ญี่ปุ่นจัดพิธีรำลึกครบรอบ 4 ปีเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องตัดสินใจว่าจะต่ออายุมาตรการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติหรือไม่?
สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น ทรงเข้าร่วมพิธีรำลึกผู้เสียชีวิตในเหตุแผ่นดินไหวใหญ่และคลื่นสึนามิทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เมื่อในวันพุธที่ 11 มีนาคม โดยพิธีที่รัฐบาลจัดขึ้นมีประชาชนอีก 1,200 คนเข้าร่วมด้วย เพื่อไว้อาลัยต่อผู้สูญเสียจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นเมื่อ 4 ปีก่อน
สมเด็จพระจักรพรรดิตรัสว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประชาชนในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบนั้นได้พยายามอย่างมากเพื่อบูรณะสิ่งต่างๆ ขึ้นใหม่ พระองค์ยังทรงเน้นย้ำถึงให้ชาวญี่ปุ่นจดจำความยากลำบากซึ่งผู้ประสบภัยต้องเผชิญ
แผ่นดินไหวระดับ 9.0 ในครั้งนั้นก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่สูงกว่า 10 เมตรที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างแก่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น และทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือหายสาบสูญมากกว่า 18,500 คน โดยจนถึงทุกวันนี้ประชาชน 230,000 คน ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านพักชั่วคราว เนื่องจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะ
รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดช่วงเวลา 5 ปีให้เป็นช่วงฟื้นฟูบูรณะอย่างเข้มข้น โดยใช้มาตรการพิเศษ คือ การนำเงินจากคงคลังของประเทศมากกว่า 26.3 ล้านล้านเยน มาเป็นทุนสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการฟื้นฟูบูรณะ โดยไม่ให้เป็นภาระของทางการท้องถิ่น โครงการฟื้นฟูบูรณะเหล่านี้ครอบคลุมหลากหลายด้าน เช่น การสร้างถนน ท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ใหม่เพื่อให้ผู้ประสบภัยอยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม งบประมาณพิเศษช่วงเวลา 5 ปีจะครบกำหนดในเดือนมีนาคมปี 2559 ซึ่งรัฐบาลของนายกฯชินโซ อะเบะ จะต้องตัดสินใจว่าเงินทุนสำหรับโครงการฟื้นฟูหลังจากนี้จะมาจากแหล่งใด
4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ระดมเงินทุนเพื่อฟื้นฟูเขตภัยพิบัติทุกวิถีทาง ทั้งตัดลดรายจ่ายของรัฐบาล, ขึ้นภาษีเงินได้ ภาษีบำรุงท้องถิ่นและภาษีอื่น ๆ รวมทั้งระดมเงินจากหุ้นของบริษัทไปรษณีย์แห่งญี่ปุ่น ที่จะเสนอขายต่อประชาชน
ผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักข่าว NHKระบุว่า งบประมาณฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยที่ผ่านมาได้ใช้เงินจากการขึ้นภาษีที่สะสมมา 25 ปี รวมถึงเงินที่กู้ยืมมาจำนวนมาก
รัฐบาลจะต้องตัดสินใจภายในช่วงกลางปีนี้ว่าจะต่ออายุมาตรการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยหรือไม่? รวมทั้งจะให้ทางการท้องถิ่นช่วยแบกรับภาระหรือไม่?
จังหวะอิวะเตะ มิยะงิ และฟุกุชิมะ เรียกร้องให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยใช้เงินจากคลังของประเทศต่อไป ซึ่งหากทำเช่นนั้นรัฐบาลกลางของญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องหาช่องทางระดมเงินทุนจำนวนมหาศาล.