xs
xsm
sm
md
lg

อินโดนีเซียยังคง‘ล้มเหลว’ในการควบคุมไฟไหม้ป่า

เผยแพร่:   โดย: คิตตี สแตปป์

ภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นควันไฟที่เกิดจากการเผาต้นไม้เพื่อแผ้วถางที่ดิน ในจังหวัดเรียว ของอินโดนีเซีย เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Indonesia fails to tackle forest fires
By Kitty Stapp
11/07/2013

อินโดนีเซียออกมากล่าวขอโทษภายหลังที่หมอกควันอันเกิดจากไฟไหม้ป่าในแดนอิเหนาพัดไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์จนทำให้ผู้คนในประเทศเหล่านี้สำลักหายใจไม่ค่อยออก แต่การขออภัยเช่นนี้แทบไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าหากรัฐบาลในกรุงจาการ์ตามิได้หนุนหลังคำพูดของตนด้วยการกระทำที่จะพิทักษ์คุ้มครองป่าอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ตามการระบุแจกแจงของพวกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี การที่อินโดนีเซียจะเอาจริงเอาจังเรื่องการรักษาป่า ไม่น่าที่จะเกิดขึ้นมาได้ตราบเท่าที่ยังคงมีการให้ความสำคัญแก่ผลประโยชน์ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเป็นลำดับแรก นอกจากนั้นประเด็นทางการทูตระหว่างประเทศก็เป็นอุปสรรคเครื่องกีดขวางอีกประการหนึ่งด้วย

สหประชาชาติ – ไฟไหม้ป่าในอินโดนีเซีย ซึ่งกำลังกลายเป็นพิธีกรรมประจำปีที่สามารถคาดการณ์ทำนายได้ล่วงหน้าไปแล้ว จะยังคงส่งผลกระทบกระเทือนอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนและสภาพแวดล้อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป ตราบเท่าที่รัฐบาลแดนอินเหนามิได้เพิ่มความเข้มแข็งในการพิทักษ์คุ้มครองป่า นี่เป็นคำเตือนของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อทั้งหลาย จาการ์ตาอ้างว่าตนกำลังพยายามเรื่องนี้อย่างดีที่สุดแล้ว รวมทั้งในเรื่องการบังคับใช้ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่มีอยู่แล้วปัจจุบันเพื่อไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่าขึ้นมาอีก ทว่ากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบอกว่า “อย่างดีที่สุด” ของอินโดนีเซียนั้นก็ยังคง “ดีไม่พอ”

ไฟไหม้ป่าในอินโดนีเซียเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเรียกได้ว่าทำให้ผู้คนในหลายส่วนของสิงคโปร์และมาเลเซียถึงขั้นสำลักหมอกควันหายใจไม่ค่อยออกนั้น ได้รื้อฟื้นการถกเถียงอภิปรายที่ดำเนินอยู่นานแล้ว เกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอันสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาหนักหนาสาหัสของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รัฐบาลมาเลเซียถึงขั้นประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินในหลายพื้นที่ซึ่งหมอกควันก่อให้เกิด “มลพิษทางอากาศในระดับเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ” ทีเดียว ขณะที่สิงคโปร์ก็แนะนำให้ประชาชนอยู่แต่ภายในอาคาร

ด้วยความตระหนักเป็นอันดีถึงผลกระทบกระเทือนทางด้านนิเวศวิทยา ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน ของอินโดนีเซีย ได้ออกมากล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการต่อสิงคโปร์และมาเลเซีย สำหรับมลพิษทางอากาศที่แผ่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางสืบเนื่องจากไฟไหม้ป่าในประเทศของเขา “สำหรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ในฐานะที่เป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ผมต้องขออภัยต่อบรรดาพี่น้องของเราในสิงคโปร์และมาเลเซียด้วย” ยุโธโยโน บอก

อินโดนีเซียกำลังดำเนินการอย่างมากมายทีเดียวเพื่อต่อสู้กับไฟไหม้ป่า ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจุดขึ้นโดยเกษตรกรที่ต้องการแผ้วถางผืนดินให้โล่งเตียนสำหรับการเพาะปลูก เรื่องที่เข้าข่ายเป็นตลกร้ายก็คือ ท่านประธานาธิบดีอินโดนีเซียนี่เอง เป็น 1 ใน 3 ผู้นำของโลก (อีก 2 คนคือ เดวิด คาเมรอน แห่งสหราชอาณาจักร และ เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ แห่งไลบีเรีย) ซึ่งนั่งเป็นประธานของคณะกรรมการระดับสูงว่าด้วยวาระการพัฒนาภายหลังปี 2015 ขององค์การสหประชาชาติ โดยที่คณะกรรมการระดับสูงชุดนี้ให้ลำดับความสำคัญสูงแก่เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดให้สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยิ่งยืนในอนาคต

อย่างที่นักการทูตชาวเอเชียผู้หนึ่งตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ด้วยฐานะดังกล่าวของยุโธโยโน ทำให้ทั้งองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการใหญ่ยูเอ็น บัน คีมุน ไม่น่าที่จะแสดงจุดยืนวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงอะไรต่อไฟไหม้ป่าที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องในอินโดนีเซีย “มันกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง (ระหว่างประเทศ) ขึ้นมา” เขาบอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service หรือ IPS) โดยขอให้สงวนนาม

ปฏิกิริยาที่ออกจากเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเป็นเช่นนี้จริงๆ ดังที่ มาร์ติน เนซีร์กี (Martin Nesirky) โฆษกสหประชาชาติตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร (9 ก.ค.) ว่า “ตามที่ผมเข้าใจนั้น ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคดังกล่าวกำลังประสานงานกันและกำลังร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องนี้อยู่แล้ว ผมจึงคิดว่าผมคงพูดได้เท่านี้ ... ถ้าผมมีข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเพื่อนร่วมงานของผมในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia Pacific หรือ ESCAP) แล้ว ผมจะแจ้งให้พวกคุณทราบ”

แต่สำหรับในตอนนี้ เขากล่าวว่า “ผมคิดว่าเรื่องนี้พวกประเทศในภูมิภาคนั้นกำลังดูแลอยู่”

ครั้นเมื่อสอบถามเรื่องความหมายโดยนัยจากไฟไหม้ป่าครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นนี้จากพวกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างเช่น ยูยุน อินดราดี (Yuyun Indradi) นักรณรงค์ด้านป่าไม้ของ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia) เขาบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส ว่า “เรื่องที่เกิดขึ้นนี้โดยพื้นฐานแล้วเป็นการสาธิตให้เห็นว่ารัฐบาลอินโดนีเซียไม่ได้จริงจังอะไรนักในการจัดการและในการปรับปรุงยกระดับธรรมาภิบาลด้านป่าไม้ ถึงแม้ได้เคยให้สัญญาเอาไว้หลายครั้งแล้วก่อนหน้านี้”

เขากล่าวต่อไปว่า คำมั่นสัญญาของแดนอิเหนาที่จะตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ถึง 41% นั้น กำลังกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ทั้งนี้การปล่อยไอเสียคาร์บอนของอินโดนีเซียนั้น ส่วนใหญ่แล้วเนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ที่ดินในภาคป่าไม้นั่นเอง โดยที่เรื่องนี้มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอินโดนีเซียถึง 80% ทีเดียว

“ธรรมาภิบาลด้านป่าไม้ ซึ่งหมายความรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายด้วย เป็นจุดที่ยังอ่อนแอเอามากๆ ถึงแม้อินโดเนีซียประกาศใช้นโยบายห้ามการเผาป่าอย่างเด็ดขาด (โดยอาศัยอำนาจตามรัฐบัญญัติป่าไม้, รัฐบัญญัติสวนเกษตร, และรัฐบัญญัติคุ้มครองและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม) แต่กลับเป็นที่ชัดเจนว่ายังมีการทำกันอยู่อย่างกว้างขวางแพร่หลาย”

เขาบอกด้วยว่า การลงทุนในเรื่องการพิทักษ์ป่าเองก็ยังอยู่ในระดับต่ำมากๆ เช่นกัน โดยเฉพาะในแง่ของทรัพยากรของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพนักงานดับไฟป่า, เจ้าหน้าที่สอบสวนไฟป่า, เครื่องมืออุปกรณ์, ระบบเตือนภัยล่วงหน้า สภาพเช่นนี้จึงเสมือนกับการปล่อยปละยินยอมให้อาชญกรรมด้านสิ่งแวดล้อมลักษณะนี้เกิดขึ้นมานั่นเอง นอกจากนั้น เขากล่าวต่อไปว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นก็เป็นปัญหาอีกส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ในลักษณะของการขุดค้นสกัดเอาประโยชน์จากผืนดิน ไม่ว่าจะเป็น การทำสวนเกษตร, ป่าไม้, หรือหมืองแร่

ทางด้าน พีเตอร์ ฟาน ลีร็อป (Pieter van Lierop) เจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการไฟป่า แห่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ได้บอกกับสำนักข่าวไอพีเอสว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องยอมรับว่า การจุดไฟเผาคือเครื่องมือวิธีการอย่างหนึ่งในการบริหารจัดการที่ดิน

อย่างไรก็ตาม ไฟที่จุดขึ้นมาอาจแผ่ลามออกไปจนควบคุมไม่อยู่ ในบริเวณพื้นที่ดินพรุ (peatlands) ที่ถูกระบายน้ำออกแล้ว และไฟไหม้บริเวณพื้นที่ดินพรุนี่แหละที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่โตทั้งต่อสุขภาพของมนุษย์, ทรัพย์สินของมนุษย์, และความหลากหลายทางชีวภาพ, รวมทั้งยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหึมาซึ่งมีส่วนในการทำให้ภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของเอฟเอโอผู้นี้ชี้ว่า ไฟป่าและไอเสียอันเกิดจากการเผาไหม้ในพื้นที่ดินพรุเช่นนี้มักมีอันตรายสูงมาก เนื่องจากดินพรุที่ถูกระบายน้ำออกจนแห้งนั้นสามารถติดไฟได้ง่ายดายอย่างยิ่ง รวมทั้งไฟที่ติดขึ้นมาแล้วก็สามารถที่จะลุกไหม้เผาผลาญอยู่ข้างใต้พื้นที่ดินพรุอยู่พักหนึ่ง จากนั้นจึงโผล่ขึ้นสู่ผิวดินในบริเวณซึ่งอยู่ห่างไกลทีเดียวจากจุดเกิดเพลิงเผาผลาญในตอนแรก

นะซีร์ โฟอัด (Nazir Foead) ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ของกองทุนเวิลด์ ไวด์ ฟันด์ ฟอร์ เนเจอร์ อินโดนีเซีย (World Wide Fund for Nature Indonesia) บอกกับไอพีเอสว่า ปัญหาไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นเป็นประจำเช่นนี้ส่งผลกระทาบกระเทือนอินโดนีเซียในหลายๆ ด้าน แน่นอนทีเดียวว่าสุขภาพของประชาชนคือหนึ่งในปัญหาดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะผู้ที่พำนักอาศัยในจังหวัดต่างๆ ซึ่งเจอกับหมอกควันหนักที่สุด ทั้งนี้โฟอัดชี้ว่า รัฐคงจะต้องเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายบางส่วนในการปรับปรุงฟื้นฟูให้สุขภาพของประชาชนอยู่ในภาวะที่คืนดีขึ้นมา

ขณะเดียวกัน ไฟป่าที่ไหม้ลุกลามออกไป เมื่อเผาผลาญพืชผลหรือสวนกษตรต่างๆ พวกบริษัทเจ้าของสวนตลอดจนเกษตรกรก็จะต้องเป็นผู้รับความสูญเสียทางเศรษฐกิจ “เราจึงหวังว่ารัฐบาล (อินโดนีเซีย) จะบังคับใช้กฎหมายห้ามการเผาป่าอย่างเด็ดขาดกับพวกบริษัทต่างๆ อย่างจริงจัง และขณะเดียวกันก็จัดหาความช่วยเหลือให้แก่เกษตรกร ผู้ซึ่งลงท้ายแล้วอาจจะต้องใช้วิธีเผาป่าเพื่อแผ้วถางที่ดินเพาะปลูกกันอยู่เป็นประจำทุกปี” เขาระบุ

ทั้งนี้ โฟอัดเตือนว่า ถ้ารัฐบาลไม่จัดหาความช่วยเหลือทั้งทางเทคนิคและทางการเงินให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นการตัดปัญหาแล้ว เกษตรกรก็ยังน่าจะต้องจุดไฟเผาป่ากันอีกในปีหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ฟาน ลีร็อป แห่งเอฟเอโอ ก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกัน โดยเขาชี้ว่าพวกวิสาหกิจเชิงพาณิชย์ที่ทำสวนเกษตรปาล์มน้ำมันและพืชอื่นๆ ควรต้องหลีกเลี่ยงการใช้ไฟเป็นเครื่องมือในการแผ้วถางสร้างสวนและในการบำรุงปรนนิบัติรักษาสวน แต่ในเวลาเดียวกัน เขาก็ชี้ว่า สำหรับเกษตรกรรายย่อยแล้วควรที่จะได้รับความสนับสนุนมากขึ้นเพื่อให้สามารถใช้วิธีจุดไฟเผาแบบควบคุมได้และมีประสิทธิภาพ และในสภาพที่เป็นไปได้ก็ให้ใช้ทางเลือกอื่นๆ แทนการเผา

“มีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันอย่างกระตือรือร้นทั้งในเรื่องประสบการณ์, แนวทาวปฏิบัติที่ดี, ตลอดจนความรู้อื่นๆ ระหว่างภูมิภาคค่างๆ ของกาลิมันตัน และสุมาตรา (ซึ่งเป็นจุดที่เกิดไฟป่าเป็นประจำ)” เขากล่าว

ทั้งนี้รัฐบาลและฝ่ายปกครองในทุกๆ ระดับควรต้องแสดงบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ โดยที่โครงการวิจัยระดับระหว่างประเทศก็สามารถที่จะสร้างคุณูปการเพิ่มเติมให้แก่การแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีตลอดจนการเผยแพร่ผลสรุปของงานวิจัย ฟาน ลีร็อป บอกพร้อมกับชี้ว่า ปัจจุบัน เอฟเอโอกำลังให้ความสนับสนุนแก่หลายๆ ประเทศมาหลายปีแล้ว ในการพัฒนาวิธีการแบบบูรณาการในเรื่องการจัดการกับไฟป่า ตั้งแต่การป้องกันและการเตรียมพร้อมไปจนถึงการดับไฟและการฟื้นฟู

ขณะที่ อินดราดี แห่งกรีนพีซ ย้ำกับไอพีเอสว่า ปัญหาไฟป่านี้ต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่กว้างใหญ่กว่านั้นของอินโดนีเซีย นั่นคือเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ “โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรายังคงให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางด้านการเมืองและทางด้านการเงินเป็นลำดับแรก ยิ่งกว่าในทางด้านสิ่งแวดล้อม”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น