xs
xsm
sm
md
lg

‘ฮ่องกง’หวาดผวา‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในโลก’

เผยแพร่:   โดย: หลิน จิง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Hong Kong eyes with fear world’s largest nuke plant
By Lin Jing
05/09/2013

ชาวฮ่องกงต่างกำลังจับจ้องอย่างหวั่นผวาไปที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งที่กำลังสร้างใกล้เสร็จในมณฑลกวางตุ้ง ทั้งนี้เนื่องจากเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าซึ่งอยู่ไม่ไกลจากฮ่องกงนักแห่งนี้จะเป็นเตาปฏิกรณ์ที่มีขนาดกำลังผลิตใหญ่ที่สุดในโลก เป็นไปได้ว่าพวกคนแผ่นดินใหญ่จีนเองอาจจะมีความหวาดกลัวน้อยกว่า แต่นั่นก็น่าจะเป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารใดๆ เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าแห่งนี้นั่นเอง

ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของประเทศญี่ปุ่นกำลังใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อควบคุมรังสีที่รั่วไหลออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ ภายหลังประสบภัยแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อกว่า 2 ปีมาแล้ว ประเทศจีนก็ยังคงเร่งเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าปรมาณูขนาดยักษ์แห่งใหม่ของตนในมณฑลกวางตุ้ง(กว่างตง) ดังนั้นจึงกระตุ้นให้เกิดกระแสความหวาดกลัวเรื่องความปลอดภัย ทั้งในหมู่กลุ่มผู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และในหมู่ชาวบ้านชาวเมืองท้องถิ่นผู้ซึ่งโอดครวญว่าพวกเขาไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอะไรเอาเสียเลย

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มูลค่า 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแห่งนี้ เป็นกิจการร่วมทุนระหว่างบริษัท ไชน่า กว่างตง นิวเคลียร์ พาวเวอร์ โฮลดิ้ง คอมปานี (China Guangdong Nuclear Power Holding Co ใช้อักษรย่อว่า CGNPC) กับ บริษัทไฟฟ้าแห่งฝรั่งเศส (Electricite de France ใช้อักษรย่อว่า EDF) ตั้งอยู่ในเมืองไถซาน (Taishan) บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River) ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปมาก โดยกำหนดกันเอาไว้ว่าจะเริ่มเดินเครื่องได้ในเดือนธันวาคมนี้ ทั้งนี้เตาปฏิกรณ์เครื่องแรกของโรงงานจะเป็นแบบใช้น้ำความดันสูงมาตรฐานยุโรป (European Pressurized Water Reactor) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และจะเป็นเตาปฏิกรณ์ที่มีกำลังผลิตมากที่สุดในโลก

สำหรับเตาปฏิกรณ์เครื่องที่สองของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซึ่งก็จะมีกำลังผลิตมากที่สุดในโลกเท่ากับเครื่องแรก มีกำหนดเริ่มเดินเครื่องได้ในเดือนธันวาคม 2014

อย่างไรก็ตาม แผนการดังกล่าวนี้กำลังสร้างความวิตกกังวลในหมู่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งตั้งอยู่ประชิดติดกับมณฑลกวางตุ้งและมีประชากรพำนักอาศัยอยู่มากกว่า 7 ล้านคน ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนของฮ่องกงที่ค่อนข้างเสรีมากกว่าสื่อแผ่นดินใหญ่ ได้เอาใจใส่เฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกแห่งหนึ่งซึ่งจีนสร้างขึ้นที่อ่าวต้าย่า (Daya Bay) เมืองเซินเจิ้ง ของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นเมืองที่มีพื้นที่ติดต่อกับฮ่องกงทีเดียว

“นี่เป็นเตาปฏิกรณ์ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดใหญ่กว่าเตาปฏิกรณ์อ่าวต้าย่าถึง 100 เท่า และบรรจุวัสดุรังสีเป็นปริมาณ 3 เท่าตัวของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ที่ฟูกูชิมะ” อัลเบิร์ต ไหล (Albert Lai) วิศวกรและนักเคลื่อนไหวเรียกร้องการพัฒนาอย่างยั่งยืนชาวฮ่องกง บอกกับ วิทยุเอเชียเสรี ในระหว่างการประชุมของพวกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ไหล ผู้ซึ่งเป็นประธานของเครือข่ายนักเคลื่อนไหวที่ใช้ชื่อว่า “โปรเพสชั่นนัล คอมมอนส์” (Professional Commons) อยู่ด้วย กล่าวว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไถซาน จะมีการแผ่รังสีมากกว่าระดับเฉลี่ยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไปถึง 7 เท่าตัว “ดังนั้นถ้าหากเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นมาแล้ว ผลของมันก็จะเลวร้ายยิ่งกว่าฟูกูชิมะมากมายนัก” เขาแสดงความกังวล

**ขาดไร้ข้อมูลข่าวสาร**

เขากล่าวต่อไปว่า พวกนักเคลื่อนไหวยังรู้สึกกังวลในเรื่องที่รัฐบาลจีนไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดทางเทคนิคของโรงไฟฟ้า, เอกสารด้านการควบคุมคุณภาพ, ตลอดจนรายงานประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“ข้อเท็จจริงก็คือ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั้งหมดนี้ มันเหมือนกับกำลังเกิดขึ้นภายในกล่องดำที่ไม่มีการเปิดเผยอะไรเลย ดังนั้นจึงทำให้ใครๆ พากันวิตกกันมาก” ไหล บอก

เขากล่าวอีกว่า เครือข่าย โปรเพสชั่นนัล คอมมอนส์ กำลังจับมือกับกลุ่มอื่นๆ อีก 8 กลุ่ม ในการทำจดหมายเปิดผนึกไปถึงรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยมีเนื้อหาเรียกร้องให้ส่งผ่านความวิตกกังวลเหล่านี้ไปยังพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบระดับมณฑลในกวางตุ้ง

ชายแซ่หง รายหนึ่งซึ่งเป็นผู้พำนักอาศัยในตำบลซื่อซี (Chixi) ของเมืองไถซาน อันเป็นสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ แสดงความรู้สึกว่า ตัวเขาเองคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ “ใครจะไปอยากได้โรงงานประเภทนี้ (มาตั้งอยู่ที่หลังบ้านของตัวเอง) แน่นอนที่สุด ผมไม่ต้องการให้มันมาอยู่ที่นี่หรอก” หง กล่าว แต่เขาก็พูดต่อไปด้วยว่า “ชาวบ้านทั่วๆ ไปไม่ได้รู้เรื่องกันเลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เพราะพวกเขา (พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ) ไม่เคยอธิบายอะไรให้ฟังเลย”

ผู้พำนักอาศัยอยู่ในตำบลซื่อซีรายที่สอง ซึ่งเป็นหญิงแซ่หาน บอกว่าเธอเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับโครงการนี้มาเหมือนกัน แต่ข้อมูลน้อยนิดดังกล่าวนี้ถูกถ่ายทอดมาหลายๆ ต่อจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน “พวกเราไม่เข้าใจอะไรเกี่ยวกับโครงการนี้หรอก แล้วพวกเราจะไปรู้สึกห่วงใยอะไรกับเขา” เธอกล่าว “พวกเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะมีความเสี่ยงมีอันตรายอะไรกันบ้าง”

ขณะที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในสำนักงานเทศบาลเมืองไถซาน ซึ่งรับสายโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเมื่อตอนต้นเดือนกันยายนนี้ ก็ไม่ยอมให้ความเห็นอะไรเกี่ยวกับโครงการนี้ “ผมไม่ทราบจริงๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้” เจ้าหน้าที่ผู้นี้บอก “คุณจะต้องไปติดต่อกับแผนกงานที่เกี่ยวข้อง”

**ขจัดความวิตกกังวล**

จากการสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูไถซาน ทำให้เวลานี้จีนมีฐานะเป็นประเทศที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก เมื่อคำนวณจากปริมาณหน่วยกระแสไฟฟ้า และนับเฉพาะส่วนที่ติดตั้งอุปกรณ์ผลิตกันแล้ว อย่างไรก็ดี อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสในอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ของจีนรายหนึ่ง ได้ออกมาเรียกร้องปักกิ่งให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแผนการของตนให้มากขึ้น เพื่อลดทอนความหวาดกลัวของดินแดนเพื่อนบ้านอย่างมาเก๊าและฮ่องกง

หลี่ อี้ว์หลุน (Li Yulun) อดีตรองประธานกรรมการบริหารของบรรษัทไชน่า เนชั่นแนล นิวเคลียร์ (China National Nuclear Corp) บอกว่าทั้งอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ และหน่วยงานกำกับตรวจสอบของจีน ต่างก็ควรที่จะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้งหมดเกี่ยวกับตัวโรงไฟฟ้าและมาตรการความปลอดภัยที่นำมาใช้ ให้สาธารณชนได้รับทราบ และ “ขจัดความวิตกกังวล” ของประชาชน ทั้งนี้บรรษัทไชน่า เนชั่นแนล นิวเคลียร์ เป็นกิจการซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติการด้านนิวเคลียร์ทั้งหมดในจีน ไม่ว่าจะเป็นกิจการนิวเคลียร์ด้านพลเรือนหรือด้านการทหาร

ก่อนหน้านี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “กรีนพีซ” (Greenpeace) ได้เคยออกรายงานเมื่อเดือนมกราคม 2012 ระบุว่า ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ไถซานนั้น ได้พบข้อบกพร่องซ้ำๆ หลายครั้งหลายหน รวมทั้งระดับรังสีที่แผ่ออกมาในไถซานเวลานี้ ปรากฏว่าอยู่ในระดับสูงกว่าพื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้าอ่าวต้าย่า 1.4 เท่าแล้ว

ในกวางตุ้งนั้น รัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลยังมีแผนการที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งหนึ่งขึ้นที่เมืองเจียงเหมิน (Jiangmen) ซึ่งก็อยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงเช่นเดียวกับไถซาน แต่ได้มีการประกาศพับเก็บแผนการนี้ไปแล้ว ภายหลังมีประชาชนจำนวนเรือนพันเรือนหมื่นออกมาประท้วงคัดค้านเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

หลี่ บอกกับผู้สื่อข่าวในมาเก๊าเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ข้อมูลข่าวสารที่ทรงความสำคัญอย่างที่สุด 2 อย่างซึ่งรัฐบาลควรต้องนำออกมาเผยแพร่ ได้แก่ รายการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และรายงานประเมินความปลอดภัยของโรงงาน แต่เขาก็บอกด้วยว่า มณฑลกวางตุ้งถือเป็นสถานที่ดีเยี่ยมสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเช่นแผ่นดินไหว

หลิน จิง (Lin Jing ) เป็นผู้รายงานข่าวนี้ให้วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษากวางตุ้ง (Radio Free Asia's Cantonese Service) ลุยเซตตา มูดี (Luisetta Mudie) เป็นผู้เขียนรายงานข่าวนี้เป็นภาษาอังกฤษ

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น