xs
xsm
sm
md
lg

“ความฝันจีน” สู่การฟื้นฟูครั้งใหญ่ของประเทศ

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

ภาพประชาสัมพันธ์ Chinese Dream /中国梦 (ภาพจากเว็บไซต์)
ASTVผู้จัดการออนไลน์--ผู้เขียนได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เอเชียน มีเดีย เวิร์กชอป” (Asian Media Workshop) เป็นเวลาสองสัปดาห์ (2 มิ.ย.-14 มิ.ย. 2013) ประกอบด้วยกิจกรรมการประชุม สัมมนา พบปะพูดคุยกับผู้นำในหน่วยงานรัฐ โดยวัตถุประสงค์ของผู้จัดคือหนังสือพิมพ์ประชาชนจีน (人民日报/People’s Daily) ได้แก่ การนำเสนอ สร้างความเข้าใจ “ความฝันของจีน” (中国梦/Chinese Dream) ผู้เขียนขอประมวลเรียบเรียงเกี่ยวกับ “ความฝันจีน” ที่ได้รับฟังและเรียนรู้จากการประชุม การพบปะผู้บริหารสื่ออย่างหนังสือพิมพ์ประชาชนจีน การบรรยายของเจ้าหน้าที่อาวุโสในศูนย์วิจัยประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นต้น

หลังจากที่จีนทำการถ่ายโอนอำนาจแล้วเสร็จในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา(2555) โดยนาย สี จิ้นผิง ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่ เป็นผู้นำใหญ่ของผู้นำจีนรุ่นที่ 5 สี จิ้นผิงก็ได้ประกาศภารกิจหลักของกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ คือ การนำพาประชาชาติจีนบรรลุถึง “ความฝันจีน” โดยการผลักดันการฟื้นฟูครั้งใหญ่แห่งประชาชาติจีน (中华民族伟大复兴)

สีได้อรรถธิบายถึงวิถีทางที่จะบรรลุ ความฝันของจีน ได้แก่ “การฟื้นฟูประเทศ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สร้างความมั่งคั่ง สรรค์สร้างสังคมที่ดีขึ้น และขยายกำลังกองทัพ” พร้อมกับได้ปลุกคนหนุ่มสาวให้ “กล้าที่จะฝัน ทำงานหนักเพื่อที่จะบรรลุฝัน ไปพร้อมๆกับอุทิศให้แก่ประเทศชาติ”

“ความฝันจีน” ได้รับการกล่าวขวัญทั้งในกลุ่มสื่อท้องถิ่นในจีน และสื่อเทศ บ้างก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนามธรรม และคลุมเครือ กลุ่มผู้นำจีนต่างก็ออกมาอรรถธิบาย โดยที่แน่นอนคือ ความฝันจีน ยังคงเชื่อมโยงกับหลักทฤษฎีของพรรคฯ คือ “สังคมนิยมบุคลิกจีน” (socialism with Chinese characteristics) ที่จีนก่อรูปก่อร่างมาตั้งแต่ยุคผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง

การประกาศ “ความฝันจีน” เพื่อบรรลุการฟื้นฟูครั้งใหญ่นี้ โดยแนวคิดและวิสัยทัศน์แล้วจึงเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
จีน ณ วันนี้ ในด้านหนึ่งได้รับการกล่าวขวัญในความเติบโตด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาความความทันสมัย จีนได้ทะยานขึ้นมาเป็นชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับสองของโลก ขณะที่กระแสคาดการณ์ทั่วไประบุว่าจีนจะแซงหน้าสหรัฐอมริกากลายเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกในปี 2025

ทั้งนี้เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ยุคผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศในปี 1978 ที่เรียกว่า ‘ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน’ (中国特色社会主义市场经济 หรือ socialist market economy with Chinese characteristic) และมาตรการสร้างความทันสมัยเพื่อบรรลุสังคมกินดีอยู่ดี (小康社会/well - off society) จากปี 1978-2010 รวม 32 ปี เศรษฐกิจจีนขยายตัวโดยเฉลี่ย 9.5 เปอร์เซนต์ต่อปี ชาวจีนมั่งคั่งขึ้น จากข้อมูลตัวเลขธนาคารโลก (World Bank) ระบุ รายได้ต่อหัวประชากรจีนในปี 2011 เพิ่มพูนขึ้นที่ 5,444.79 เหรียญสหรัฐ เทียบกับเท่ากับ 1,135.45 เหรียญสหรัฐ ในปี 2002

ทว่า ระหว่าง 30 กว่าปี ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วนี้ เป็นการเติบโตที่มุ่งตัวเลขจีดีพีด้านเดียว ที่ทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ปัญหาช่องว่างรายได้ของกลุ่มประชาชน ที่ถ่างกว้างเสียน่ากลัว ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนมากขึ้นทุกวัน และคอรัปชั่นก็ยังเป็นวิกฤตที่ร้ายแรง ณ เวลานี้ จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประเทศจีน ที่กำลังเผชิญภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การประกาศ “ความฝันของจีน” สู่การฟื้นฟูครั้งใหญ่ จึงเหมาะเจาะกับสถานการณ์จีน

ผู้นำจีนได้อรรถธิบายนิยามของความฝันจีนหลากหลายด้าน ที่น่าสนใจ ได้แก่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable development) การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้น จีนจะต้องแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งสภาพน้ำเน่าและสารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรม ไปถึงมลพิษอากาศจากหมอกควันที่จู่โจมเมืองใหญ่และกำลังกลายเป็นสาเหตุหมายเลขหนึ่งของการป่วยและเสียชีวิตของประชาชน ปัญหาคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยอาหาร

นอกจากนี้ ชาวจีนหลายคนยังได้ตีความ “ความฝันจีน” ก็คือ ความฝันของปัจเจกชน

ขณะที่เจ้าหน้าที่จีนชี้ว่า “ความฝันจีน” (Chinese Dream) ต่างจาก “ความฝันอเมริกัน” (American Dream) โดยความฝันอเมริกันนั้นมาจากจิตวิญญาณและพื้นฐานแนวคิดลัทธิปัจเจกชน (individualism) เป็นความฝันส่วนตัวของบุคคล ส่วนหัวใจของความฝันจีน คือการได้บรรลุคุณค่ารวมหมู่ (collectivism)ในความหมายของจีนคือการบรรลุฝันของประชาชาติทั้งหมดทั้งมวล

จีนยังได้ขยายความความฝันจีนไปกว้างขวาง ได้แก่ “ความฝันของจีน และความฝันของโลก” โดยความฝันจีนไม่ใช่เพียงความฝันของจีนเท่านั้น การดำเนินการใดๆสู่บรรลุความฝันจีน จะมิมีชาติใดต้องจ่ายราคา (เสียผลประโยชน์)อย่างแน่นอน การบรรลุความฝันจีนยังได้สร้างโอกาสให้แก่การพัฒนาของประเทศต่างๆ ทั้งมีส่วนในการช่วยส่งเสริมการผลักดันการพัฒนาและแสวงหาสันติภาพของมนุษยชาติ

เจ้าหน้าที่อาวุโสในศูนย์วิจัยประวัติศาสตร์พรรคฯ ได้ตอบต่อคำถามเกี่ยวกับมาตรการหรือชุดปฏิบัติการที่จะทำความฝัน ให้เป็นจริง ก็คือเป้าหมายในการเพิ่มรายได้ต่อหัวประชากรเป็นเท่าตัวภายในสิบปี (หรือในปี 2020) จากสถิติปี 2011 ที่ระบุรายได้ต่อหัวประชากรจีน อยู่ที่ราว 5,444 เหรียญสหรัฐ ดังนั้น รายได้ต่อหัวประชากรจีน จะทวีถึง 10,000 เหรียญสหรัฐ ทีเดียว

บรรณาธิการจากสื่อมาเลเซียในคณะของเรา พยายามหาคำตอบ “ความฝันจีน” จากปากประชาชนจีน โดยตั้งคำถาม “รู้จัก “ความฝันจีน” ไหม และความฝันของเขาหรือเธอ... คืออะไร” คำตอบที่ได้จากนักศึกษาคนหนึ่ง คือ “อยากไปเรียนต่อเมืองนอก และไม่กลับจีน” คำตอบของไกด์นำเที่ยวคนหนึ่ง คือ“เพิ่งเคยได้ยินความฝันจีนครั้งแรก และความฝันของเธอก็คือ อยากรวย” คำตอบของพนักงานโรงแรมที่อายุ 16 ปี คือ “ได้ยินเล็กน้อยเกี่ยวกับความฝันจีน และตัวเขายังเด็กเกินกว่าที่จะฝัน”

ผู้เขียนก็ได้พยายามสำรวจความฝันของคนจีน ก็พบข้อความโพสต์ในบล็อก “อันดับความหวัง 10 ประการ ของประชาชนจีน” ดังต่อไปนี้

1) ไม่ต้องซื้อนมผงที่เชื่อถือได้จากต่างประเทศอีกต่อไป

2) สามารถซื้ออาหารที่ปลอดภัยในซูเปอร์มาเก็ต

3) พนักงานออฟฟิสไม่ต้องมีชีวิต “เป็นทาสบ้าน” อีกต่อไป

4) มลพิษไม่แย่ลง

5) ช่องว่างรายได้ไม่ขยายอีก

6) คนรวยไม่ต้องโยกย้ายไปอยู่ต่างประเทศ

7) จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ส่งครอบครัวและเงินออกนอก และเผ่นหนีจากประเทศไป จะลดลง

8) ตลาดหุ้นจะเป็นแหล่งที่เพิ่มพูนความมั่งคั่งแก่ประชาชน ไม่ใช่หลุมดำระบายเงิน

9) ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันโดยไม่ต้องอาศัยความสัมพันธ์จากครอบครัว

10) มีความคืบหน้าในการหยุดยั้งการใช้อำนาจในทางมิชอบ

“อันดับความหวัง 10 ประการ ของประชาชนจีน”นี้ ถูกส่งต่อเผยแพร่อย่างน่าประหลาดใจ มีผู้อ่านกว่าแสน สื่อภาษาจีน ทั้งในสิงคโปร์ และฮ่องกง ได้เผยแพร่ข้อความจัดอันดับนี้ เนื่องจาก “โดนใจชาวจีนมั่กมาก”.
จย่า ลี่เจิ้ง (贾立政) บรรณาธิการบริหารของวารสาร People Forum (人民论坛)ในเครือหนังสือพิมพ์ประชาชน ในการประชุมเจรจากับคณะสื่อเอเชียน ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ประชาชนจีน (人民日报/People’s Daily) กรุงปักกิ่ง วันที่ 8 มิ.ย. 2013 (ภาพ ASTVผู้จัดการออนไลน์)
คณะผู้แทนจากสื่อเอเชียนระหว่างการประชุมสัมนาเกี่ยวกับ “ความฝันจีน” ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ประชาชนจีน (人民日报/People’s Daily) กรุงปักกิ่ง วันที่ 8 มิ.ย. 2013 (ภาพ ASTVผู้จัดการออนไลน์)
กำลังโหลดความคิดเห็น