xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน-ญี่ปุ่น’เรียกทูตอีกปท.มาประท้วง โซล-ไทเปร่วมค้าน‘น่านฟ้าใหม่’ปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องบินตรวจการณ์แบบ PC3 ของกองกำลังป้องกันตนเองทางเรือ (กองทัพเรือ) ญี่ปุ่น บินผ่านหมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์ ในทะเลจีนตะวันออก ในภาพนี้ซึ่งสำนักข่าวเกียวโดถ่ายเอาไว้ในวันที่ 13 ต.ค. 2011 ทั้งนี้จีนเพิ่งประกาศเขตป้องกันภัยทางอากาศของตน ซึ่งครอบคลุมหมู่เกาะแห่งนี้ด้วย จึงทำให้อุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างยักษ์ใหญ่เอเชียสองรายนี้พุ่งสูงปริ๊ด
เอเจนซีส์ - จีน-ญี่ปุ่นต่างฝ่ายต่างเร่งอุณหภูมิในกรณีพิพาททางดินแดนเมื่อวันจันทร์ (25 พ.ย.) ด้วยการเรียกเอกอัครราชทูตของอีกประเทศหนึ่งมารับฟังการประท้วง สืบเนื่องจากการประกาศ “เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ” ของปักกิ่งที่ครอบคลุมหมู่เกาะเล็กๆ ที่แย่งชิงกรรมสิทธิ์กันอยู่ ไม่เพียงเท่านั้น ทางด้านเกาหลีใต้และไต้หวันก็กำลังเข้ามาสมทบเพิ่มความตึงเครียด อย่างไรก็ดี แม้ประเทศทั้งหมดนี้ไม่ยอมรับมาตรการตามอำเภอใจของพญามังกร แต่ต่างแนะนำให้สายการบินพาณิชย์ของตนแจ้งจีนเมื่อต้องบินผ่านบริเวณดังกล่าว

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แถลงต่อรัฐสภาญี่ปุ่นในวันจันทร์ โดยแสดง “ความกังวลอย่างแรงกล้า” กับ “การกระทำอันมีอันตรายอย่างล้ำลึก” ของจีน ในการบังคับให้ประเทศอื่นๆ ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของตน ซึ่งอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ และเสริมว่า โตเกียวจะขอให้ปักกิ่งอดกลั้น และสานต่อการร่วมมือกับนานาชาติ

นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้นำแดนอาทิตย์อุทัยแสดงความเห็นเกี่ยวกับการประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของจีนเมื่อวันเสาร์ (23) ซึ่งกำหนดให้เครื่องบินทุกลำที่บินผ่านพื้นที่น่านฟ้าทะเลจีนตะวันออกในบริเวณที่แดนมังกรกำหนด ต้องแสดงตัวตนด้วยการระบุสัญชาติ ส่งแผนการบิน และคงการสื่อสารผ่านระบบวิทยุสองทางเอาไว้

เขต ADIZ ของจีนนี้ ครอบคลุมหมู่เกาะเล็กๆ ที่ญี่ปุ่นควบคุมอยู่และเรียกชื่อว่า เซงกากุ โดยที่จีนอ้างสิทธิ์เช่นกันและขนานนามว่าเตี้ยวอี๋ว์ โดยที่บริเวณตรงนี้พวกเรือและเครื่องบินของญี่ปุ่นกับจีนก็ได้มีการเคลื่อนไหวไล่ตามกันไปมา ในการเผชิญหน้าที่เสี่ยงต่อการคำนวณผิดพลาดหรืออุบัติเหตุซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งลุกลาม และดึงอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันเสาร์ว่า วอชิงตันกังวลอย่างมากกับมาตรการของจีนที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่ตั้งใจซึ่งอาจลุกลามรุนแรง ขณะที่ ชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกันย้ำว่า เกาะเซงกากุนั้นอยู่ในข่ายความคุ้มครองตามสนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่าวอชิงตันจะเข้าปกป้องคุ้มครองโตเกียวในกรณีที่ดินแดนนี้ถูกโจมตี

ในวันจันทร์ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นประกาศย้ำว่าไม่ยอมรับมาตรการฝ่ายเดียวของจีน พร้อมทั้งเรียก เฉิง หย่งหวา เอกอัครราชทูตจีนเข้ารับฟังการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าวซึ่งมีผลตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา ทว่า กลับถูกตอกหน้าว่า โตเกียวต่างหากที่ควรยกเลิก “ข้อเรียกร้องไร้เหตุผล”

นอกจากนั้น เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงปักกิ่ง ก็ถูกกระทรวงการต่างประเทศจีนเรียกตัวไปพบ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า แดนอาทิตย์อุทัยไม่ควรที่จะแสดง “ความคิดเห็นอย่างไร้ความรับผิดชอบ” เกี่ยวกับการจัดตั้งเขต ADIZ ของแดนมังกร

ไม่เพียงเท่านั้น กระทรวงกลาโหมจีนแถลงว่า ได้ยื่นเรื่องประท้วงคำวิจารณ์ของวอชิงตันและโตเกียวผ่านสถานทูตอเมริกันและญี่ปุ่น โดยยืนยันว่า เขตป้องกันภัยทางอากาศใหม่ของจีนนี้ เป็นไปตามกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ และเรียกร้องว่า วอชิงตันต้องไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่แสดงความคิดเห็นอย่างไม่เหมาะสม และไม่ส่งสัญญาณผิดๆ แก่โตเกียว รวมทั้งไม่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง

ก่อนหน้านี้เมื่อวันเสาร์ กระทรวงกลาโหมแดนมังกรยังระบุว่า อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อบังคับใช้เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศเพิ่มเติม ซึ่งแม้ไม่ได้ระบุรายละเอียด แต่เชื่อกันว่าน่าจะครอบคลุมทะเลจีนใต้ที่อุดมด้วยทรัพยากรพลังงาน

โกลบัล ไทมส์ หนังสือพิมพ์ที่ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนฉบับวันจันทร์ ได้รับลูกด้วยการลงบทบรรณาธิการโจมตีว่า ญี่ปุ่นมือถือสากปากถือศีลและหยาบคายที่ร้องเรียนเรื่องเขตป้องกันภัยทางอากาศใหม่ของจีน และสำทับว่า หากญี่ปุ่นส่งเครื่องบินรบมารบกวนเครื่องบินรบของจีน กองทัพจีนมีหน้าที่ตอบโต้ด้วยมาตรการป้องกันฉุกเฉิน

นอกจากหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์แล้ว ส่วนหนึ่งของเขต ADIZ นี้ยังครอบคลุมแนวหินที่เกาหลีใต้ควบคุมและจีนอ้างสิทธิ์ทับซ้อน

กระทรวงกลาโหมโสมขาว จึงได้เรียกผู้ช่วยทูตทหารจีนเข้าพบในวันจันทร์ เพื่อยืนยันว่า เกาหลีใต้ไม่ยอมรับเขตป้องกันภัยทางอากาศดังกล่าว

ที่ไทเป รัฐบาลประกาศปกป้องอธิปไตยของไต้หวันเหนือหมู่เกาะเซงกากุ ซึ่งทางการไต้หวันเรียกชื่อว่า “เตี้ยวอี่ว์ไถ” เช่นเดียวกัน

จีนนั้นมีข้อพิพาทด้านดินแดนกับชาติเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคหลายรายทั้งในบริเวณทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ แต่กรณีที่รุนแรงที่สุดในเวลานี้คือความขัดแย้งกับญี่ปุ่นที่หยั่งรากมาหลายสิบปี และระเบิดขึ้นในเดือนกันยายนปีที่แล้ว เมื่อโตเกียวซื้อหมู่เกาะเซงกากุ จากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมที่เป็นเอกชนชาวญี่ปุ่น โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้นักชาตินิยมในประเทศซื้อหมู่เกาะดังกล่าว อันจะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น ทว่า ปักกิ่งไม่เออออด้วย และความสัมพันธ์สองชาติตกต่ำถึงขีดสุดนับแต่นั้น

เทตสึโร คาโตะ ศาสตราจารย์เกียรติคุณของมหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิ ในโตเกียวมองว่า ในการประกาศเขต ADIZ นั้น เจตนาของจีนจริงๆ แล้วอยู่ที่พยายามทำให้ญี่ปุ่นยอมรับว่า ในทางเป็นจริงทั้งสองประเทศมีข้อพิพาทด้านดินแดนกันอยู่ในเรื่องหมู่เกาะเซงกากุ รวมทั้งบีบให้ญี่ปุ่นยอมรับข้อตกลงงดพูดถึงกรณีพิพาทนี้ตามที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อกลางทศวรรษ 1970

อย่างไรก็ดี แม้ประเทศคู่กรณีทั้งหมดยืนกรานไม่ยอมรับมาตรการตามอำเภอใจของปักกิ่ง แต่เพื่อระวังไว้ก่อน หน่วยงานด้านการบินของทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ต่างแนะนำให้สายการบินพาณิชย์ของตนแจ้งแผนการบินต่อจีนหากต้องการบินเหนือทะเลจีนตะวันออก
กำลังโหลดความคิดเห็น