เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - สืบเนื่องจากกรณีการประกาศจัดตั้ง “เขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ” (Air Defence Identification Zone: ADIZ) เหนือน่านน้ำทะเลจีนตะวันออก ซึ่งทำให้จีนสามารถเฝ้าสังเกต ติดตาม และกำกับควบคุมอากาศยานทุกลำที่บินผ่านน่านฟ้าดังกล่าว
ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารเผย การตัดสินใจจัดตั้งเขต ADIZ ของแดนมังกรครั้งนี้ เป็นเพราะมีความมั่นใจในศักยภาพทางเทคโนโลยีทางการทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) โดยเฉพาะระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ได้รับการยกระดับและพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าในอดีต
รายงานข่าว (28 พ.ย.) อ้างอิงคำสัมภาษณ์ สีว์ กวงอี้ว์ อดีตนายทหารระดับสูงของกองทัพจีน ระบุว่า เป็นระยะเวลาหลายปีที่จีนต้องพบอุปสรรคในการแก้ไขปรับปรุงระบบการทำงานทางการทหารของตนเอง เนื่องจากชาติตะวันตกพากันดำเนินมาตรการกีดกันจีนออกจากวงการค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ หลังเกิดเหตุจลาจลครั้งใหญ่ขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532
“ทว่าในที่สุดราว 20 ปีต่อมา จีนก็พรั่งพร้อมด้วยเครื่องมือและกำลังบุคคลที่จะกำหนดเขต ADIZ ขึ้นมา อันเป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าจีนไม่เพียงตระหนักรู้ปกป้องสิทธิ์ทางทะเลและทางอากาศ แต่ยังแสดงถึงสมรรถภาพทางเทคโนโลยีการทหารอีกด้วย”
“ระบบป้องกันภัยทางอากาศของกองทัพจีนได้รับการพัฒนาปรับปรุงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะความสำเร็จของการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า การลาดตระเวน และการตรวจตราทางอากาศ ช่วยให้สามารถจัดการกับอากาศยานต่างชาติทุกประเภทที่บินเข้าสู่เขต ADIZ ของจีนได้” สีว์กล่าว
ทั้งนี้ นอกเหนือจากสหรัฐฯ รัสเซีย และอิสราเอลแล้ว จีนเป็นประเทศที่ 4 ที่ใช้งานระบบควบคุมและเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดยกองทัพจีนเอง โดยในปี 2552 ทัพฟ้าจีนได้เปิดตัวเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้ารุ่น KJ-200 และรุ่น KJ-2000 สู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก ทว่าไม่มีรายงานจำนวนที่แน่นอนว่าจีนครอบครองอยู่เท่าใด
ขณะที่ต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา รูปภาพของเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นรุ่นถัดไปของกองทัพจีน ก็ปรากฏโฉมบนหน้าเว็บไซต์กองทัพจีนด้วยเช่นกัน โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป็นรุ่น KJ-500 ที่มีขนาดเล็กและว่องไวกว่ารุ่นก่อนหน้านี้
หลี่ เจี๋ย ผู้เชี่ยวชาญของกองทัพเรือในปักกิ่ง กล่าวว่า นอกจากเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าลำใหม่แล้ว จีนยังมีเครื่องบินสู้รบอีกหลากหลายประเภทที่ช่วยให้จีนมีสถานะเหนือกว่าคู่แข่งในภูมิภาคอย่างกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น (the Japan Self-Defense Forces) แล้ว
ทางด้าน แอนโทนี่ หวัง ตง ผู้สังเกตการณ์ด้านการทหารในมาเก๊า เผยว่า กองทัพอากาศของญี่ปุ่นนั้น ดูมีประสบการณ์มากกว่ากองทัพจีน เพราะมีการซักซ้อมรบร่วมกันกับสหรัฐฯ อยู่เป็นประจำ และกองทัพจีนเองก็กำลังอยู่ในช่วงทำให้ตัวเองทันสมัยมากขึ้น คงต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และบูรณาการแต่ละภาคส่วนของกองทัพเข้าไว้ด้วยกัน