เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซเผย โรงไฟฟ้าถ่านหินที่จีนเร่งก่อสร้างอยู่นั้น อาจกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ที่พร้อมเข่นฆ่าประชาชนแดนมังกรนับหมื่นรายในอนาคต
สื่อจีนอ้างอิงผลงานวิจัยด้านมลพิษทางอากาศของ ดร.แอนดรูว์ เกรย์ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศจากสหรัฐฯ ซึ่งมีองค์กรกรีนพีซ (Greenpeace) เป็นผู้สนับสนุนโครงการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพอันมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีการปล่อยฝุ่นพิษขนาดเล็ก หรือ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน
รายงานข่าว (28 ส.ค.) กล่าวถึงผลการวิจัยฯ ที่ระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่ทยอยก่อสร้างขึ้นในก่วงตง มณฑลทางตอนใต้ของจีน อาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ประชาชนท้องถิ่น 16,000 คน ต้องจบชีวิตลงภายในระยะเวลา 40 ปีข้างหน้า ซึ่งจำนวน 2 ใน 3 มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน มะเร็งปอด และโรคหัวใจ รวมถึงเด็กๆ ราว 15,000 คนที่ต้องเผชิญกับโรคหอบหืด และโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังในชาวจีนอีกกว่า 19,000 คน
โดยตัวเลขดังกล่าวได้รวมกับยอดผู้เสียชีวิตจริงเมื่อปี 2554 ที่พบชาวจีนเสียชีวิต 3,600 ราย และพบโรคหืดหอบในเด็กอีกกว่า 4,000 คน อันเป็นผลมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 96 แห่งที่กระจายตัวอยู่ในก่วงตงและเกาะฮ่องกง
อนึ่ง ดร.แอนดรูว์ ได้ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการศึกษาการกระจายตัวของมลพิษในอากาศ หรือคาลพัฟ (CALPUFF) ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อมด้านมลพิษและหมอกควันข้ามแดนของสหรัฐฯ ร่วมกับสถิติข้อมูลการปล่อยมลพิษของโรงไฟฟ้าจากกระทรวงป้องกันสิ่งแวดล้อม และบริษัทผู้ประกอบการด้านพลังงานต่างๆ
ทั้งนี้ จากการค้นพบอันน่าตื่นตะลึงนำไปสู่ข้อเรียกร้องให้ทางการท้องถิ่นยุติโครงการโรงไฟฟ้าอีก 22 แห่งที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง รวมถึงสนับสนุนให้กลับไปใช้นโยบายปี 2552 ที่งดเว้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta: PRD)
โจว หลง เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านพลังงงานและสภาพอากาศของกรีนพีซ กล่าวว่า “พื้นที่เขตเศรษฐกิจฯ ควรจริงจังที่จะบังคับใช้นโยบายงดเว้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินแห่งใหม่ที่เคยใช้เมื่อปี 2552 ทว่า ทุกวันนี้ก่วงตงได้เพิกเฉยต่อคำกล่าวเหล่านั้น เพียงเพราะต้องการตอบสนองความหิวกระหายพลังงานของภาคธุรกิจการค้าต่างๆ ในพื้นที่”
ทว่า ชาวเน็ตจีนบางส่วนกลับแสดงความเห็นโต้แย้งต่อเรื่องนี้ว่า ข้อมูลของกรีนพีซประเมินค่าไม่ครบองค์ประกอบ และอาจผิดจากความเป็นจริงไปก็ได้
“สุดท้ายจะให้ก่วงตงสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ขนาดใหญ่กว่า หรือจะให้ขนส่งพลังานมาจากแหล่งผลิตทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนแทน” อี้ว์ หยัง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของจีน กล่าวผ่านไมโครบล็อคส่วนตัวของเขา
“แม้แต่โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเองก็มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมลพิษ และทำลายระบบนิเวศวิทยาท้องถิ่น”
“หากมุ่งเป้ามายังอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น ก็ควรจะพิจารณาถึงหนทางแก้ไขปัญหาที่มีอยู่จริง และคำนวณถึงราคาค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้วยเช่นกัน” นักศึกษาแสตนฟอร์ดกล่าวปิดท้าย