลงชีวิตเพื่ออนาคตที่ดีกว่านี้” โจว ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากออสติน เท็กซัส ก่อนวันครบรอบ 25 ปี กรณีนองเลือดเทียนอันเหมิน
ผู้นำนักศึกษา อู๋เอ่อร์ ไคซี และกลุ่มผู้แทนนักศึกษา พบ นายกฯหลี่ เผิง ที่มหาศาลาประชาคม เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 1989 (แฟ้มภาพ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์)
ขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยนับวันยิ่งขยายใหญ่ มหาชนมากกว่า 100,000 คน หลั่งไหลออกมายังท้องถนนในกรุงปักกิ่ง ด้วยความวิตกกังวลเกี่ยวกับปราบปราม หลายคนเขียนจดหมายสั่งเสียไว้ ในวันที่ 30 เม.ย. 1989 70 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มนักศึกษา 130,000 คน พร้อมใจกันหยุดเรียน
นายกฯหลี่ เผิง ประกาศกฎอัยการศึกผ่านโทรทัศน์เมื่อวันที่ 19 พ.ค.1989  (แฟ้มภาพ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์)
การเรียกร้องครั้งสุดท้าย
วันที่ 17 พ.ค.1989 ผู้นำสูงสุดเติ้ง เสี่ยวผิง พบปะพูดคุยกับผู้นำนักศึกษาที่บ้านของเขา จากการเปิดเผยของหลายแหล่งข่าวระบุเป็นการพูดคุยเพื่อยุติการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เจ้า จื่อหยัง เลขาธิการพรรคฯ เรียกร้องด้วยท่าทีออมชอม อ้างอิงจากผู้เขียนอัตชีวประวัติของ เติ้ง เสี่ยวผิง Ezra Vogel ระบุเติ้งได้สรุปว่ากำลังตำรวจในปักกิ่ง ไม่เพียงพอสำหรับการรักษาความสงบจึงสั่งการให้กองทัพเข้ามาช่วยฯ นายกฯหลี่ เผิง และรองนายกฯ เหยา อี้หลิน สนับสนุนความคิดของเติ้งในทันที
เจ้า จื่อหยัง เลขาธิการพรรคอมมิวนิสต์ (กลาง) กำลังพูดกับนักศึกษาที่อดอาหารประท้วงในเช้าวันที่ 19 พ.ค.1989 จากเอกสารของกลุ่มสิทธิมนุษย์ชนในฮ่องกงเผยในปี 2001 ระบุว่า เจ้าพยายามห้ามการนำกองกำลังเข้าปราบนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 4 มิ.ย. แต่ก็ไม่สำเร็จ (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
เช้าตรู่ของวันที่ 19 พ.ค. เจ้า จื่อหยัง ที่เต็มไปด้วยความเหนื่อยอ่อนล้า มายังจัตุรัสเทียนอันเหมิน “พวกเรามาสายไปเสียแล้ว” ผู้นำเจ้าพูดกับกลุ่มนักศึกษาท่ามกลางเสียตระโกนร้องประชาธิปไตย เจ้าขอให้นักศึกษาหยุดการประท้วงอดอาหาร ในวันนั้นคือวันสุดท้ายที่เขาปรากฏตัวในสาธารณชน หลังจากนั้นก็ถูกกักบริเวณในบ้านพัก ไม่มีใครได้เห็นเขาอีก
เฮลิคอปเตอร์ทหารโปรยใบปลิวเหนือจัตุรัสเทียนอันเหมิน สั่งให้นักศึกษาออกจากจัตุรัสโดยเร็วที่สุดในตอนเช้าวันที่ 22 พ.ค.1989 (แฟ้มภาพรอยเตอร์ส)
วันเดียวกัน 22.00 น. นายกฯหลี่ เผิง ประกาศกฎอัยการศึกในเมือง และประกาศผ่านโทรทัศน์“สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังเผชิญกับภัยคุกคามใหญ่หลวงต่ออนาคตและชะตากรรมของประเทศ” แผนการรั่วไหลออกมาโดยเจ้าหน้ารัฐบาลที่มีจิตใจเมตตาสงสารในตอนบ่าย และนักศึกษาก็ได้ยุติการอดอาหารประท้วง
กลุ่มนักศึกษาดีใจลิงโลดที่สามารถฝ่าแนวกันของตำรวจเข้ามาร่วมขบวนกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยในบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินในเดือน มิ.ย.1989 (แฟ้มภาพรอยเตอร์ส)
พาหนะหุ้มเกราะแล่นเหยียบบดขยี้เต๊าท์ผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในตอนเช้าวันที่ 4 มิ.ย.1989 (แฟ้มภาพรอยเตอร์ส)
กองทัพติดอาวุธเคลื่อนเข้ามาหลังวันประกาศกฎอัยการศึก แต่ถูกสกัดด้วยฝูงชนผู้ประท้วง “ประชาชนนอนบนถนนเพื่อหยุดทหาร” ผู้นำนักศึกษา โจว กล่าว “หลายๆคนนำครอบครัวและลูกที่ยังอยู่ในวัยเด็กมาชุมนุมด้วยเพื่อแสดงการประท้วงอย่างสันติ”

เจ้าจื่อหยังเขียนในบันทึกความทรงจำของเขาเอง ว่า ผู้นำเติ้งตัดสินใจประชุมในวันที่ 20 พ.ค. หลังประกาศกฎอัยการศึกษา ปลดเจ้า จื่อหยัง จากตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคฯ ผู้นำหัวปฏิรูปกล่าวว่าเขารู้สึกโดดเดี่ยวในทันที
ผู้ประท้วงเลือดเปรอะไปหมดทั้งตัว หยิบหมวกทหารขึ้นมา หลังเหตุรุนแรงปะทะกับทหารที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 1989 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
แล้วเกิดอะไรขึ้น…
นักศึกษาคนหนึ่ง ฟาง เจิ้ง วัย 22 ปี จากมหาวิทยาลัยการกีฬาปักกิ่ง เป็นกลุ่มสุดท้ายที่ออกจากเทียนอันเหมิน เขาเดินไปตามถนนฉางอัน ชื่อถนนที่หมายถึง “สันติภาพนิรันดร” จากจัตุรัสเทียนอันเหมินไปยังมหาวิทยาลัย เมื่อขบวนรถถังแล่นตรงมายังกลุ่มนักศึกษา เขานึกย้อนหลัง “พวกเขายึดจัตุรัสฯ จนถึงทุกวันนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมพวกเขาพุ่งเป้ามาที่พวกเรา”

เด็กสาวคนหนึ่งเดินด้วยอาการใกล้หมดสติอยู่รอมร่อ เขาเข้าไปผลักเธอไปยังรั้วเหล็ก ให้พ้นทางขบวนรถถัง ล้อรถถังเหยียบร่างเขา เขาตื่นขึ้นในวันรุ่งขึ้นที่โรงพยาบาล ขาทั้งสองข้างขาดหายไป “ต่อมา เราก็รู้ว่ามีคน 9 คน ถูกรถถังเหยียบตาย และอีก 5 คน บาดเจ็บ” ฟางยังคงยึดอาชีพในแวดวงกีฬา เป็นนักกีฬาบนรถเข็นหลังเหตุการณ์ปราบปรามฯ และย้ายมาอยู่ที่สหรัฐฯเมื่อปี 2009
ศพพลเรือนก่ายกองปะปนกับจักรยานใกล้จัตุรัสเทียนอันเหมินในเช้าวันที่ 4 มิถุนายน 1989 (แฟ้มภาพ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์)
ชายนิรนามยืนประจัญบานกับขบวนรถถังบนถนนฉังอัน ชื่อถนนที่มีความหมายว่า “สันติภาพนิรันดร” เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 1989 (แฟ้มภาพรอยเตอร์ส)
ประจักษ์พยานในเหตุการณ์ปราบปรามฯวันที่ 4 มิ.ย. นายหลี่ และภรรยา ได้รู้ว่าสาวใช้ของเพื่อนบ้านถูกสังหารเมื่อคืน...บนถนนฉางอัน พวกเขาเห็นรถถังถูกจอดทิ้งไว้ ก็ปีนขึ้นไปดูขบวนรถถัง “พวกเขาไม่ได้แล่นเข้าไปในจัตุรัสเทียนอันเหมิน รถหุ้มเกราะนับสิบๆคันถูกทิ้งไว้” หลี่กล่าว และว่าเขาเห็นทหารบางกลุ่มปฏิเสธเดินหน้าต่อไปยังจัตุรัสอีก “หลายคนขว้างปืนไรเฟิลของตนทิ้งลงไปในคลอง...ทหารหลายคนก็ไม่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการปราบปรามฯ”

แต่ทหารอีกนับพันทำ เสียงปืนดังก้องเมืองหลวงเป็นเวลาหลายวัน ในวันที่ 4 มิ.ย. หนังสือพิมพ์กองทัพ PLA Daily ประกาศว่า “การจลาจลของกลุ่มปฏิกิริยาการปฏิวัติครั้งร้ายแรง”
ใบประกาศรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของ หลิว เสี่ยวปัว บนเก้าอี้ที่ว่างเปล่าระหว่างพิธีมอบรางวัล ปี 2010 ณ กรุงออสโล โดยขณะนั้น หลิวต้องโทษจำคุกอยู่ในจีน (แฟ้มภาพ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์)
ห้าวันต่อมา เติ้ง เสี่ยวเผิงก็ปรากฏต่อสาธารณชน แถลงผ่านโทรทัศน์ เรียกความเคลื่อนไหวประชาธิปไตยว่า “พายุการเมือง” ที่จะต้องหยุดยั้งเพื่อเสถียรภาพระยะยาว

ผู้อดอดอาหารประท้วง นาย หลิว เสี่ยวปัว เป็นคนแรกที่ถูกจับกุมตัวหลังการปราบปรามฯ หลังถูกทางการควบคุมตัวไว้ 19 เดือน จึงได้ระบุความผิดเขา “ผู้ยุแหย่และโฆษณาชวนเชื่อปฏิกิริยาต่อต้านการปฏิวัติ” แต่ก็มิได้บังคับใช้คำพิพากษาลงโทษหลิว เนื่องจากคุณูปการของเขาที่ช่วยยุติการเผชิญหน้าที่เทียนอันเหมินอย่างสันติ ปัจจุบัน หลิว เสี่ยวปัว อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุก 11 ปี ในความผิด “ยุแหย่การบ่อนทำลายอำนาจรัฐ” โดยการริเริ่มแถลงการณ์บัญญัติ 08 (Charter 08) ซึ่งมีเนื้อหาย้ำเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษา และเสรีภาพการพูด-แสดงความเห็นจากปี 1989 หลิวได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในปี 2010

มรดกเทียนอันเหมิน
หม่า เส้าฟาง บอกว่าเขาเป็นกลุ่มนักศึกษากลุ่มสุดท้ายที่ออกจากเทียนอันเหมิน เขาอยู่จนกระทั่งตะวันฉายแสงในรุ่งเช้าวันที่ 4 มิ.ย. ท่ามกลางเสียงปืนดัง ระหว่างทางที่เดินกลับไปยังสถาบันศึกษาภาพยนตร์ปักกิ่ง ผ่านกำแพงเมืองเก่า “เต๋อเซิ่งเหมิน” (ประตูชัยแห่งคุณธรรม) เห็นศพเด็ก 9 ขวบ อยู่บนเกวียน

ทางการประกาศรายชื่อผู้นำนักศึกษา 21 คน ในบัญชี “ผู้ที่ทางการต้องการตัวมากที่สุด” ชื่อหม่าอยู่ในลำดับที่ 10 สื่อทางการรายงานว่าภายในหนึ่งสัปดาห์ ประชาชนอย่างน้อย 400 คน ถูกจับกุม สถานีโทรทัศน์กลางฯ ออกอากาศภาพทหารจ่อปืนคุมตัวผู้ถูกจับ และนายกฯหลี่ เผิง สรรเสริญกองกำลังทหาร

หลังเหตุการณ์ปราบปรามฯที่เทียนอันเหมิน เจ้า จื่อหยัง ก็ถูกกักบริเวณในบ้านพักกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิตปี 2005
ประชาชนนับแสนเข้าร่วมการจุดเทียนไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน ซึ่งจัดเป็นประจำปี ที่วิตอเรีย ปาร์ค ฮ่องกง (แฟ้มภาพ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์)
ตัวเลขผู้เสียชีวิตมีหลายชุด ตามแหล่งข่าวต่างๆ อาทิ....
แถลงการณ์ของคณะมุขมนตรี ระบุ (6 มิ.ย. 1989) จำนวนผู้เสียชีวิต น้อยกว่า 300 คน รวมนักศึกษามหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่ง 23 คน ส่วนผู้บาดเจ็บ ได้แก่ ทหาร 5,000 นาย, พลเรือน 2,000 คน

สหภาพนักศึกษาอิสระแห่งปักกิ่ง (Beijing Independent Student Union) ระบุ(5 มิ.ย. 1989) มีผู้เสียชีวิต 4,000 คน โดยไม่ระบุจำนวนผู้บาดเจ็บ

สำนักข่าว เอพี ระบุ (5 มิ.ย.1989) ผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 500 คน โดยไม่ระบุจำนวนผู้บาดเจ็บ

สื่อฮ่องกง เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ ระบุ (6 มิ.ย.1989)ผู้เสียชีวิต 1,400 คน, บาดเจ็บ 10,000 คน
รูปปั้นจำลองเทพีเสรีภาพ ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 1989(แฟ้มภาพ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์)
ยุคการแห่งการถกเถียงจบเห่ลง...
กลุ่มรณรงค์สิทธิมนุษย์ชน (จากซ้ายไปขวา) โจว เฟิ่ง, สีว์ โหยวอี๋ว์, จาง เสียนหลิง, ฉิน ฮุ่ย, เย่ว์ ฝู, ผู่ จื้อเฉียง, (แถวหลัง จากซ้ายไปขวา) ห่าว เจี้ยน, ชุ่ย เหว่ยผิง, หลิว ตี้, เหลียง เสี่ยวเยี่ยน, หลี่ เสวียเหวิน, และกัว อี๋ว์หวา ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันระหว่างการประชุมในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2014เกี่ยวกับการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989  โดยห้าคน (ผู่, หลิว, สีว์) ถูกจับเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ในข้อหา “ก่อกวนความสงบ” ซึ่งอาจต้อโทษจำคุก 5 ปี (ภาพ รอยเตอร์ส)
....25 ปี ต่อมา...
สี จิ้นผิง ก็เหมือนกับเติ้งเมื่อ 25 ปีที่แล้ว หมกมุ่นการอยู่รอดของพรรคฯ ทำทุกอย่างเพื่อประกันอำนาจพรรคฯ

ในทศวรรษ 1980 พรรคฯเสนอข้อต่อรอง คือ “ความมั่งคั่ง ไม่ใช่การปฏิรูปการเมือง”และพรรคฯก็ทำได้...ในปี 1989 จีดีพีต่อหัวประชากร เท่ากับเพียง 400 เหรียญสหรัฐฯ/ปี เมื่อปีที่แล้วเพิ่มเป็นเกือบ 17 เท่า เท่ากับ 6,800 เหรียญสหรัฐฯ
พรรคฯยังได้โหมกระพือกระแสชาตินิยม ภายใต้คำขวัญ “ความฝันจีน” “รักประเทศ เท่ากับ รักพรรคฯ”

ทว่า ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่พรรคฯยังทำได้คะแนนได้ไม่ดีนัก โดยช่วงไม่กี่เดือนมานี้ มีการจับกุมตัวกลุ่มเรียกร้องการเปิดเผยทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่

บัณฑิตยสภาด้านสังคมศาสตร์แห่งจีน รายงานว่า เจ้าหน้าที่กว่า 18,000 คน หลบหนีออกนอกประเทศระหว่างปี 1995-2008 พร้อมนำทรัพย์สินออกไปด้วย รวมทั้งสิ้น 145,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเมื่อกลุ่มเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่เชื่อมั่นในอนาคตของประเทศ แล้วประชาชนทั่วไปจะคิดอย่างไรล่ะ?

และทำไม ส่วนใหญ่ของนักทุ่มพนันมือเติบในคาสิโนทั่วโลก มาจากประเทศจีน? เงินที่เขานำมาเสี่ยงการพนันนั้นเป็นของใคร?

แปลเรียบเรียงจากคอลัมน์พิเศษ รำลึก 25 ปี เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เดือนมิถุนายน 1989
จัดทำโดยเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ Voices from Tiananmen: Eyewitnesses look back to the spring of 1989 และรายงานความคิดเห็น Post June 4, the party has thrived, but so has corruption โดย Frank Ching นักเขียนและนักแสดงความคิดเห็นในฮ่องกง
ป้ายประชาสัมพันธ์ ความฝันจีน ในกรุงปักกิ่ง ที่ ปธน.สี จิ้นผิง กำลังชูธงนำ นำรัฐจีนอยู่ในปัจจุบัน (ภาพ เอเอฟพี)

กำลังโหลดความคิดเห็น