xs
xsm
sm
md
lg

ภัยพิบัตินิวเคลียร์‘ฟูกูชิมะ’คนจ่ายเงินไม่พ้น‘ประชาชน’

เผยแพร่:   โดย: สตีเฟน เลียไฮ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Fukushima hits public purse
By Stephen Leahy
13/03/2013

เงินงบประมาณแผ่นดินกำลังถูกดึงเอาไปใช้ช่วยเหลือบริษัทเทปโก ในการจัดการเก็บกวาดสะสางภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เนื่องจากอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่เป็นผู้ขายเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายของญี่ปุ่น จึงทำให้ยังคงรักษาผลกำไรของพวกตนเอาไว้ได้ ยิ่งเมื่อรัฐบาลชุดใหม่ของแดนอาทิตย์อุทัยกำลังหวนกลับมาส่งเสริมพลังงานปรมาณูกันใหม่ด้วยแล้ว อัตราผลตอบแทนการลงทุนของอุตสาหกรรมนี้ก็มีหวังจะเติบโตมากขึ้นไปอีก

อุกซ์บริดจ์ (UXBRIDGE), แคนาดา – เวลาผ่านไปแล้ว 2 ปีนับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ (Fukushima Daiichi) ในประเทศญี่ปุ่น และแดนอาทิตย์อุทัยกำลังต้องควักเงินอย่างมากมายมหาศาลระหว่าง 100,000 ล้าน ถึง 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเก็บกวาดสะสางตลอดจนเป็นค่าชดเชยต่างๆ ขณะที่มีประชาชนหลายหมื่นคนต้องกลายเป็นผู้อพยพโยกย้ายออกจากที่พำนักอาศัย และผลกระทบด้านต่างๆ ของการแผ่รังสีนิวเคลียร์ก็ครอบคลุมอาณาบริเวณอันกว้างขวาง

อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ตลอดจนพวกซัปพลายเออร์ของอุตสาหกรรมนี้ ทำเงินได้เป็นพันล้านเป็นหมื่นล้านดอลลาร์จากการก่อสร้างและการเดินเครื่องดำเนินการเตาปฏิกรณ์ปรมาณูทั้ง 6 เตาของฟูกูชิมะ ทว่ากลับกลายเป็นรัฐบาลญี่ปุ่นและพลเมืองของญี่ปุ่นที่จะต้องเป็นผู้แบกรับ “ผลพวง” อันแพงลิบลิ่วทั้งหลายทั้งปวงของภัยพิบัติคราวนั้น ทั้งนี้กฎหมายฉบับต่างๆ ในญี่ปุ่น ถูกร่างขึ้นมาเพื่อให้ความคุ้มครองพวกบริษัทนิวเคลียร์ ไม่ใช่ประชาชนที่พำนักใช้ชีวิตอยู่ใกล้ๆ เตาปฏิกรณ์ของบริษัทพวกนี้

“ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนถูกทำลายสูญสิ้นไปเยอะแยะแล้ว แต่เรากลับกำลังจะต้องจ่ายเงินจากภาษีอากรกันอีกเป็นจำนวนหลายล้านล้านเยน สืบเนื่องจากภัยพิบัติฟูกูชิมะ” ฮิซาโยะ ทากาดะ (Hisayo Takada) ผู้รณรงค์ด้านพลังงาน ที่ทำงานกับกลุ่มกรีนพีซ ประเทศญี่ปุ่น (Greenpeace Japan) กล่าวอย่างแสนเซ็ง

“อุตสาหกรรมนิวเคลียร์นั้น นอกจากเทปโก (TEPCO ชื่อเต็มๆ ของบริษัทนี้คือ โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมพานี Tokyo Electric Power Co เป็นบริษัทที่ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ) แล้ว ก็ไม่เคยควักกระเป๋าจ่ายเงินอะไรทั้งสิ้น เนื่องจากกฎหมายให้ความคุ้มครองพวกเขาเป็นพิเศษ” ทากาดะ กล่าวกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service หรือ IPS)

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 ญี่ปุ่นประสบกับแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงมากถึงระดับ 9.0 จากนั้นก็มีคลื่นยักษ์สึนามิตามมาซึ่งได้สร้างความเสียหายหนักให้แก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ของบริษัทเทปโก เตาปฏิกรณ์ 3 เตาจากทั้งหมด 6 เตาของโรงไฟฟ้ายักษ์แห่งนี้อยู่ในภาวะหลอมละลายที่มีอันตรายร้ายแรง ส่วนเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ก็เสียหายมาก อุบัติภัยนิวเคลียร์ฟูกูชิมะคราวนี้ได้รับการจัดอันดับอันตรายให้อยู่ระดับสูงสุด คือระดับ 7 จากทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ซึ่งก็คืออยู่ระดับเดียวกับอุบัติภัยที่โรงไฟฟ้าเชร์โนบิล (Chernobyl)

หนึ่งปีภายหลังภัยพิบัติ บริษัทเทปโกถูกรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าเทคโอเวอร์ เนื่องจากบริษัทหมดความสามารถที่จะหาเงินทองมาเป็นค่าใช้จ่ายอันมากมายมายมหาศาล ในการทำให้เตาปฏิกรณ์ต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายกลับอยู่ใต้การควบคุมอีกคำรบหนึ่ง ทั้งนี้นับถึงเดือนมิถุนายน 2012 เทปโกได้รับเงินจากรัฐบาลไปแล้วเกือบๆ 50,000 ล้านดอลลาร์

เตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 เตาของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ได้รับการออกแบบโดย เจเนอรัล อิเล็กทริก (General Electric หรือ GE) บริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่ โดยที่ จีอี เป็นผู้จัดส่งเตาปฏิกรณ์จริงๆ สำหรับใช้ในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1, หมายเลข 2, และหมายเลข 6 ขณะที่บริษัทญี่ปุ่น 2 ราย ได้แก่ โตชิบา ซึ่งเป็นผู้จัดส่งเตาปฏิกรณ์จริงๆ ให้แก่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 และหมายเลข 5 และ ฮิตาชิ เป็นผู้จัดส่งสำหรับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ตามกฎหมายของญี่ปุ่นนั้น บริษัทเหล่านี้ตลอดจนพวกซัปพลายเออร์รายอื่นๆ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องตกเป็นผู้รับผิดหรือต้องจ่ายเสียค่าเสียหายใดๆ

อันที่จริงแล้ว บริษัทจำนวนมากในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ซึ่งก็รวมถึง จีอี, โตชิบา, และฮิตาชิ ด้วย กลับกำลังทำเงินทำทองได้ไม่น้อยจากภัยพิบัติคราวนี้ ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในงานขจัดการปนเปื้อนรังสี และงานดำเนินกระบวนการยุติการใช้งานเตาปฏิกรณ์ ทั้งนี้ตามรายงานการศึกษาฉบับหนึ่งซึ่งจัดทำโดยกลุ่มกรีนพีซ นานาชาติ (Greenpeace International)

“อุตสาหกรรมนิวเคลียร์และรัฐบาลของหลายๆ ประเทศ ได้จัดทำระบบการรับผิดทางด้านนิวเคลียร์ขึ้นมา ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองอุตสาหกรรมนี้ และบังคับให้ประชาชนต้องเป็นผู้ควักเงินจ่ายค่าเสียหายต่างๆ สำหรับความผิดพลาดและภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือของอุตสาหกรรมนี้” รายงานฉบับนี้ซึ่งมีชื่อว่า Fukushima Fallout (ผลกระทบจากฟูกูชิมะ) ระบุไว้ในตอนหนึ่ง

“ถ้าหากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์มีความปลอดภัยจริงๆ อย่างที่อุตสาหกรรมนี้ชอบกล่าวอ้างกันอยู่เสมอแล้ว ทำไมพวกเขาจึงยังคงยืนยันเรียกร้องให้ต้องมีข้อกำหนดเรื่องการรับผิดเพียงจำกัดและการได้รับยกเว้นจากการรับผิดกันอีก?” เป็นคำถามของ ชอว์น-แพตริก สเตนซิล (Shawn-Patrick Stensil) นักวิเคราะห์ด้านนิวเคลียร์ ซึ่งทำงานให้กับ กลุ่มกรีนพีซ ประเทศแคนาดา (Greenpeace Canada)

พวกเจ้าของ/ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศต่างๆ จำนวนมาก ต่างได้รับความคุ้มครองในเรื่องวงเงินการรับผิดสูงสุดที่พวกเขาจะถูกบังคับให้จ่ายได้ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เป็นต้นว่า ในแคนาดา วงเงินการรับผิดสูงสุดนี้จะอยู่เพียงแค่ 75 ล้านดอลลาร์ ในสหราชอาณาจักร ตัวเลขนี้จะเท่ากับ 200 ล้านดอลลาร์ ส่วนในสหรัฐฯนั้นใช้วิธีที่เจ้าของเตาปฏิกรณ์แต่ละเตาจะควักเงินลงขันประมาณ 100 ล้านดอลลาร์เข้าไปในกองทุนประกันภัยประเภทที่ยังไม่ตัดสินว่าใครคือผู้ผิด (no-fault insurance pool) กองทุนดังกล่าวนี้มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์

“พวกซัปพลายเออร์ได้รับความคุ้มครองให้ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย แม้กระทั่งในกรณีที่พวกเขาประมาทเลินเล่อ” สเตนซิล บอกกับไอพีเอส

สำหรับพวกผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นนั้น พวกเขาถูกกำหนดให้ทำประกันภัยเป็นมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่ได้ใกล้เคียงเลยกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนการยุติการใช้งานเตาปฏิกรณ์ และค่าใช้จ่ายในการรับผิด สำหรับกรณีฟูกูชิมะ ซึ่งประมาณการกันว่าอาจจะสูงถึง 250,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่พวกซัปพลายเออร์อย่างเช่น จีอี ได้รับการยกเว้นอย่างชัดเจน จึงไม่ต้องรับผิดใดๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งในกรณีที่ความบกพร่องในเครื่องมืออุปกรณ์ของพวกเขามีส่วนที่ทำให้เกิดภัยพิบัติขึ้นมาก็ตามที

“กฎหมายพวกนี้ทั้งในแคนาดาและในญี่ปุ่น ต่างจัดทำขึ้นมาเพื่อคุ้มครองพวกบริษัทนิวเคลียร์ ไม่ใช่คุ้มครองประชาชนที่พำนักอยู่ใกล้ๆ เตาปฏิกรณ์ของบริษัทพวกนี้” สเตนซิล กล่าวย้ำ

ปัจจุบันนี้ ระดับการแผ่รังสีในบริเวณรอบๆ เตาปฏิกรณ์ของฟูกูชิมะยังคงอยู่ในระดับสูง โดยยังสูงเกินกว่าที่มนุษย์จะสามารถเข้าไปทำงานในพื้นที่บางจุดบางแห่ง องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) เตือนว่าพวกคนงานซึ่งเข้าไปทำหน้าที่เก็บกวาดสะสางถึงประมาณหนึ่งในสามทีเดียว มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นมะเร็ง ทว่าการใช้หุ่นยนต์เข้าไปทำงานแทนก็ประสบความล้มเหลว และพวกกล้องควบคุมจากระยะไกลก็ไม่สามารถเปิดเผยให้ทราบถึงสภาพของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ได้รับความเสียหาย แท่งเชื้อเพลิงเหล่านี้ยังคงร้อนอยู่ และยังต้องการน้ำปริมาณมหาศาลเพื่อหล่อให้เย็นตัวลง ทว่าทางโรงงานกำลังหมดที่ทางสำหรับเก็บกักน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีเหล่านี้

คณะผู้บริหารของ เทปโก ยอมรับว่า การโยกย้ายพวกชุดแท่งเชื้อเพลิงกัมมันตรังสีที่มีอยู่ 11,000 ชุดนั้น กว่าจะเริ่มต้นดำเนินการกันได้ก็ต้องถึงปี 2021 ขณะที่งานดำเนินกระบวนการยุติการใช้เตาปฏิกรณ์ของทั่วทั้งโรงงานจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด 40 ปี

“เราเคยเตือนแล้วว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นอาจจะเผชิญกับแผ่นดินไหวที่มีขนาดรุนแรงยิ่งกว่า และเผชิญกับคลื่นสึนามิที่มีขนาดใหญ่กว่าที่โรงไฟฟ้าเหล่านี้ได้รับการออกแบบไว้ให้รับมือได้มากมายนัก” ฟิลิป ไวต์ (Philip White) แห่ง ศูนย์ข้อมูลข่าวสารเรื่องนิวเคลียร์ของภาคพลเมือง (Citizens' Nuclear Information Centre) องค์กรนอกภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโตเกียว กล่าวอย่างเจ็บปวด

ขณะที่ อเล็กซานเดอร์ ลิโคทัล (Alexander Likhotal) ประธานของกลุ่มกรีนครอส อินเตอร์เนชั่นแนล (Green Cross International) สำทับว่า “เป็นเรื่องที่ต้องตกใจถึงขั้นช็อกกันทีเดียว ที่เรื่องอันตรายของการหลอมละลายซึ่งอาจเกิดขึ้นมาจากการเกิดคลื่นสึนามินั้น ได้เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2008 ในเอกสารต่างๆ ที่ออกโดยองค์การความปลอดภัยพลังงานนิวเคลียร์แห่งญี่ปุ่น (Japan Nuclear Energy Safety Organization) แต่พวกเจ้าของโรงไฟฟ้ากลับละเลยไม่ยอมรับรู้เรื่องเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้นี้เลย”

“มันเป็นความบกพร่องล้มเหลวของมนุษย์ที่ละเลยมิได้ปฏิบัติตามคำเตือนเรื่องความปลอดภัยอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงภัยพิบัติเช่นนี้ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากภัยคุกคามตามธรรมชาติที่มีความเป็นไปได้สูงและก็เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว” ลิโคทัล ระบุในคำแถลง

ทั้งนี้ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในญี่ปุ่น โดยที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ได้เกิดขึ้นเกือบๆ 2,500 ครั้ง หลังจากภัยพิบัติฟูกูชิมะแล้ว เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของญี่ปุ่นทั้ง 50 เตา ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 30%ของที่ผลิตกันในญี่ปุ่น ก็ได้ถูกสั่งปิด โดยที่มีเพียง 2 เตาเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เปิดทำงานใหม่

ช่วงเวลาหลายๆ เดือนภายหลังภัยพิบัติ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดโครงการพลังงานทดแทนอันใหญ่โตมหึมา และประกาศแผนการทยอยเลิกใช้ไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ จวบจนถึงปัจจุบันได้มีการอนุมัติโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสงอาทิตย์, พลังลม, และพลังความร้อนใต้ผิวโลก รวมแล้วคิดเป็นปริมาณกระแสไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้เท่ากับ 3.6 กิกะวัตต์ เป้าหมายก็คือจะต้องมีการใช้พลังงานทดแทนในระดับ 35% ภายในปี 2030

แต่แล้วจากผลการเลือกตั้งเมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งทำให้รัฐบาลอนุรักษนิยมของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ขึ้นครองอำนาจ ไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ก็กลับมาเป็นที่นิยมชมชื่นกันใหม่ โดยที่พวกผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งให้สัญญาที่จะปรับปรุงยกระดับเรื่องความปลอดภัย เป็นต้นว่า ความสามารถต้านทานการพุ่งชนของเครื่องบิน, การสร้างอาคารคลุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่กันน้ำได้, และการสร้างห้องควบคุมห้องที่สอง ก็จะได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้อีกครั้ง

“แต่ผมไม่คิดว่าวิธีการเช่นนี้คือการดำเนินการอย่างสมเหตุสมผลแล้วหรอกนะ” ทากาดะ แห่งกลุ่มกรีนพีซ ประเทศญี่ปุ่น บอก

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น