คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในวันที่ 26 มีนาคมนี้ กระทรวงพลังงานจะจัดอบรมเรื่อง “การพัฒนาความเข้าใจ เพื่อพัฒนาทัศนคติที่มีต่อการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์” ให้แก่ข้าราชการ ประชาชน และสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดชุมพร ให้เกิดความมั่นใจ และยอมรับต่อการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ โดยหนังสือเชิญลงวันที่ 9 มีนาคม หรืออีก 2 วันจึงจะครบรอบ 4 ปี ของเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่เมืองฟูกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น
ในความเห็นของผมแล้ว ผมเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่จำเป็นต้องทำครับ แต่ต้องทำให้ดี ตรงไปตรงมา และให้สมต่อหน้าที่ของกระทรวงพลังงานด้วย
ที่ว่าต้องทำให้ดี และตรงไปตรงมาก็คือ ให้ข้อมูลทั้งด้านดี และด้านเสียให้ครบถ้วน รวมทั้งการเชิญทุกฝ่ายให้หลากหลายทั้งวิทยากร และผู้ฟัง นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานต้องพยายามแสวงหาความรู้จากชุมชนอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนว่า มีทางเลือกอื่นๆ บ้างไหมนอกจากนิวเคลียร์
ผมเคยเขียนในคอลัมน์นี้แล้วว่า กระบวนการทำงานของกระทรวงพลังงานควรจะเลิกจากระบบ DAD ซึ่งหมายถึงระบบคุณพ่อรู้ดีคนเดียวที่เริ่มต้นด้วยการ ตัดสินใจไปแล้ว (Decide) แล้วประกาศให้ประชาชนรู้ (Announce) แล้วตามด้วยการปกป้อง (Defend) เหตุผลของตนไปสู่ระบบที่เคารพต่อประชาชนคือ ระบบ ADD หมายถึง Announce แล้วตามด้วยการถกเถียง (Discuss) เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อค้นหาสิ่งที่ดีกว่าร่วมกัน แล้วจึงจบด้วยการตัดสินใจ (Decide) ร่วมกันว่าจะไปทางไหนดี
ระบบ ADD เมื่อแปลตามความหมายของคำในภาษาอังกฤษก็คือ การบวก ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งองค์ความรู้ และความมือร่วมใจในการลงมือปฏิบัติ เท่าที่ผมดูจากรายการอบรมพบว่า กระทรวงพลังงาน ยังคงยึดระบบ DAD อย่างไม่เสื่อมคลายครับ ก็ว่ากันไป!
จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนสอบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง พบว่า กระทรวงพลังงาน ได้ใช้เงินเพื่อดำเนินการในเรื่องนิวเคลียร์นี้ในช่วงปี 2551-2553 ถึง 1,345 ล้านบาท โดยได้เงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 750 ล้านบาท และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ 595 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการจ่ายตามแผนงานการสื่อสารสาธารณะ และการยอมรับของประชาชน 635 ล้านบาท
ในคราวนั้นแผนงานดังกล่าวต้องหยุดไปเพราะกระแสสังคมจากเหตุการณ์ฟูกุชิมะ มาคราวนี้ ปี 2558 เป็นการเริ่มใหม่ด้วยงบประมาณจำนวนเท่าใดก็ยังไม่ทราบครับ
คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ซึ่งมีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน) ได้เคยรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ชุมพร และจังหวัดตราด เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องนี้ เมื่อต้นปี 2554 เท่าที่ผมจำได้มีการเสนอให้กระทรวงพลังงาน แบ่งงบประมาณจำนวนหนึ่งมาให้กลุ่มประชาชนที่มีความเห็นคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้นำเสนอความเห็น และข้อมูลของกลุ่มของเขาด้วยเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่รอบด้านจริงๆ แต่ข้อเสนอนี้ก็ไม่เป็นผลครับ
ผมได้เกริ่นเรื่องนี้มาค่อนข้างยาว เพื่อเรียนให้ทราบว่า กระบวนการเคลื่อนไปข้างหน้าควรจะทำอย่างไร จึงจะเป็นธรรม และเป็นผลดีต่อประเทศชาติ
ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะรู้สึกว่า ผมเองก็ให้ข้อมูลด้านเดียวคือ ด้านที่เป็นผลเสีย ผมขอเรียนว่าเป็นความจริงครับ เพราะข้อมูลด้านที่ดีอย่างเดียวกระทรวงพลังงานได้ให้แก่สังคมอย่างเต็มที่แล้ว ผมเองแค่ได้มีโอกาสเขียนบทความสัปดาห์ละครั้ง โดยผ่านสื่อเล็กๆ เท่านั้น
ผมเขียนตามมุมมองที่ผมได้รับรู้มาบนวิจารญาณของผมอย่างอิสระ ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ หน้าที่ของผมคือ พูดความจริงและชี้ให้เห็นการโกหก โดยมีหลักฐานอ้างอิงให้ท่านสามารถตรวจสอบได้ครับ
เราเคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการพลังงานของบ้านเราพูดว่า “ทางออกเรื่องไฟฟ้าในอนาคตหนีไม่พ้นต้องใช้นิวเคลียร์” พร้อมกับอ้างว่า ประเทศที่เจริญแล้วส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ประเทศจีน ซึ่งกำลังจะเป็นมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจของโลกก็สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จนทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือ สัญลักษณ์ความเจริญของประเทศ ทำให้คนรู้สึกด้อยเมื่อประเทศของตนไม่มีนิวเคลียร์ ข้อมูลแรกที่ผมขอนำเสนอก็คือ การใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของประเทศเยอรมนี ในช่วงปี 2545 ถึง 2557 (ดังแผ่นภาพ)
จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า กำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ตั้งแต่ปี 2545 จนถึง 2553 ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย นอกจากนี้ รัฐบาลยังเกิดแนวคิดที่จะยืดอายุการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปอีกหลังจากที่เคยประกาศจะหยุดการผลิตทั้งหมดในปี 2022 แต่พอเกิดเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่น กระแสสังคมในเยอรมนีก็บีบให้รัฐบาลต้องล้มเลิกแนวคิดดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้ลดการผลิตด้วยนิวเคลียร์ลงครึ่งหนึ่งในทันที (ดังกราฟที่มีวงกลม) แล้วก็ล้มเลิกแผนที่จะยืดอายุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย
ในขณะที่ลดนิวเคลียร์ลงครึ่งหนึ่ง ท่ามกลางการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ประเทศเยอรมนี ก็หันไปใช้พลังงานจากกังหันลม และแสงแดดให้มากขึ้น ถ่านหิน (ลิกไนต์ และบิทูมินัส) ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย เมื่อพูดถึงพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานลม แสงแดด และชีวมวล รวมกันแล้วมีมากกว่าที่ผลิตได้จากนิวเคลียร์
พูดถึงการผลิตไฟฟ้าด้วยชีวมวล เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 ผมได้รับฟังข้อมูลจากบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ว่า ในพื้นที่ 600-700 ไร่ สามารถปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ (ซึ่งพอใช้สำหรับคนประมาณ 1 ตำบล) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดทั้งปี และตลอดไป โดยที่ทางโรงไฟฟ้าสามารถได้ทุนคืนภายในเวลาประมาณ 5 ปี แต่ปัญหาอยู่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ไม่รับซื้อไฟฟ้า โดยอ้างว่าระบบสายส่งในภาคอีสานเต็มแล้ว
ในขณะที่ประเทศเยอรมนี มีกฎหมายบังคับว่า ผู้ที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งได้รวมชีวมวลอยู่ด้วย สามารถขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อน ไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหิน หรือนิวเคลียร์จะขายได้ภายหลัง
ข้อมูลดังกล่าวนี้สะท้อนว่า ประเทศไทยเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงตามที่ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดเกือบทุกวันศุกร์ แต่มีปัญหาที่นโยบายของรัฐบาลครับ
กลับมาที่สถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในโลกนี้ครับ ข้อมูลต่อไปนี้มาจาก “รายงานสถานการณ์ของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ (The World Nuclear Status Report)” ประจำปี 2014 ซึ่งเป็นรายงานของ “สถาบันจับตาโลก (The Worldwatch Institution)” ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1974
สถาบันจับตาโลก ได้รับการยอมรับให้เป็น 1 ใน 10 สถาบันของโลกที่เน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ก่อตั้งโดย Lester Brown ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโลกกว่า 50 เล่ม (หนึ่งในนั้นคือ “Full Planet, Empty Plates : The New Geopolitics of Food Scarcity” เมื่อปี 2012 ซึ่งเขาได้เน้นถึงปัญหาราคาธัญพืชที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือก็ใช่ครับ)
จากรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ 2014 พบว่า ปัจจุบัน (นับถึง 1 กรกฎาคม 2014) ทั่วโลกมีจำนวนเตาปฏิกรณ์ปรมาณูอยู่ 388 เตา (ต่อไปจะขอเรียกว่าโรง) ใน 31 ประเทศ โดยมีกำลังผลิตรวม 333 กิกะวัตต์ (333,000 เมกะวัตต์) โดยที่อีก 43 โรง อยู่ในสภาพหยุดดำเนินการนานกว่า 1 ปี
ในปี 2014 มีจำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์น้อยกว่าปี 2002 ซึ่งเป็นปีที่มากที่สุดถึง 50 โรง ดังนั้น คำโฆษณาชวนเชื่อที่ว่า ประเทศนั้นประเทศนี้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้น หรือเปิดใช้เพิ่มขึ้นทุกปีนั้นไม่เป็นความจริงครับ
กราฟข้างล่างนี้แสดงจำนวนการเปิดใช้งาน (แท่งสีเขียวขึ้นทางแกนบวก) และโรงไฟฟ้าที่ปิดตัวเอง (แท่งสีน้ำตาลที่ชี้ไปทางแกนลบ)
จากกราฟ พบว่า ปีที่มีการเปิดใช้งานมากที่สุดคือปี 1985 (ประมาณ 33 โรง-ดูด้วยสายตา) แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมืองเชอร์โนบิล (ประเทศยูเครนในปัจจุบัน) เมื่อปี 1986 จากนั้นมาไม่นาน จำนวนโรงที่เพิ่ม กับโรงที่ปิดตัวเองมีจำนวนพอๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2011 ที่เกิดเหตุการณ์ฟูกุชิมะ มีการปิดถึงเกือบ 20 โรง (ดูกราฟ)
ในแง่ของสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ พบว่า ในปี 2539 มีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 17.6 ลงมาเหลือร้อยละ 10.8 ของไฟฟ้าทั้งโลกในปี 2556 ในขณะที่ชาวโลกมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ในเมื่อสัดส่วนของนิวเคลียร์ลดลงก็แสดงว่ามีการใช้แหล่งพลังงานชนิดอื่นต้องเพิ่มมากขึ้น แหล่งพลังงานชนิดอื่นที่ว่าก็คือ พลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพนั่นเอง
ในด้านระยะเวลาในการก่อสร้าง รายงานฉบับนี้ระบุว่า นับถึงเดือนกรกฎาคม 2557 มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 67 โรง (ในจำนวนนี้ 43 โรงอยู่ใน 3 ประเทศคือ จีน อินเดีย และรัสเซีย) โดยอายุการก่อสร้างเฉลี่ยนาน7 ปี (แต่ยังไม่เสร็จ) ในจำนวนนี้มีประเภทที่เรียกว่า “กำลังก่อสร้าง” มี 8 โรง ที่ได้ก่อสร้างนานมาแล้วถึง 20 ปี แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ (บางประเทศ เช่น อาร์เจนตินา อิหร่าน สร้างไปแล้ว 32.9 และ 36.3 ปี ตามลำดับ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ) ขอแถมอีกนิดครับ ประเทศฟิลิปปินส์ สร้างเสร็จแล้วตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีมาร์กอส แต่ยังไม่ได้ใช้งานเลยเพราะพบข้อบกพร่องกว่า 4 พันจุด
การสร้างไม่เสร็จตามกำหนดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุใดก็ตาม แต่ย่อมส่งผลเสียหายต่อแผนพัฒนากำลังการผลิตของประเทศอย่างแน่นอน
เปรียบต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับโซลาร์เซลล์
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Duke สหรัฐอเมริกา โดยใช้ข้อมูลความเข้มของแสงแดดในรัฐ North Carolina สหรัฐอเมริกา (ซึ่งดูจากแผนที่แล้วพบว่ามีพลังงานแสงแดดต่อตารางเมตรน้อยกว่าประเทศไทย) พบว่า ต้นทุนพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ (ซึ่งเคยมีราคาถูกกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงแดด) ได้เพิ่มสูงขึ้นจนเท่ากับพลังงานจากแสงแดดเมื่อประมาณปี 2010
ผู้วิจัยได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันการผลิตจากโซลาร์เซลล์ได้รับประโยชน์จากระบบภาษี แต่คาดหมายว่าภายใน 10 ปี แม้ไม่มีการอุดหนุนใดๆ จากรัฐ แต่โซลาร์เซลล์ก็ถูกกว่านิวเคลียร์
คิดย้อนไปเมื่อปี 2497 เมื่อมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกของโลก ผู้อำนวยการพลังงานอะตอม (ชื่อ Lewis Strauss) ได้กล่าวสุนทรพจน์ว่า “สักวันหนึ่งไฟฟ้าที่ผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะมีราคาถูกมาก ถูกกว่าที่จะติดมิเตอร์เพื่อเก็บเงิน (too cheap to meter)” แล้วความจริงก็เป็นอย่างที่เราจากเส้นกราฟ
ปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเบลเยียม
ในระหว่างที่ผมโพสต์เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อนคนไทยก็ส่งข่าวเกี่ยวกับความบกพร่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 ใน 7 โรงของประเทศเบลเยียม โดยโรงแรกเริ่มใช้งานเมื่อปี 2517 จากรายงานการตรวจสอบพบว่า มีรอยบกพร่องที่ Reactor Pressure Vessel ถึงกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง โดยมีแผลขนาดเฉลี่ย 1 เซนติเมตร หลังจากผมได้สืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตพบว่า การค้นพบรอยบกพร่องมีฤดูร้อนปี 2012 แล้วกลับมาเดินเครื่องอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2013 แต่ข้อมูลจากวิกีพีเดียระบุว่า ในปี 2015 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง ได้ถูกยกเลิกการผลิตแล้ว นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า ประเทศเบลเยียม (ซึ่งผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ 54%) จะหยุดโรงไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2025 (รายละเอียดเป็นอย่างไรช่วยกันค้นคว้ากันต่อไปครับ) ข้อมูลล่าสุดพบว่ารอยปริร้าวได้เพิ่มขึ้นกว่า 1.6 หมื่นจุด (ข้อมูลจาก World Nuclear News)
จากเหตุการณ์ในเบลเยียม ทาง Greenpeace ได้ออกรายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ความตอนหนึ่งได้อ้างถึงคำพูดของผู้อำนวยการองค์กำกับดูแลเรื่องนิวเคลียร์ของเบลเยียม (The Belgian Nuclear Regulatory Authority (FANC)) ได้ให้ความเห็นว่า “กรณีในลักษณะเช่นนี้อาจจะเป็นปัญหาทั่วทั้งโลกสำหรับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ทั้งหมด”
10 บทเรียนจากฟูกุชิมะ : บทที่ 1 จงอย่าโง่ตามคำโฆษณาที่ว่า “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปลอดภัย”
เมื่อในโอกาสครบรอบ 4 ปี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟูกุชิมะระเบิด กลุ่มพลเมืองในญี่ปุ่นได้ออกหนังสือเล่มน้อยที่ชื่อว่า “10 Lessons from Fukushima” (สามารถดาวน์โหลดได้ครับ) โดยที่บทเรียนที่ 1 ก็เป็นไปตามที่ผมได้นำมาเป็นชื่อหัวข้อนี้ครับ
เนื้อหาขอบทเรียนที่ 1 ได้ย้อนไปถึงแผน “การใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ” ของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1950 ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นเพิ่งโดนระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูกมาไม่นาน เมื่อมีการคัดค้านจากชาวบ้าน ทางบริษัท TEPCO ก็ได้เปิดโต๊ะเจรจากับผู้นำท้องถิ่นพร้อมกับการต่อรองเรื่องที่ดินและผลกระทบต่อการประมง ด้วยคำพูดว่า “รังสีไม่มีอันตราย และไม่มีความเสียหายใดๆ”
เมื่อโรงที่หนึ่งเปิดดำเนินการก็ส่งผลกระทบทางมลพิษอย่างรุนแรง การก่อสร้างโรงที่ 2 ก็ถูกคัดค้านอย่างรุนแรง พลเมืองที่คัดค้านก็ถูกควบคุม และเมื่อเกิดเหตุการณ์ระเบิดในปี 2554 โรงที่ 3 ก็ถูกยกเลิกไป
หนังสือเล่มน้อยได้เล่าต่อไปว่า บริษัท สื่อมวลชน นักการเมือง และนักวิชาการได้รวมตัวกันสนับสนุนประสานเสียงกันประกาศว่า “พลังงานนิวเคลียร์ปลอดภัย สะอาด และเป็นพลังงานในฝัน (Nuclearpower is safe, clean,dream energy.)” พร้อมกับจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อโฆษณาผ่านทุกสื่อ รวมทั้งการศึกษาในโรงเรียน ทำให้หลายคนในกลุ่มที่เรียกว่า “Nuclear Village” ร่ำรวยกันไปตามๆ กัน
หนังสือเล่มน้อยนี้ยังระบุอีกว่า บริษัท TEPCO ได้สร้างระบบป้องกันสึนามิที่ความสูง 5.7 เมตร แต่ปรากฏว่า น้ำจากสึนามิ (ที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์) ทำให้ความสูงของน้ำถึง 14-15 เมตร
ขอแถมนิดหนึ่งครับ เรื่องความสูงของน้ำที่มากับสึนามิ ชาวบ้านชี้ให้ผมดูว่า น้ำมาสูงถึงยอดต้นไม้ที่เห็นไกลๆ ในรูปครับ (รูปนี้ถ่ายห่างจากโรงไฟฟ้าที่ระเบิดประมาณ 20-30 กิโลเมตร)
ผมเองได้มีโอกาสไปดูปัญหาที่เมืองฟูกุชิมะเมื่อ 8 เดือนที่แล้ว มีเรื่องราวที่อยากจะนำมาเล่าเยอะแยะครับ แต่คิดเอาเองว่ากระทรวงพลังงาน คงยังไม่กล้าเอาเรื่องนิวเคลียร์ขึ้นมารณรงค์ใหม่ในช่วงนี้ เพราะคนไทยยังไม่ลืมเหตุการณ์เมื่อ 4 ปีก่อน
แต่ผมก็คิดผิดครับ สำหรับตอนนี้ขอจบบทความนี้ไว้ก่อน เพื่อไปดูเขาติดแผงโซลาร์เซลล์ที่บ้านใกล้ๆ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ครับ