เอเอฟพี - บรรดาผู้ผลิตรถยนต์เชื่อมั่นตลาดแดนมังกรยังคงสดใส ไม่หวั่นภาวะเศรษฐกิจซบเซาหรือมาตรการรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายของทางการจีน เร่งปรับกลยุทธ์เจาะกลุ่มวัยรุ่นและสุภาพสตรีมากขึ้น
หลังจากที่ “ออโต้ ไชน่า 2014” (Auto China 2014) มหกรรมจัดแสดงยานยนต์ เปิดฉากอย่างเป็นทางการในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันอาทิตย์ (20 เม.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งเหล่าแบรนด์ดังต่างขนรถยนต์ล้ำสมัยรุ่นใหม่มานำเสนอ อาทิ โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ที่เปิดตัว “พินนาเคิล ทราเวล แฟนทอม” (Pinnacle Travel Phantom) ซีดานสีแดงสลับเงินที่ตกแต่งภายในอย่างหรูหรา สะท้อนค่านิยมความร่ำรวยของชาวจีนในปัจจุบัน
“จีนกลายเป็นตลาดผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของเรา โดยตัวเลขการเติบโตในช่วง 2-3 ปี เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว กินสัดส่วนรายได้ทั้งหมดกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ และแม้ว่าตอนนี้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัว แต่เชื่อว่าในระยะกลาง-ยาวยังคงราบรื่นอยู่ดี” ทอร์สเท็น มูลเลอร์-ออทเวิส (Torsten Muller-Otvos) ซีอีโอของโรลส์-รอยซ์ กล่าว
“เราสามารถสร้างสรรค์ยานพาหนะที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าชาวจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจที่อยากให้รางวัลตัวเองสำหรับความสำเร็จในโลกธุรกิจ”
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ สี จิ้นผิง นั่งเก้าอี้นายใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในเดือน พ.ย. 2555 และขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือน มี.ค.ปีถัดมา เขาได้สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐประหยัดมัธยัสถ์ผ่านนโยบาย “รัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย” และจริงจังกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยบทลงโทษอันเข้มงวด ซึ่งส่งผลกระทบต่อวงธุรกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
นอกจากนั้นเศรษฐกิจที่ซบเซาและการประกาศตัวเลขเป้าหมายของผลิตภัณฑ์มวลรวมแห่งชาติ (GDP) ปี 2557 ในเดือนก่อนไว้ที่ร้อยละ 7.5 ซึ่งต่ำที่สุดในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็เน้นย้ำว่าพญามังกรตัวนี้พยายามลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนอาจเป็นอันตราย
“ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นโยบายรัดเข็มขัดของผู้นำ และการฟาดฟันกรณีทุจริตคอร์รัปชั่น ส่งผลกระทบเชิงลบต่อยอดจำหน่ายรถยนต์ระดับบนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” เจมส์ อู๋ ผู้เชี่ยวชาญตลาดยานยนต์ของ Ernst & Young กล่าว
“เบนท์ลี่ย์ (Bentley) และแลมโบกินี่ (Lamborghini) รายงานว่า ยอดจำหน่ายรถปี 2556 ในจีนลดลงเมื่อเทียบรายปี”
“แต่ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนยังคงรักษาระดับได้ดี โดยมีผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ สัญชาติเยอรมัน ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู, เมอร์ซิเดส-เบนซ์ และออดี้ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาด”
อู๋กล่าวว่าทั้งสามแบรนด์ต่างมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นในปีก่อน โดยบีเอ็มฯ เพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ 18 เปอร์เซ็นต์ และออดี้ 21 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งออดี้ที่กุมส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ขายรถยนต์ได้เกือบ 492,000 คันในปี 2556 และคาดการณ์ว่าจะทะลุ 500,000 คัน ในปี 2557
ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ ทำให้บรรดาผู้ผลิตเร่งปรับกลยุทธ์การตลาด โดยเฉพาะนโยบายทางการเมืองที่จำกัดพลังการซื้อของเจ้าหน้าที่รัฐบาล โดยออดี้หันไปสนใจกลุ่มวัยรุ่น สุภาพสตรี และนักขับที่ซื้อรถไปขับขี่เพื่อพักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น
“กลุ่มลูกค้าในอดีตมักเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเราเป็นผู้จัดสรรรถยนต์รายใหญ่ให้กับทางการจีน” โดมินิค บอสช์ (Dominique Boesch) หัวหน้าฝ่ายขายประจำประเทศจีนกล่าว
“แต่ปัจจุบันเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ กลับเป็นคนทั่วไปที่มีฐานะร่ำรวย โดยราว 70 เปอร์เซ็นต์ อายุน้อยกว่า 40 ปี”
ทางด้านคู่แข่งอย่างจากัวร์ แลนด์ โรเวอร์ (Jaguar Land Rover) ของอังกฤษ ก็ปรับเปลี่ยนแผนการตลาดอย่างทันท่วงที โดยแอนดี้ กอสส์ (Andy Goss) หัวหน้าการฝ่ายขายกล่าวว่า “จีนกลายเป็นตลาดลำดับต้นๆ ของแลนด์ โรเวอร์ และจากัวร์ในปีที่ผ่านมา”
“เราเสนอตัวเลือกที่แตกต่างจากแบรนด์เยอรมัน” เขากล่าว โดยเสริมว่าบริษัทกำลังจะเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่เป็นร่วมลงทุนระหว่างประเทศภายในปีนี้
ขณะเดียวกันพวกเขาก็เริ่มเบนเข็มกลุ่มลูกค้าไปยังภูมิภาคกำลังพัฒนาอื่นๆ ในจีน เปลี่ยนจากเดิมที่อยู่แต่ในเมืองใหญ่ตามแนวชายฝั่งทางตะวันออกเข้าไปยังพื้นที่ฝั่งตะวันตกของประเทศ ซึ่ง McKinsey บริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เคยประเมินไว้ว่า จีนจะขึ้นแท่นเป็นเจ้าตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2559 นี้