xs
xsm
sm
md
lg

นานาชาติรุมค้าน ‘เขตป้องกันภัย’ จีน แต่สายการบินญี่ปุ่นยินยอมอ่อนข้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมู่เกาะเซ็งกากุ หรือ เตี้ยวอี๋ว์ ในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งทั้งโตเกียวและปักกิ่งต่างแย่งกันเป็นเจ้าของ
เอเอฟพี - หลายประเทศร่วมขบวนแดนอาทิตย์อุทัย วิพากษ์วิจารณ์พญามังกรว่า พยายามกำหนดเขตควบคุมใหม่บนน่านฟ้าเสรี อย่างไรก็ตาม สายการบินชั้นนำของญี่ปุ่นเองกลับแถลงในวันอังคาร (26 พ.ย.) ว่ายินยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของจีน เมื่อบินผ่านเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศเหนือทะเลจีนตะวันออก

แอร์ นิปปอน แอร์เวย์ส (เอเอ็นเอ) สายการบินใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่น แถลงว่า ตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ (24 พ.ย.) แล้ว ตนได้ส่งแผนการบินของเที่ยวบินที่จะบินผ่านบริเวณดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่จีนตามที่ปักกิ่งกำหนด เช่นเดียวกับ พีช เอวิเอชัน ซึ่งเป็นสายการบินในเครือ

การเปิดเผยนี้มีขึ้นหลังจากที่เจแปน แอร์ไลนส์ สายการบินแห่งชาติของแดนอาทิตย์อุทัย ได้ระบุไปแล้วว่า ปฏิบัติตามกฎที่จีนประกาศและบังคับใช้ทันทีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (23)

เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของจีน ครอบคลุมอาณาบริเวณเกือบทั้งหมดของทะเลจีนตะวันออก ซึ่งรวมถึงหมู่เกาะเซงกากุที่อยู่ในความควบคุมของญี่ปุ่น แต่จีนอ้างสิทธิ์เช่นกันและเรียกว่าเตี้ยวอี๋ว์

ทั้งนี้ เขต ADIZ ไม่ใช่น่านฟ้าหรือเขตอธิปไตย และก็ไม่ใช่เขตห้ามบิน แต่เป็นมาตรการที่ชาติใหญ่จำนวนหนึ่งประกาศ โดยอ้างว่าเพื่อจุดประสงค์ที่จะมีเวลาเตรียมตัวรับมือเมื่อมีอากาศยานไม่ทราบฝ่ายบินตรงเข้ามา ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศพื้นที่เช่นนี้รวม 4 เขต ได้แก่ รอบๆ ดินแดนของสหรัฐฯบนภาคพื้นทวีป, อะแลสกา, ฮาวาย, และเกาะกวม เช่นเดียวกับญี่ปุ่นซึ่งประกาศเขต ADIZ มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 รวมทั้งเพิ่งขยายเขตดังกล่าวไปทางตะวันตกอีกราว 22 ก.ม.เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาด้วย

อย่างไรก็ดี เอเอฟพีบอกว่า มีข้อแตกต่างระหว่างเขต ADIZ ของจีนและญี่ปุ่นตรงที่ว่า แดนมังกรกำหนดให้เครื่องบินทุกลำที่บินผ่านเขตดังกล่าวของตนในทะเลจีนตะวันออก ต้องแสดงตนด้วยการระบุสัญชาติ ส่งแผนการบินให้จีน และคงการสื่อสารผ่านระบบวิทยุสองทางเอาไว้ ขณะที่แดนอาทิตย์อุทัยไม่ได้เรียกร้องเช่นนี้ เว้นแต่เครื่องบินที่กำลังจะลงจอดในญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นนั้นได้แสดงการคัดค้านการประกาศของจีนอย่างสุดแรง โดยเมื่อวันจันทร์ (25) ได้เรียกเอกอัครราชทูตจีนเข้าพบเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า เป็นการคุกคามเสรีภาพในการบิน แต่ถูกตอกกลับว่า โตเกียวต่างหากที่ควรเลิกเรียกร้องไร้เหตุผล

ต่อมาในวันอังคาร (26) นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ พร้อมรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่น ร่วมกันประณามความพยายามของจีนในการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมในภูมิภาค “ด้วยการบังคับตามอำเภอใจ”

“เราและประชาคมนานาชาติขอเรียกร้องให้จีนแก้ไขเรื่องนี้" โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวกับผู้สื่อข่าว

อากิฮิโร โอตะ รัฐมนตรีคมนาคมยืนยันอีกแรงว่า การประกาศของจีนไม่ถูกต้อง และเรียกร้องให้สายการบินญี่ปุ่นเพิกเฉย

ทว่า สายการบินชั้นนำของญี่ปุ่นเผยว่า จำเป็นต้องเลือกแนวทางปลอดภัยไว้ก่อน ด้วยการปฏิบัติตามกฎของจีน

นอกจากนั้น เขตป้องกันภัยทางอากาศใหม่ของจีนยังครอบคลุมเหนือน่านน้ำที่ไต้หวันและเกาหลีใต้อ้างสิทธิ์เช่นเดียวกัน และสองประเทศได้แสดงการคัดค้านมาตรการดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ดี สำนักงานการบินพลเรือนของไต้หวัน (ซีเอเอ) แถลงว่า สายการบินของไต้หวันจะปฏิบัติตามกฎของจีน โดยซีเอเอได้เริ่มจัดส่งแผนการบินไปให้สำนักงานการบินของจีนแล้ว

ขณะที่สายการบินของเกาหลีใต้อย่าง โคเรียน แอร์ และ เอเชียนา แอร์ไลน์ยืนกรานว่า เที่ยวบินที่บินผ่านทะเลจีนตะวันออกจะไม่รายงานตัวล่วงหน้ากับจีน เว้นแต่กระทรวงคมนาคมเกาหลีใต้มีแนวทางนโยบายใหม่ออกมา

นอกจากประเทศคู่กรณีที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเขตป้องกันภัยทางอากาศใหม่ของจีนแล้ว ยังมีอีกหลายชาติที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการฝ่ายเดียวของพญามังกร

วันอังคาร ออสเตรเลียเปิดเผยว่า ได้เรียกเอกอัครราชทูตจีนเข้าพบเพื่อแสดงความเห็นว่า จังหวะเวลาและรูปแบบการประกาศของจีนไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อสถานการณ์ตึงเครียดในภูมิภาคในปัจจุบัน รวมทั้งไม่ส่งเสริมเสถียรภาพของภูมิภาค

“ออสเตรเลียคัดค้านอย่างชัดเจนต่อมาตรการบีบบังคับหรือมาตรการฝ่ายเดียวใดๆ ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมในทะเลจีนตะวันออก” จูลี บิชอป รัฐมนตรีต่างประเทศสำทับ

ทางด้านรัฐบาลเยอรมนีขานรับว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะระหว่างจีนกับญี่ปุ่น

ก่อนหน้านั้น วอชิงตันย้ำอีกครั้งว่า หมู่เกาะเซงกากุอยู่ในขอบเขตสนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ซึ่งกำหนดให้อเมริกาเข้าแทรกแซงหากโตเกียวถูกโจมตี

“การประกาศมาตรการนี้ของรัฐบาลจีนเป็นการยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น” จอช เอิร์นเนสต์ รองโฆษกทำเนียบขาวให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจาก “แอร์ ฟอร์ซ วัน” เครื่องบินประจำตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ในทางกลับกัน เขตป้องกันภัยทางอากาศใหม่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาวจีน โดยผลสำรวจของโกลบัล ไทมส์ของทางการปักกิ่งพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 85% เชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยรักษาความปลอดภัยของน่านฟ้าจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น