xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนการ “อารยะขัดขืน” อีกครั้งของผู้สนับสนุนเสรีภาพสื่อจีน

เผยแพร่:   โดย: น้ำทิพย์ อรรถบวรพิศาล

กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องเสรีภาพ บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่หนังสือพิมพ์ภาคใต้สุดสัปดาห์ หรือเซาเทิร์น วีกลี่ (ภาพ เอเจนซี)
นับแต่การก้าวขึ้นรับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนใหม่ สี จิ้นผิง (习近平)ผู้ซึ่งประกาศกร้าวว่าจะปฏิรูปการเมือง กลับมีเหตุให้ต้องบาดหมางกับปัญญาชนหัวเสรี จากการเข้าแทรกแซงการทำหน้าที่ “กระจกสะท้อนสังคม” ของสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศมาแล้วถึง 3 ครั้ง กระทั่งล่าสุดบีบให้สื่อชั้นนำอย่าง หนังสือพิมพ์ข่าวปักกิ่ง หรือเดอะ เป่ยจิง นิวส์ ลงบทความกล่าวโทษหนังสือพิมพ์ภาคใต้สุดสัปดาห์ หรือเซาเทิร์น วีกลี่ ว่าเป็นต้นเหตุยุยงให้สื่อในจีนแผ่นดินใหญ่เผชิญหน้ากับรัฐบาล อันนำมาซึ่งกระบวนการอารยะขัดขืน (disobedience) อีกครั้งของผู้สนับสนุนเสรีภาพสื่อจีน

แม้ว่าอดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน (江泽民) จะเคยเตือนแล้วว่า “คอรัปชั่น หากแก้ไขไม่ได้ ก็อาจได้เห็นหายนะของพรรคฯ และสาธารณรัฐแห่งประชาชน” หรือแม้แต่ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 18 ซึ่งเป็นการประชุมถ่ายโอนอำนาจแก่ผู้นำสูงสุดชุดใหม่ ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา(胡锦涛) ก็ได้ประกาศก้องว่า “กระบวนการยุติธรรมของเรา ต้องไม่ยอมให้สิ่งใด หรือผู้ใดอยู่เหนือกฎหมาย หรือ ละเว้นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของผู้ใดทั้งสิ้น" ทั้งได้กล่าวย้ำถึง "การปฏิรูปการเมือง การปกครองประเทศ" ว่า การปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการปฏิรูปโดยรวมของจีน ซึ่งต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดมรรคผล และนำไปสู่สิทธิภายใต้ขอบเขตที่แท้จริงของประชาชนตามแนวทางประชาธิปไตย

แต่เนื่องเพราะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดถือเสมอว่า การจะคงความเป็นเอกภาพในสังคมขนาดใหญ่ ทั้งยังมีปัญหาภายในและภายนอกที่ซับซ้อนเช่นจีนได้ “สื่อจะต้องเป็นของรัฐ” จึงคอยสอดส่องและกำกับด้วยกฎหมายอย่างใกล้ชิด ความพยายามแทรกแซงสื่อที่ยังคงอยู่อย่างเด่นชัด ส่งผลให้เหล่าบรรดา“ปัญญาชนหัวเสรี” ต้องพบกับความผิดหวัง และกลายเป็นกระแสร้อนแรงในช่วงหัวปีนี้

ทางการจีนเริ่มต้นปีใหม่ 2013 ด้วยการประกาศไม่ต่อวีซ่าให้นายนายคริส บัคลีย์ ผู้สื่อข่าวสายจีนตลอด 12 ปี ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส หลังหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดเผยแพร่รายงานข่าวเกี่ยวกับความร่ำรวยของคนในตระกูลนายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่า ตามมาด้วยการสั่งปิดเว็บไซต์ของนิตยสารสนับสนุนการปฏิรูปชั้นนำ คือ เหยียนหวงชุนชิว (炎黄春秋 /China Through the Ages) โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผล แต่จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์คาดว่า สาเหตุมาจากมีการลงบทความเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนปฏิรูปการเมือง และการมีรัฐบาลที่ยึดหลักการบริหารประเทศบนพื้นฐานของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของประเทศ
บทความ ที่ลงตีพิมพ์ในหน้า A20 ฉบับวันที่ 9 ม.ค. 2556 ในหนังสือพิมพ์ The Global Times ทั้งนี้บรรณาธิการสื่อจีนแผ่นดินใหญ่กลุ่มหนึ่งขัดขืนไม่ยอมเขียนชื่อของพวกเขาลงในบรรทัดท้ายหน้าเพื่อแสดงการประท้วง (ภาพเอเจนซี)
รวมถึงกรณีความขัดแย้งระหว่างหนังสือพิมพ์ภาคใต้สุดสัปดาห์ (Southern weekly) ที่จีนเรียก หนานฟางโจวโม่ว (南方周末) กับฝ่ายโฆษณาการประจำมณฑล หลังจากมีการสั่งถอดบทบรรณาธิการต้อนรับปีใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องการปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้มากขึ้น และนำบทสรรเสริญยกย่องพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาใส่แทน การกระทำดังกล่าวไม่เพียงส่งผลให้กลุ่มผู้สื่อข่าวภาคใต้สุดสัปดาห์กว่าร้อยคนหยุดงานเพื่อชุมนุมประท้วงโดยสงบบริเวณหน้าสำนักงานใหญ่บริษัท หนานฟาง มีเดีย กรุ๊ป (Nanfang Media Group) ในวันจันทร์ที่ 7 ม.ค. เท่านั้น แต่ยังปรากฏประชาชนจากหลายวงการ อาทิเช่น นักข่าว นักวิชาการ จับมือกันส่งจดหมายเปิดผนึกประท้วง ตลอดจนการเล่นอักษรไขว้ทางสังคมออนไลน์เพื่อส่งกำลังใจแก่ภาคใต้สุดสัปดาห์อีกด้วย

ในสัปดาห์เดียวกัน ไต้ จื้อเกิ้ง (戴自更) ผู้อำนวยการเดอะ เป่ยจิง นิวส์ (新京报社/The Beijing News) ถูกบีบจากการที่เหยียน ลี่เฉียง (严力强) รองผู้อำนวยการสำนักโฆษณาการปักกิ่ง ที่ถึงกับเข้ามาสั่งการในห้องข่าวด้วยตัวเอง ให้ลงบทความในหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ส (The Global Times/环球时)กล่าวโทษหนังสือพิมพ์ ภาคใต้สุดสัปดาห์ ว่า เป็นต้นเหตุยุยงให้สื่อในจีนแผ่นดินใหญ่เผชิญหน้ากับรัฐบาล พร้อมกับประกาศห้ามปรามสื่อจีนทำตัวเสมือนเขตปกครองพิเศษ และอ้างว่าเหตุการณ์ประท้วงการเซ็นเซอร์สื่อที่มณฑลก่วงตงถูกยั่วยุโดยกองกำลังภายนอก ทั้งนี้ ในขณะที่หนังสือพิมพ์ของจีนหลายฉบับได้พิมพ์ซ้ำบทวิจารณ์ของโกลบอลไทม์ส แต่ก็มีกลุ่มหนังสือพิมพ์หลายฉบับในเครือเดียวกับภาคใต้สุดสัปดาห์ กลับมิได้ลงบทวิจารณ์นี้ โดยมีข่าวปักกิ่ง หรือ เป่ยจิงนิวส์ รวมอยู่ด้วย

ท่าทีขัดขืนของ ไต้ จื้อเกิ้งได้ก่อให้เกิดการโต้เถียงที่รุนแรงกับ หลี่ว์ เหว่ย (鲁炜) ผู้อำนวยการสำนักโฆษณาการปักกิ่ง ซึ่งโทรศัพท์ตามเข้ามากำชับ ถึงขั้นบังคับให้เขาต้องเลือกระหว่างลงบทความกับถูกปิดสำนักพิมพ์ อันนำมาซึ่งการประกาศลาออกด้วยตนเองของ ไต้ จื้อเกิ้ง เมื่อคืนวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับทิ้งท้ายไว้ว่า "ปีเก่าได้ลาลับไป ท่ามกลางความสว่างไหวและความมืดมิด เราใช้ทุกวิถีทางที่จะเป็นพยานให้กับทุกวันตลอดปี 2012 โดยเฉพาะมีชีวิตผ่านข้ามวันสิ้นโลกมาได้ ขอเพียงเรามีชีวิตอยู่ด้วยความสุข ศรัทธาในอุดมการณ์ และมีความหวังกับอนาคต อุปสรรคใดใดก็มิอาจขวางกั้น เราหวังว่าสำนักพิมพ์จะสามารถบันทึกเรื่องราวในช่วงเวลาต่างๆ และพูดแทนประชาชน ทั้งมีหน้าที่สนับสนุนความก้าวหน้าของสังคมธรรมาภิบาล และระบบนิติธรรมอย่างนานาอารยะประเทศต่อไป”

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า แต่เดิมสำนักพิมพ์เป่ยจิงอยู่ในเครือเดียวกันกับหนังสือพิมพ์ภาคใต้สุดสัปดาห์ ซึ่งก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างหนังสือพิมพ์รายวันกวงหมิง 《光明日报》 และหนังสือพิมพ์ภาคใต้ หรือหนานฟาง《南方报》ปัจจุบัน แม้ว่าหนังสือพิมพ์เป่ยจิงจะตกอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของสำนักโฆษณาการปักกิ่ง และมีหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็มีนักข่าวและคอลัมนิสต์จำนวนไม่น้อยย้ายมาจากหนังสือพิมพ์ภาคใต้สุดสัปดาห์ จึงไม่แปลกใจที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองค่ายยังคงแน่นแฟ้น ถึงขั้นออกบทความเรื่อง “โจ๊กทางใต้”《南方的粥》สนับสนุนหนังสือพิมพ์ภาคใต้สุดสัปดาห์ ภายในวันเดียวกับที่ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์ประกาศลาออก
ชื่อและโลโกของหนังสือพิมพ์ข่าวปักกิ่ง หรือ เป่ยจิง นิวส์ ยามสนทยาวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่ผอ.ข่าวปักกิ่งประกาศลาออก (ภาพ รอยเตอร์)
ความว่า “มีโจ๊กร้อนๆ ถ้วยหนึ่งมาจากภาคใต้ ตอนเสริฟขึ้นโต๊ะยังเดือดปุดปุด ราวกับว่ามีใจที่กล้าหาญ ในคืนที่หนาวเหน็บ ปากของเราซีด เพื่อที่จะยืดหยัดต่อไปบนโลก พวกเราจงล้อมวงกันเติมความอบอุ่นด้วยโจ๊กร้อนๆ ถ้วยนี้ มีแต่โจ๊กถ้วยนี้เท่านั้นที่จะมอบความรักและปลอบใจเรา” ....“ว่ากันว่าปีนี้เป็นปีที่หนาวที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา โลกร้อนเย็นไปพร้อมกันตั้งแต่ใต้จรดเหนือ เสมือนเป็นหนึ่งเดียวกัน หนาวเหน็บตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า ในค่ำคืนที่อ้างว้างเช่นนี้ จะมีอาหารชนิดใดให้ความอบอุ่นแก่เราได้ สิ่งที่ข้าพเจ้านึกถึงเป็นอันดับแรก คือ โจ๊กร้อนๆ สักถ้วย ซึ่งโจ๊กที่ดีที่สุด คือ โจ๊กที่ตุ๋นมาจากทางใต้”

จาง หง (张宏) ผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สำรวจเศรษฐกิจ (经济观察报/ Economic Observer ) ให้ทัศนะ “วิกฤตินี้ย้ำเตือนให้เหล่าปัญญาชน และนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าตระหนักว่า รัฐบาลให้ความสนใจแค่การปฏิรูปเศรษฐกิจในบางพื้นที่ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเมือง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่น่าเศร้าของรัฐบาลจีนชุดใหม่ และความฝันที่จะเห็นการปฏิรูปการเมืองก็คงจะไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้
เดอะ เป่ยจิง นิวส์ ออกบทความเรื่อง “โจ๊กทางใต้”《南方的粥》พร้อมเสนอภาพอาหารโจ๊กทางใต้  เป็นสัญลักษณ์การสนับสนุนหนังสือพิมพ์ภาคใต้สุดสัปดาห์ หรือ เซาเทิร์น วีกลี่ (ภาพ เอเจนซี)
อนึ่ง กล่าวสำหรับสถานะของฝ่ายโฆษณาการแห่งปักกิ่ง (北京宣传部หรือ Propaganda of Beijing) นั้น เป็นหน่วยงานสายตรงของฝ่ายโฆษณาการของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (中央宣传部  หรือ Propaganda Department of the CPC central Committee) ซึ่งเป็นองค์กรสายพรรคฯ ระดับสูงสุดที่ชี้นำการทำงานของสื่อมวลชนทั่วประเทศ แม้จะไม่มีหน้าที่ควบคุมบริหารองค์กรสื่อโดยตรง แต่เป็นผู้วางแนวทางนโยบายของการแพร่กระจายข่าวสาร ตลอดจนกำหนดจุดยืนและท่าทีของพรรคฯ/รัฐ ต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ที่สื่อจะนำไปเสนอเผยแพร่สู่ผู้รับสารทั่วประเทศและต่างประเทศ

ดังจะเห็นได้ว่า ปัจจุบัน จีนยังคงผูกขาดกรรมสิทธิ์สื่อให้เป็นของรัฐอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะสื่อหลัก อันได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ที่มีบทบาทต่อความคิดของประชาชน พยายามปิดกั้นไม่ให้ประชาชนสามารถรับสื่อจากตะวันตกมากนัก ซึ่งนอกจากจะตัดการสื่อสารกระแสตรง เช่น การบล็อก facebook และ youtube แล้ว ในส่วนของนักลงทุน ยังอนุญาตให้ต่างชาติเข้าได้เฉพาะสื่อที่ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความคิดทางการเมือง ได้แก่ เนื้อหาบันเทิง ศิลปะ ความรู้ ข่าวสาร กีฬา ฯลฯ และอนุญาตให้ต่างชาติเข้าได้เฉพาะกิจการสื่อที่ทำเป็นธุรกิจ เช่น การผลิตภาพยนตร์ การตีพิมพ์สิ่งพิมพ์วิชาการ การจัดจำหน่าย การโฆษณา การเป็นเจ้าของโรงฉายภาพยนตร์ ฯลฯ โครงสร้างการควบคุมเช่นนี้ คือ ลักษณะพิเศษของสื่อในระบอบสังคมนิยม ที่ดูเหมือนจะสวนทางกับกระแสโลกที่กำลังเรียกร้องให้รัฐยกเลิกการควบคุมสื่อ (deregulation) (ดูรายเพิ่มเติมได้ในหนังสือเจาะลึกสื่อจีน ของรองศาสตราจารย์วิภา อุมฉันท์)

ทั้งนี้ การไม่ยอมรับคุณค่าข่าวในฐานะ “กระจกสะท้อนสังคม” โดยควบคุมไม่ให้สื่อนำเสนอเรื่องราวในด้านลบของออกสู่สาธารณะ อาจมิใช่ผลดีในระยะยาวไม่ว่าจะสำหรับการปกครองรูปแบบใดก็ตาม เพราะลักษณะของ “We are the World” ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งมี “ชุมชนอิเล็กทรอนิกส์” เป็นพื้นฐาน ทำให้ไม่มีรัฐบาลหรือผู้นำของประเทศใดจะสามารถวางตนนอกกรอบจริยธรรม โดยไม่คำนึงถึงสายตาของประชาคมโลก ในขณะเดียวกันดูเหมือนว่าจะกระแสใดใดต่างก็ยากจะต้านทานความฝันของมนุษย์ที่ใฝ่หา “สิทธิอันเท่าเทียม” (right to equality) เสียแล้ว ฉะนั้น ไม่ว่าจะชอบหรือไม่สิ่งที่รัฐบาลจีนพึงกระทำในเวลานี้ คือ การปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย ยอมรับในเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อมีโอกาสได้ปรับปรุงแก้ไขให้ตรงใจประชาชนได้ทันเวลา อันจะนำมาซึ่งภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบและเสถียรภาพของตัวผู้นำเอง หากไม่แล้วการแสดง “อารยะขัดขืน”ของกลุ่มผู้สนับสนุนเสรีภาพของสื่อในวันนี้ อาจลุกลามกลายเป็น “สงครามเพื่อเสรีภาพ” ในวันข้างหน้า ซึ่งมักจะถูกกระตุ้นเร็วขึ้นเมื่อประชาชนไม่อิ่มท้อง นอนหลับไม่สบาย และอึดอัด คับข้องใจกับความไม่โปร่งใสของรัฐบาล !!
กำลังโหลดความคิดเห็น