xs
xsm
sm
md
lg

“กรีนพีซ” จี้นายกฯตั้ง กก.สอบน้ำมันรั่ว อ้างไม่เชื่อคณะตั้งโดย PTTGC เชื่อผลประโยชน์ทับซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กรีนพีซ” จี้นายกฯตั้ง กก.อิสระสอบน้ำมันรั่ว เหตุไม่เชื่อถือคณะที่ตั้งโดย PTTGC ไร้ภาค ปชช.-นักวิชาการ ตั้ง 5 สเปกต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน “แรมโบ้” รับหนังสือแทน เตรียมชง “ยิ่งลักษณ์” อีกที

วันนี้ (27 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่วไหล นำโดย นายธารา บัวคำศรี แกนนำ พร้อมด้วยตัวแทนจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia) และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) ได้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ (พีทีทีจีซี) กรณีทำน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลใน จ.ระยอง โดยมี นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับมอบหนังสือ

นายธารา กล่าวว่า จากกรณีท่อน้ำมันดิบของบริษัท พีทีทีจีซี ได้ทำน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล จ.ระยอง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้คราบน้ำมันได้ถูกพัดเข้าชายหาดบริเวณ อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แม้บริษัทดังกล่าวและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จะอ้างว่าได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามมาตรฐาน แต่ภาคประชาชนยังไม่เชื่อมั่นในข้อมูลและการดำเนินงานที่ผ่านมา เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบทั้งที่ตั้งขึ้นโดย พีทีทีจีซี คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) และหน่วยงานรัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่มีองค์ประกอบของผู้เชี่ยวชาญอิสระและภาคประชาชน ทั้งยังไม่มีการเปิดเผยกระบวนการและรายงานการตรวจสอบต่อสาธารณะ

นายธารา กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด จึงได้มีแถลงการณ์เรียกร้องต่อรัฐบาลให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยมีการรณรงค์เรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนผ่าน www.change.org และมีผู้ร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวจำนวนมาก บัดนี้มีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องให้มีการตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาน้ำมันรั่วมากกว่า 30,000 คน

นายธารา กล่าวเพิ่มอีกว่า อยากเรียกร้องให้นายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ คือ 1.เป็นคณะกรรมการอิสระระดับชาติที่แต่งตั้งโดยนายกฯ 2.มีอำนาจในการเรียกข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชน 3.มีหน้าที่หลักดังต่อไปนี้ ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกรณีปัญหาน้ำมันรั่วไหล ตรวจสอบผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เสนอหลักการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายต่อรัฐบาล และจัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงนโยบาย กฎหมาย โครงสร้าง และกลไกที่เกี่ยวข้องกับการรับมือสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในอนาคต

4.องค์ประกอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วย ประธานเป็นอิสระ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจน้ำมันและปิโตรเลียม มีตัวแทนภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านนิเวศ ด้านสุขภาพ ด้านกฎหมาย ภาคประชาสังคม (องค์กรพัฒนาเอกชนและหรือองค์กรประชาชนในพื้นที่) และ 5.กระบวนการทำงานของคณะกรรมการต้องมีความโปร่งใส เปิดเผยการดำเนินงานและรายงานต่อสาธารณะ

ขณะที่ นายสุภรณ์ กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้น จะนำเรื่องนี้กลับไปเสนอให้นายกฯรับทราบ เพื่อพิจารณาต่อไป

ตัวแทนกลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่วไหล นำโดย น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยมูลนิธิบูรณะนิเวศ กลุ่มกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เดินทางมายื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกรณีบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี ทำน้ำมั่นรั่วไหลลงสู่ทะเล ที่บริเวณเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะอ่าวพร้าว แม้ที่ผ่านมาทางพีทีทีจีซี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะอ้างว่าได้ดำเนินแก้ไขปัญหาตามมาตรฐานแล้ว แต่ภาคประชาชนยังไม่เชื่อมั่นใจข้อมูล และการดำเนินการทึ่ผ่านมา เนื่องจากคณะกรรมที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบไม่มีในส่วนของผู้เชี่ยวชาญอิสระและภาคประชาชน อีกทั้ง ยังไม่มีการเปิดเผยกระบวนการและรายงานการตรวจสอบต่อสาธารณะ

ส่วนสาระสำคัญในการตั้งคณะกรรมการอิสระนั้น ต้องมีองค์ประกอบคือ เป็นคณะกรรมการอิสระระดับชาติที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี, มีอำนาจในการเรียกข้อมูลและข้อเท็จจริงจากหน่วยงานรัฐและเอกชน, มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด เสนอหลักการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายต่อรัฐ ปรับปรุงกฎหมาย โครงสร้าง กลไกที่เกี่ยวข้องกับการรับมือสถานการณ์น้ำมันรั่วในอนาคต, มีตัวแทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจน้ำมัน มีผู้เชี่ยวชาญและภาคประชาชนเข้าร่วม และที่สำคัญคือ กระบวนการทำงานของคณะกรรมการต้องมีความโปร่งใส อีกทั้งเปิดเผยการดำเนินงานต่อสาธารณะ








กำลังโหลดความคิดเห็น