xs
xsm
sm
md
lg

“เมื่อไม่สามารถอดทนได้ เราจะลุกขึ้นสู้” แถลงการณ์ชาวชุมพรต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ชุมพร - ประชาชนชาว จ.ชุมพร ในนามเครือข่ายรักษ์ชุมพร แถลงการณ์ต้านกระทรวงพลังงานจัดกิจกรรมอบรมปรับทัศนคติประชาชนหนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อัดสร้างความแตกแยกให้ชุมชน ยกบทเรียน ‘ฟูกูชิมะ’ เตือนจงอย่าโง่ตามโฆษณาว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปลอดภัย ลั่นเมื่อไม่สามารถอดทนได้ก็จะลุกขึ้นสู้ ด้านกระทรวงพลังงานต้องเลื่อนการอบรมโดยไม่มีกำหนด

วันนี้ (26 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มประชาชนชาว จ.ชุมพร ในนามเครือข่ายรักษ์ชุมพร (Save Chumphon Green & Clean) ได้อ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เรื่อง “จากฟูกูชิมะถึงชุมพร เราไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์” โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ ระบุว่า

1.ไฟฟ้าประเทศเราไม่ได้มีปัญหา ปัญหาอยู่ที่กระทรวงพลังงานกำลังคิดอะไร? กระทรวงพลังงานไม่เคยตั้งโจทย์ว่า เราจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าอย่างไร เพื่อให้ประชาชนร่วมกันหาทางสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้า แต่กลับใช้ระบบคุณพ่อรู้ดีคนเดียวที่เริ่มต้นด้วยการตัดสินใจไปแล้ว (Decide) แล้วประกาศให้ประชาชนรู้ (Announce) แล้วตามด้วยการปกป้อง (Defend) เหตุผลของตน กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็เช่นเดียวกัน เป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายแล้วใช้วิธีการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเชื่อ

จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนสอบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง พบว่า กระทรวงพลังงานได้ใช้เงินเพื่อดำเนินการในเรื่องนิวเคลียร์นี้ในช่วงปี 2551-2553 ถึง 1,345 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการจ่ายตามแผนงานการสื่อสารสาธารณะ และการยอมรับของประชาชน 635 ล้านบาท จากประสบการณ์ที่ผ่านมา จึงทำให้เกิดคำถามที่สำคัญ คือ กระทรวงพลังงานขุดเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาอีกรอบเพื่ออะไร?
 
 

 
2.ทั้งโลกทยอยปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เราใช้สติปัญญาอะไรที่คิดจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่? “รายงานสถานการณ์ของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ (The World Nuclear Status Report)” ประจำปี 2014 ซึ่งเป็นรายงานของ “สถาบันจับตาโลก (The Worldwatch Institution)” ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1974 โดยสถาบันจับตาโลก ได้รับการยอมรับให้เป็น 1 ใน 10 สถาบันของโลกที่เน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ 2014 พบว่า ปัจจุบัน (นับถึง 1 กรกฎาคม 2014) ทั่วโลกมีจำนวนเตาปฏิกรณ์ปรมาณูอยู่ 388 เตา ใน 31 ประเทศ โดยมีกำลังผลิตรวม 333 กิกะวัตต์ (333,000 เมกะวัตต์) ในปี 2014 มีจำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์น้อยกว่าปี 2002 ซึ่งเป็นปีที่มากที่สุดถึง 50 โรง ดังนั้น คำโฆษณาชวนเชื่อที่ว่า ประเทศนั้นประเทศนี้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้น หรือเปิดใช้เพิ่มขึ้นทุกปีนั้นไม่เป็นความจริง
 

 
3.การสร้างนิวเคลียร์งบบานปลาย ใช้เวลาสร้างไม่รู้จบ ด้านระยะเวลาในการก่อสร้าง รายงานฉบับนี้ระบุว่า นับถึงเดือนกรกฎาคม 2557 มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 67 โรง (ในจำนวนนี้ 43 โรงอยู่ใน 3 ประเทศ คือ จีน อินเดีย และรัสเซีย) อายุการก่อสร้างเฉลี่ยนาน 7 ปี (แต่ยังไม่เสร็จ) ในจำนวนนี้มีประเภทที่เรียกว่า “กำลังก่อสร้าง” มี 8 โรง ที่ได้ก่อสร้างนานมาแล้วถึง 20 ปี แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ (บางประเทศ เช่น อาร์เจนตินา อิหร่าน สร้างไปแล้ว 32.9 และ 36.3 ปี ตามลำดับ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ)

ประเทศฟิลิปปินส์ สร้างเสร็จแล้วตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีมาร์กอส แต่ยังไม่ได้ใช้งานเลยเพราะพบข้อบกพร่องกว่า 4 พันจุด ความบกพร่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 ใน 7 โรงของประเทศถึงกว่าหนึ่งหมื่นแห่งโดยมีแผลขนาดเฉลี่ย 1 เซนติเมตร ประเทศเบลเยียม (ซึ่งผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ 54%) จะหยุดโรงไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2025 ข้อมูลล่าสุดพบว่า รอยปริร้าวได้เพิ่มขึ้นกว่า 1.6 หมื่นจุด (ข้อมูลจาก World Nuclear News)
 

 
4.ทางออกด้านความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ คือ โซลาร์เซลล์ไม่ใช่นิวเคลียร์ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Duke สหรัฐอเมริกา โดยใช้ข้อมูลความเข้มของแสงแดดในรัฐ North Carolina สหรัฐอเมริกา (ซึ่งดูจากแผนที่แล้วพบว่า มีพลังงานแสงแดดต่อตารางเมตรน้อยกว่าประเทศไทย) พบว่า ต้นทุนพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ (ซึ่งเคยมีราคาถูกกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงแดด) ได้เพิ่มสูงขึ้นจนเท่ากับพลังงานจากแสงแดดเมื่อประมาณปี 2010 จากเหตุการณ์ในเบลเยียม ทาง Greenpeace ได้ออกรายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความตอนหนึ่งได้อ้างถึงคำพูดของผู้อำนวยการองค์กำกับดูแลเรื่องนิวเคลียร์ของเบลเยียม [The Belgian Nuclear Regulatory Authority (FANC)] ได้ให้ความเห็นว่า “กรณีในลักษณะเช่นนี้อาจจะเป็นปัญหาทั่วทั้งโลกสำหรับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ทั้งหมด”

5.10 บทเรียนจากฟูกุชิมะ : บทที่ 1 จงอย่าโง่ตามคำโฆษณาที่ว่า “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปลอดภัย” เมื่อในโอกาสครบรอบ 4 ปี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟูกุชิมะระเบิด กลุ่มพลเมืองในญี่ปุ่นได้ออกหนังสือเล่มน้อยที่ชื่อว่า “10 Lessons from Fukushima” เมื่อโรงที่หนึ่งเปิดดำเนินการก็ส่งผลกระทบทางมลพิษอย่างรุนแรง การก่อสร้างโรงที่ 2 ก็ถูกคัดค้านอย่างรุนแรง พลเมืองที่คัดค้านก็ถูกควบคุม และเมื่อเกิดเหตุการณ์ระเบิดในปี 2554 โรงที่ 3 ก็ถูกยกเลิกไป และจนถึงขณะนี้ผลกระทบจากการระเบิดของโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะ ยังไม่สามารถให้ประชาชนเข้าไปอยู่อาศัยได้ ที่สำคัญรัฐบาลไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าประชาชนจะไปอยู่ได้เมื่อไหร่

6.ข้อเรียกร้องของเราคนชุมพร คือ 1.ให้กระทรวงพลังงานยกเลิกกิจกรรมเกี่ยวกับนิวเคลียร์ทุกอย่างในพื้นที่จังหวัดชุมพร และในแผนผลิตพลังงานไฟฟ้า 2.ให้กระทรวงพลังงานตั้งโจทย์ใหม่ว่า เราจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานด้วยพลังงานสะอาด และเป็นธรรมต่อประชาชนได้อย่างไร 3.เลิกใช้นโยบายบีบบังคับประชาชน เพราะเมื่อเราไม่สามารถอดทนได้ เราจะลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ดีของเรา กระทรวงพลังงานล้อเล่นกับชีวิตของคนใต้มากเกินไปแล้ว
 
 
หนังสือแจ้งยกเลิกการอบรมปรับทัศนคติประชาชนเพื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนเครือข่ายรักษ์ชุมพร (Save Chumphon Green & Clean) ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากกรณีที่ นายทวารัฐ สุตะบุตร รองปลัดกระทรวง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงพลังงาน ได้กำหนดจัดอบรมโครงการ “การสร้างความเข้าใจเพื่อการพัฒนาทัศนคติต่อการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์” ในวันนี้ที่โรงแรมชุมพรแกรนด์พาเลซ ต.วังไผ่ อ.เมือง จ.ชุมพร โดยกำหนดเชิญหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา รวม 38 แห่ง และที่ปรึกษาภาคประชาชน 4 คน สื่อมวลชน 6 คน เข้าร่วมอบรม
 อย่างไรก็ตาม วานนี้ (25 มี.ค.) เจ้าหน้าที่สำนักงานพลังงานจังหวัดชุมพร ได้แจ้งหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา ที่ปรึกษาภาคประชาชน และสื่อมวลชน ตามรายชื่อทั้งหมดที่ได้ส่งหนังสือเชิญให้เข้าร่วมรับการอบรม ว่า ขอเลื่อนการอบรมโครงการ “การสร้างความเข้าใจเพื่อการพัฒนาทัศนคติต่อการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์” ออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยไม่ได้มีการชี้แจงเหตุผลในการเลื่อนการอบรมในครั้งนี้แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีดังกล่าวเนื่องจากก่อนจะมีการประชุมโครงการ “การสร้างความเข้าใจเพื่อการพัฒนาทัศนคติต่อการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์” ตามวันเวลาดังกล่าว ได้มีกลุ่มพลังมวลชน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เอ็นจีโอ ชาวบ้านจำนวนมากทั้งในพื้นที่ และต่างจังหวัดได้ออกมารวมตัวเคลื่อนไหว และนัดแนะกันทางสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก ไลน์ จะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการอบรมโครงการดังกล่าว โดยกลุ่มผู้คัดค้านมองว่า กระทรวงพลังงาน มีเป้าหมายที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อยู่แล้ว ดังนั้น การเข้ามาดำเนินการโครงการปรับทัศนคติดังกล่าวเพื่อโน้มน้าวหาแนวร่วมในการสนับสนุน 

ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแบ่งฝ่าย เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในชุมชนตามมา จึงได้นัดรวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านไม่เห็นด้วยต่อโครงการ จึงทำให้กระทรวงพลังงาน ได้เลื่อนการอบรมโครงการดังกล่าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากเกรงว่าอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นได้
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น