เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - จีนปลดหัวหน้าใหญ่คุมการลงทุนในฮ่องกงออกจากเก้าอี้ หลังนักข่าวแฉพฤติกรรมชู้สาวและทุจริตคอร์รัปชั่นสุดอื้อฉาว
ซินหวา สื่อทางการจีน รายงานว่า รัฐบาลกลางมีคำสั่ง (19 เม.ย.) ปลดนายซ่ง หลิน วัย 51 ปี ออกจากตำแหน่งประธานบริษัทไชน่า รีซอร์สเซส โฮล์ดดิ้งส (China Resources Holdings) รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่แดนมังกร หลังพบข้อกล่าวหา “ละเมิดระเบียบวินัยพรรคฯ และฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง” ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในบรรดาผู้บริหารกิจการรัฐระดับอาวุโสที่ต้องหมดอำนาจเพราะการทุจริตคอร์รัปชั่น
คำสั่งปลดครั้งนี้เกิดขึ้นหลังการเผยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์ในวันอังคาร (15 เม.ย.) ซึ่งกล่าวหาซ่งว่าเกี่ยวข้องกับกรณีชู้สาวและการใช้อำนาจในทางที่ผิด โดยมีนักข่าวจีนแผ่นดินใหญ่ 2 ราย ที่พยายามกดดันรัฐบาลให้จัดการพฤติกรรมอันไม่ชอบมาพากลของซ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก
หวัง เหวินจื้อ นักหนังสือพิมพ์เครือซินหวา ได้โพสต์ข้อความเมื่อสี่วันก่อนว่า นายซ่งลักลอบมีความสัมพันธ์ลับกับเฮเลน หยัง ลี่จวน นักธนาคารอาวุโสของธนาคารยูบีเอส (UBS) บนเกาะฮ่องกง ซึ่งฝ่ายหญิงได้ให้ความช่วยเหลือด้านการฟอกเงินอีกด้วย โดยซ่งออกมาโต้แย้งข้อกล่าวหาทั้งหมดในทันที ทว่าคืนวันพฤหัสบดี (17 เม.ย.) หน่วยปราบคอร์รัปชั่นของรัฐบาลจีนก็ประกาศดำเนินการสอบสวนเรื่องราวอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ในปี 2556 หลี่ เจี้ยนจวิน นักข่าวจีนอีกรายเริ่มต้นแฉความประพฤติของนายซ่ง โดยเฉพาะการทุจริตในโครงการสำรวจแหล่งถ่านหินของมณฑลซานซี สมทบกับการเปิดเผยข้อมูลของหวังในเดือน ก.ค. ทำให้คณะกรรมการกลางตรวจสอบวินัยแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCDI) เปิดการไต่สวนความจริง โดยหลี่ระบุว่าซีซีดีไอเริ่มสืบสาวกรณีอื้อฉาวนี้ตั้งแต่เดือน พ.ย. เป็นต้นมา
“เมื่อหวัง เหวินจื้อ แฉความสัมพันธ์ของนายซ่งกับนักธนาคารหญิงในฮ่องกง หน่วยปราบทุจริตก็ใช้เป็นโอกาสประกาศการสอบสวนอย่างเป็นทางการ” หลี่กล่าว
“เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงคนอื่นๆ ก็มีเอี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย” ข้อความที่หลี่กล่าวผ่านเว็บไมโครบล็อคส่วนตัว
ทางด้านไชน่า รีซอร์สเซสฯ ระบุว่า บริษัทพร้อมให้ความร่วมมือกับการสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่
อนึ่ง ซ่ง หลิน ทำงานที่ไชน่า รีซอร์สเซสฯ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีบริษัทลูกจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และลงทุนกิจการจำนวนมากบนเกาะฮ่องกง มานานกว่า 30 ปีแล้ว ทั้งนี้เขากลายเป็นเหยื่อคนที่สองของการเปิดโปงความผิดจากนักข่าว โดยเหยื่อรายแรกคือนายหลิว เทียหนัน อดีตรองหัวหน้าคณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติของจีน ซึ่งถูกปลดจากตำแหน่งเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว