เอเจนซีส์ - เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบบี-52 ของอเมริกา 2 ลำ บินผ่านเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของจีนโดยไม่แจ้งล่วงหน้า โดยที่ปักกิ่งไม่ได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้เผชิญหน้าแต่อย่างใด ขณะที่สายการบินพาณิชย์ญี่ปุ่นก็กลับลำหันมาปฏิเสธกฎใหม่ของแดนมังกรเช่นเดียวกันในวันพุธ (28 พ.ย.) อย่างไรก็ตาม ทางการจีนยังยืนยันว่ามีความสามารถที่จะบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของตน
การที่สหรัฐฯ ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลขนาดยักษ์บินผ่านเข้ามาเช่นนี้ คือการส่งสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนว่าวอชิงตันจะท้าทายและผลักดันกลับในสิ่งที่วอชิงตันเห็นว่าเป็นจุดยืนอันก้าวร้าวของปักกิ่งในภูมิภาคแถบนี้
ปฏิกิริยาตอบโต้แบบไม่เผชิญหน้าของแดนมังกรคราวนี้ ก่อให้เกิดเสียงดูหมิ่นดูแคลนจากนักวิเคราะห์และชาวเน็ตจีนจำนวนหนึ่งว่า เป็นการแสดงความอ่อนแอ ทว่า พวกนักวิเคราะห์อื่นๆ มองว่า ในทางเป็นจริงแล้วปักกิ่งอาจจะไม่เคยมีความตั้งใจที่จะบังคับให้นานาชาติยอมรับเขตของตนด้วยวิธีใช้กำลัง
“รัฐบาลจีนมีเจตจำนงและความสามรถในการปกป้องคุ้มครองอธิปไตยแห่งชาติและความมั่นคงของเรา” ฉิน กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวตามปกติเมื่อวันพุธ และบอกด้วยว่า “เรามีความสามารถที่จะดำเนินการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพเหนือเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศในทะเลจีนตะวันออกเช่นกัน”
ครั้นเมื่อถูกถามว่าจะตอบโต้การล่วงละเมิด ADIZ ในอนาคตอย่างไร ฉินตอบว่า ปักกิ่งจะตอบโต้อย่างเหมาะสม ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และระดับการคุกคาม
จีนประกาศและบังคับใช้ ADIZ ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย ครอบคลุมอาณาบริเวณเกือบทั้งหมดของทะเลจีนตะวันออก ซึ่งรวมถึงหมู่เกาะเซงกากุที่อยู่ในความควบคุมของญี่ปุ่น แต่จีนอ้างสิทธิ์เช่นกันและเรียกว่าเตี้ยวอี๋ว์
ทั้งนี้ เขต ADIZ ไม่ใช่น่านฟ้าหรือเขตอธิปไตย และก็ไม่ใช่เขตห้ามบิน แต่เป็นมาตรการที่ชาติใหญ่จำนวนหนึ่งประกาศ โดยอ้างว่าเพื่อจุดประสงค์ที่จะมีเวลาเตรียมตัวรับมือเมื่อมีอากาศยานไม่ทราบฝ่ายบินตรงเข้ามา โดยที่สหรัฐฯ ได้ประกาศพื้นที่เช่นนี้รวม 4 เขต ได้แก่ รอบๆ ดินแดนของสหรัฐฯบนภาคพื้นทวีป, อะแลสกา, ฮาวาย และเกาะกวม เช่นเดียวกับญี่ปุ่นซึ่งประกาศเขต ADIZ มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 รวมทั้งเพิ่งขยายเขตดังกล่าวไปทางตะวันตกอีกราว 22 ก.ม.เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาด้วย
อย่างไรก็ดี เอเอฟพีบอกว่า มีข้อแตกต่างระหว่างเขต ADIZ ของจีนและญี่ปุ่นตรงที่ว่า แดนมังกรกำหนดให้เครื่องบินทุกลำที่บินผ่านเขตดังกล่าวของตนในทะเลจีนตะวันออก ต้องแสดงตนด้วยการระบุสัญชาติ ส่งแผนการบินให้จีน และคงการสื่อสารผ่านระบบวิทยุสองทางเอาไว้ ขณะที่แดนอาทิตย์อุทัยไม่ได้เรียกร้องเช่นนี้ เว้นแต่เครื่องบินที่กำลังจะลงจอดในญี่ปุ่น
พ.อ.สตีฟ วอร์เรน โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงว่า เครื่องบินบี-52 ทั้ง 2 ลำที่ไม่ได้ติดอาวุธ บินผ่านเหนือหมู่เกาะเซงกากุ ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่เขต ADIZ ของจีน โดยเป็นการฝึกซ้อมปกติตามกระบวนการที่วางแผนไว้นานแล้ว ซึ่งรวมถึงการไม่แจ้งแผนการบิน ไม่ติดต่อทางวิทยุล่วงหน้า หรือลงทะเบียนคลื่นความถี่
ทั้งนี้ บี-52 ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นที่ใช้งานมานานหลายสิบปี มีความเร็วต่ำกว่าเครื่องบินรบรุ่นปัจจุบันมาก และยังถูกตรวจจับง่ายกว่าเครื่องบินทหารสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์ “สเตลท์”
ทางด้านกระทรวงกลาโหมจีนกล่าวถึงเรื่องนี้เพียงว่า กองทัพแดนมังกรได้เฝ้าติดตามเครื่องบินทิ้งระเบิดของอเมริกาขณะบินผ่าน ADIZ เมื่อวันอังคารอย่างใกล้ชิด โดยสามารถระบุยืนยันว่าเป็นเครื่องบินอะไรประเภทไหนได้อย่างทันการณ์ ทว่าไม่ได้แสดงความรู้สึกเสียใจหรือโกรธเกรี้ยวอะไร
ขณะที่ทางฝ่ายสหรัฐฯ สำทับว่า เครื่องบินของตนไม่ได้รับการติดต่อหรือถูกติดตามจากเครื่องบินจีนแต่อย่างใด
ในเวลาเดียวกัน หลังได้ถูกกดดันจากรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว สายการบินของญี่ปุ่น ทั้ง เจแปน แอร์ไลน์ และ เอเอ็นเอ โฮลดิงส์ แถลงว่า ได้ยุติการส่งแผนการบินและข้อมูลอื่นๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่จีนตั้งแต่วันพุธ โดยที่เที่ยวบินของทั้งสองบริษัทไม่ประสบปัญหาใดๆ เมื่อบินผ่าน ADIZ
สมาคมอุตสาหกรรมการบินญี่ปุ่นสรุปว่า การเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของจีนไม่เป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร โดยทั้งเจเอแอลและเอเอ็นเอต่างแจ้งข่าวการตัดสินใจนี้บนเว็บไซต์ของบริษัท
สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้สร้างความขุ่นเคืองให้แก่คนจีนจำนวนไม่น้อย ซุน เจ๋อ อาจารย์ของศูนย์ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน มหาวิทยาลัยชิงหวาในกรุงปักกิ่งแสดงความคิดเห็นว่า หากเครื่องบินอเมริกันบินผ่าน ADIZ ของจีนโดยไม่แจ้งล่วงหน้าอีก 2-3 เที่ยว จีนจะถูกบังคับให้ตอบโต้ และอาจอับอายขายหน้า หากทำได้เพียงสงครามปาก
เช่นเดียวกับพวกชาวเน็ตแดนมังกรหลายราย ซึ่งแสดงความเห็นในเว็บไซต์ ซิน่า เว่ยโป๋ โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลจีนออกอาการอ่อนปวกเปียก เมื่อถูกสหรัฐฯท้าทาย
กระนั้น นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า ปักกิ่งเองยังคลุมเครือว่าจะแสดงออกซึ่งอำนาจบังคับของตนในกรณีนี้อย่างไร และอาจไม่ได้มีความตั้งใจเลยที่จะแสดงปฏิกิริยาในภาคสนามจริง โดยอาจเพียงต้องการประกาศเขต ADIZ เพื่อให้ทัดเทียมกับญี่ปุ่นซึ่งได้เคยประกาศเขตเช่นนี้มานานแล้ว ตลอดจนเป็นการย้ำยืนยันการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนทำท่าอาจจะส่งเสริมแนวทางแข็งกร้าวของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ในการเสริมสร้างกำลังทางทหารและผ่อนคลายข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกี่ยวกับกองกำลังทหารของญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์โยมิอุริ ชิมบุงฉบับวันพุธรายงานโดยไม่เปิดเผยแหล่งข่าวว่า กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นกำลังพิจารณาขยาย IDIZ ของตนในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงนำเครื่องบินขับไล่ไปประจำการในฐานทัพบริเวณดังกล่าว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ โฆษกกระทรวงกลาโหมเผยว่า รัฐบาลมีจุดยืนชัดเจนในการปกป้องดินแดนของประเทศ แต่ไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องขยาย ADIZ แต่อย่างใด