xs
xsm
sm
md
lg

“ความฝันของจีน” สู่การบรรลุสมประโยชน์ ‘win Win’ในภูมิภาคอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

การประชุมเจรจาระหว่างประชาชนระดับสูงจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (China-Southeast Asia High-Level People-to-People Dialogue) ณ นครหนันหนิง เขตปกครองตัวเองชนชาติจ้วงแห่งมณฑลกว่างซี วันที่ 3 มิ.ย. 2556 (ภาพ ซินหวา)
ASTVผู้จัดการออนไลน์—ในต้นเดือนมิ.ย. ทางการจีนโดยหนังสือพิมพ์ประชาชนจีน (人民日报/People’s Daily) ได้จัดเวิร์คช็อปกลุ่มสื่ออาเชียน (亚州主流媒体考察团)/Asian Media Workshop) โดยภารกิจแรกคือ การเข้าร่วมประชุมเจรจาระหว่างประชาชนระดับสูงจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (中国-东南亚民间高端对话会/China-Southeast Asia High-Level People-to-People Dialogue) ณ นครหนันหนิง เขตปกครองตัวเองชนชาติจ้วงแห่งมณฑลกว่างซีซึ่งเป็นประตูสู่อาเซียนของจีน

สำหรับการประชุมระหว่างประชาชนระดับสูงจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 มิ.ย. 2556 ภายใต้หัวเรื่อง “สันติภาพเพื่อการพัฒนา ความร่วมมือเพื่อสมประโยชน์: ความฝันและแรงบันดาลใจร่วมของประชาชน” (Peace for development, cooperation for win-win: A common dream and aspiration for people) มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน ได้แก่ ผู้แทนสื่อจาก 11 ประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา พม่า ลาว เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย เนปาล และอีสต์ ติมอร์ กลุ่มนักวิชาการ บริษัทและค่ายยุวชนจีน-อาเซียน นักวิชาการ บริษัท องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐ
หลิว ฉีเป่า สมาชิกกรมการเมืองแห่งพรคคคอมมิวนิสต์จีน และนายใหญ่แห่งฝ่ายโฆษณาการแห่งพรรคฯ ปราศรัยในพิธีเปิดประชุมเจรจาระหว่างประชาชนระดับสูงจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2556 (ภาพ เหรินหมิน วั่ง)
ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาการกลางพรรคฯ นาย หลิว ฉีเป่า (刘奇葆)ได้ปราศรัยในการพิธีเปิดการประชุมฯ(3 มิ.ย.) ในหัวข้อ “ระดมสมองประชาชน เพื่อการพัฒนาที่สมประโยชน์ทุกฝ่าย” โดยชี้ถึงปัจจัยความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดฉันมิตรและเครือญาติภายในภูมิภาค กอรปรด้วยความสัมพันธ์และผลประโยชน์ที่แนบแน่นและขยายตัวไปมาก อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงบนเวทีโลกที่ทั้งซับซ้อนและลงลึก จีนปรารถนาที่จะจับมือกับบรรดาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรลุความฝันในการรักษาสันติภาพที่ยืนนานและความรุ่งโรจน์ที่ต่างฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ ตามที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ประกาศไว้ใน “ความฝันของจีน” (中国梦/China Dream)ซึ่งระบุแนวคิดยุทธศาสตร์หลักคือ จักบรรลุเป้าหมายในการสร้างประเทศจีนที่รุ่งโรจน์ด้วยวิถีสันติภาพ อารยะ การสร้างประเทศจีนสู่ความรุ่งโรจน์ได้นี้ ก็จะนำโอกาสใหม่ๆแก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลกทั้งมวลด้วยเช่นกัน

หลิว ฉีเป่าได้เสนอแนวทางบ่มเพาะและพัฒนาแบบใหม่ไว้สี่ประการ อันได้แก่ 1) รักษาความเชื่อใจซึ่งกันและกัน ขยายกลไกในการปรึกษาหารือ 2) รักษาความร่วมมือที่สมประโยชน์ต่อกัน 3) รักษาการตรวจสอบซึ่งกันและกันอย่างเสมอภาคและเดินหน้าไปด้วยกัน 4) รักษาสัมพันธภาพระหว่างประชาชน เป็นพื้นฐานในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การค้าจีน-อาเซียนขยายกว่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
ณ ปัจจุบันความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน อันประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา เพิ่มพูนหลายเท่า โดยในปี 2545 มูลค่าการค้าระหว่างจีนและอาเซียน มีเพียง 54,767 ล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับที่ห้าของจีน ขณะที่จีนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับที่สามของอาเซียน กระทั่ง ณ ปลายปี 2555 การค้าระหว่างจีนและอาเซียนขยายถึง 400,100 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 7.3 เท่าระหว่างสิบปีมานี้ โฆษกประจำกระทรวงพาณิชย์จีน นาย เสิ่น ตันหยัง บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “การค้าระหว่างจีนอาเซียนแต่ละปี ขยายด้วยอัตราเร็วกว่า 20 เปอร์เซนต์ ณ ขณะนี้ จีนได้กลายเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับหนึ่งของอาเซียนไปแล้ว”

ระหว่างการประชุมฯ จีนได้เปิดเวทีถกเถียงซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมฯได้ตั้งคำถามและถกกันในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นก็มีปัญหาในการค้าการลงทุนจีนในกลุ่มประเทศอาเชียน

ทั้งนี้จากงานวิจัย “ภาพลักษณ์จีนในสายตาประเทศเพื่อนบ้าน ของ ดร.วรารัก เฉลิมพันธุ์ศักดิ์ แขนงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุ “แม้การรายงานกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) มักเป็นไปแบบเน้นความร่วมมือในดินแดนของตน แต่ก็มีภาพของความขัดแย้งเช่นกัน ทั้งในรูปของประเด็นด้านเขตแดน การทหารและความมั่นคง ไปจนถึงปัญหาจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะการไหล่บ่าของสินค้าราคาถูกจากจีน*

และในการสัมนาพิเศษในหัวเรื่อง “รัฐบาล + เอ็นจีโอ (NGOs) : การผนึกพลังเพื่อการพัฒนาและสันติภาพในภูมิภาค” ที่จัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันเปิดประชุมฯ รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยกกรณีความขัดแย้งจากการลงทุนจีนในประเทศไทย "ในขณะนี้ มีการลงทุนขนาดใหญ่บางโครงการของจีนในเมืองไทยที่สร้างความกังวลและไม่สบายใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะโครงการเหมืองแร่โปแตซของจีนในหลายจังหวัดทางภาคอีสานของไทย เพราะอาจจะสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและมีผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน เนื่องจากยังไม่มีระบบป้องกันหรือวิธีแก้ปัญหาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้เริ่มมีการออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการนี้ของภาคประชาชนและพี่น้องคนไทยในภาคอีสาน

"จึงอยากจะขอฝากให้รัฐบาลจีนได้ร่วมรับทราบข้อกังวลนี้ด้วยความปรารถนาดี ไม่อยากให้เรื่องนี้กระทบภาพลักษณ์ที่ดีระหว่างไทย-จีนต่อไป และขอให้ภาครัฐของจีนได้ร่วมพิจารณาและฝากกระตุ้นเตือนให้นักลงทุนจีนให้ความสำคัญกับการดูแลความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ด้วย ไม่ใช่จะคำนึงถึงเพียงแค่ผลประโยชน์ในทางธุรกิจ หวังเพียงผลกำไร หรือการตักตวงผลประโยชน์กลับไป แต่กลับทิ้งปัญหาไว้ให้คนในท้องถิ่น"

ฝ่ายจีนได้ตอบคำถาม “...แต่ละประเทศต่างก็มีกฎหมายว่าด้วยการลงทุน ซึ่งฝ่ายจีนก็เคารพกฎหมายของแต่ละประเทศ...”

จากคำตอบในหลายประเด็นคำถามในที่ประชุมฯ ดูแล้วจีนยังต้องระดมมาตรการรูปธรรมในการรักษาความร่วมมือที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ แบบ ‘win win’ เพื่อการบรรลุผลอย่างรวดเร็ว มิฉะนั้นแล้ว ใครต่อใครก็คงได้แต่หวังกันต่อไปอีกนานว่า เมื่อไหร่ความฝันของจีนจะกลายเป็นความจริง

“จีนเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด เสมือนบ่อน้ำในที่ใกล้ เราไม่ควรหวังน้ำจากที่ไกล” คือ คำกล่าวเมื่อปี พ.ศ. 2498 ของชาวไทยผู้หนึ่ง คุณ สังข์ พัธโนทัย ที่ได้ทุ่มเทเสี่ยงชีวิตในการผูกมิตรสู่ความสัมพันธ์จีนในยุคการปกครองพรรคคอมมิวนิสต์จีนยุคต้นๆ ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลไทยมีนโยบายต่อต้านจีนตามอเมริกา.

*ภาพลักษณ์จีนในสายตาประเทศเพื่อนบ้าน: บทสำรวจการนำเสนอข่าวสารและภาพลักษณ์จีนในสายตาสื่อหนังสือพิมพ์เพื่อนบ้าน ศึกษาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์ในกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม โดยดร.วรารัก เฉลิมพันธุ์ศักดิ์ แขนงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก.ค.2012
กำลังโหลดความคิดเห็น