xs
xsm
sm
md
lg

“เซ็นเซอร์ตัวเอง” หายนะของวงการสื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เซ็นเซอร์ตัวเอง” คือ คำอธิบายอย่างเป็นทางการของกรณีปัญหาการ “ตัดจบ” ละคร “เหนือเมฆ 2” จากหลายๆ ฝ่ายราวกับว่านี่เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ทั้งที่เอาเข้าจริงๆ แล้วในมุมมองของผู้สร้างงานบางคนการ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ก็เป็นความเลวทรามที่ไม่ได้แตกต่างไปเลย

ในทางวิชาชีพสื่อสารมวลชน “เซ็นเซอร์ตัวเอง” (Self-censorship) คือ กระบวนตรวจสอบ หรือ แยกแยะจัดประเภทในขั้นต้น สำหรับผลงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ, ภาพยนตร์, ละคร, ข่าว หรือกระทั่งงานวิทยาศาสตร์ ที่เจ้าของงานมองเห็นถึง “ความเสี่ยง”, “เกิดความกลัว”, หรือแม้แต่ “ความห่วงใย” เชื่อว่า อาจงานของตนอาจส่งผลกระทบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อผู้อื่น หรืออาจจะเป็นตนเองก็ได้

ที่สำคัญ การเซ็นเซอร์ตัวเองต้องทำโดยปราศจากการแทรกแซง และกดดันของคนนอก, ผู้มีอำนาจ หรือสถาบันใดๆ ถือว่าเป็นการตรวจสอบผลงานขั้นต้นจากเจ้าของงาน ที่อาจเป็นทั้ง ผู้สร้าง, ผู้กำกับภาพยนตร์, ผู้ตีพิมพ์ จนไปถึงคนนำเสนออย่าง ศิลปิน หรือผู้ประกาศข่าว

โดยพื้นฐานการเซ็นเซอร์ตัวเอง ก็ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร ถือเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของงาน ในการตรวจสอบผลงานของตนเองเป็นอันดับแรก

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่ทุกอย่างไม่ได้สวยงามชัดเจน “การเซ็นเซอร์ตัวเอง” กลับสร้างปัญหาขึ้นมาไม่น้อย ในบางกรณียุ่งยากยิ่งกว่าการเซ็นเซอร์ตามปกติ โดยหน่วยงานหรือผู้มีอำนาจโดยตรงเสียอีก

“เซ็นเซอร์ตัวเอง” ความคลุมเครืออันน่ากลัว, ศัตรูที่มองไม่เห็น

ในกรณีของละคร เหนือเมฆ 2 แม้แต่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ตัวแทนของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ยังออกมาให้ข่าวว่า เป็นช่อง 3 ที่อาจตัดสินใจเซ็นเซอร์ตัวเองก่อน โดยไม่ได้มีใครเข้าไปกดดันอะไร

ปัญหาอยู่ตรงที่ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่า การเซ็นเซอร์ตัวเองของช่อง 3 จะเกิดขึ้นโดย “ปราศจาก การแทรกแซง และกดดันของคนอก, ผู้มีอำนาจ หรือสถาบันใดๆ” นอกจากนั้น การอ้างเหตุผลเรื่อง “เนื้อหาไม่เหมาะสม” และกล่าวไปถึงความเสี่ยงต่อการขัด “มาตรา 37” ที่ว่าด้วยความมั่นคง ซึ่งทั้งหมดก็ไร้ความชัดเจน และคำอธิบายเฉพาะเจาะจงใดๆ ก็ยิ่งทำให้เรื่องที่เกิดขึ้นน่าสงสัยขึ้นไปอีก

ไม่ใช่เพียงแค่การงดออกอากาศของละคร เหนือเมฆ 2 ด้วยเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนัก และขาดคำอธิบาย ชนิดเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับสังคมไทยเท่านั้น “นักเล่าข่าวอันดับ 1 ของประเทศ” ที่เกาะติดข่าวเด่น เหตุการณ์สำคัญก็เลือกที่จะ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ด้วยการไม่พูดถึงเหตุการณ์ระดับ “ทอล์ก ออฟ เดอะ ดาวน์” ครั้งนี้เลย

ผู้กำกับรางวัลออสการ์ “การเซ็นเซอร์ตัวเอง” คือ อันตรายที่แท้จริง

การเซ็นเซอร์ตัวเอง อาจเป็นคำตอบของการควบคุมสื่อในบางสถานการณ์ แต่ในบางสังคม มันกลับเป็นเรื่องที่แทบจะตรงกันข้าม เพราะนี่อาจเป็นศัตรูที่มองไม่เห็นตัว, ต่อสู้ได้ลำบาก และแม้แต่ฝั่งอยู่ในตัวของเราเอง

อิหร่านได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยการควบคุมสื่อ แต่ถึงกระนั้นวงการหนังของพวกเขาก็ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีผู้กำกับชั้นนำที่โด่งดังในระดับโลกมากมาย ถึงขั้นที่มีคนกล่าว “ข้อจำกัดต่างๆ นำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์” แต่สำหรับผู้กำกับดัง อัสกฮาร์ ฟาร์ฮาดี เจ้าของรางวัลออสการ์ สาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม กลับไม่ได้เห็นเช่นนั้น สำหรับเขาการถูกควบคุมอย่างเข้มงวดอย่างสร้างแรงกดดันให้กับคนทำงาน จนสามารถดิ้นรนและคิดสร้างสรรค์อะไรออกมาได้บ้าง แต่สุดท้ายในระยะยาว “ทุกอย่างจะถูกทำลาย”

ฟาร์ฮาดี เล่าว่า คนรุ่นเขาเติบโตขึ้นมาภายใต้กฎระเบียบต่างๆ แบบการปกครองของรัฐอิสลาม ทั้งที่บ้าน, โรงเรียน, ท้องถนน, มหาวิทยาลัย จนบางครั้งไม่สามารถแยกออกได้เลยว่ากฎระเบียบต่างๆ อยู่ตรงไหนกันแน่ และบ่อยครั้งการควบคุมต่างๆ ก็เกิดขึ้นจากตัวของประชาชนเอง “มันไม่ได้มาจากระบบ, ไม่ได้มาจากผู้มีอำนาจ และระบบการปกครองเท่านั้น”

“การเซ็นเซอร์บางทีอยู่ในตัวของเจ้าของงาน หรือคนทำหนังเอง โดยไม่ได้รู้ตัวเลย และนี่ยิ่งอันตรายกว่า เพราะถ้าเป็นกฎระเบียบที่ชัดเจน เราก็ยังมองเห็น เข้าใจมันได้, จดจำเอาไว้เป็นประสบการณ์ และสามารถหาทางข้ามผ่านมันไปได้”

“แต่เมื่อมันถูกฝังอยู่ในหัว คุณจะไม่มีทางหามันได้เลย เหมือนกับการป่วยไข้ แต่เรากลับไม่รู้ว่าตัวเองป่วย และรู้สึกว่าตนปกติดี นี่แหละอันตรายของจริง” ผู้กำกับชาวอิหร่านเจ้าของรางวัลออสการ์กล่าว

วงการสื่อ “สิงคโปร์” ล่มสลายด้วยการ “เซ็นเซอร์ตัวเอง”

โดยมาก การเซ็นเซอร์ตัวเอง เกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางการเมือง โดยเฉพาะในสังคมที่มีผู้ปกครองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ อย่างในรัสเซีย เช่นเดียวกับ สิงคโปร์ ประเทศที่ได้ชื่อว่า พัฒนา และทันสมัยที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย แต่สื่อมวลชนในประเทศกลับทำงานด้วยข้อจำกัดมากมาย

ในหนังสือ Self-Censorship: Singapore's Shame ซึ่งศึกษาถึงธรรมชาติของสื่อในสิงคโปร์ เจมส์ โกเมซ ผู้เขียนได้อธิบายว่า นอกจากกฎระเบียบโดยทั่วไปแล้ว สิ่งที่มีส่วนต่อการควบคุมสื่อสารมวลชนในสิงคโปร์ ทั้งที่เป็นชาวสิงคโปร์เอง และเป็นชาวต่างชาติ ก็คือ การ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ของบรรดาสื่อนั่นเอง

ถึงที่สุดแล้วรัฐบาล ที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อปี 2506 กลับไม่ได้มีอิทธิพลต่อการทำงานของสื่อ เท่ากับการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อในประเทศ ที่เกิดขึ้นด้วยอิทธิพลทางสังคมที่สั่งสมกันมานาน จนสามารถครอบงำไปถึงความรู้สึกนึกคิด ทั้งในด้านประชาธิปไตย และสิทธิการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แม้จะมีคนพยายามดิ้นรนปลดแอกอยู่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อยจนไม่สามารถทำอะไรได้

วงการภาพยนตร์ และโทรทัศน์ในสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นงานที่พวกเขาผลิตเอง หรือซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ ล้วนโดนเซ็นเซอร์ก่อนที่จะถึงมือเจ้าหน้าที่ หนังหลายเรื่องเซ็นเซอร์ตั้งแต่บทภาพยนตร์ก่อนที่จะได้สร้างออกมาเสียด้วยซ้ำ

ด้วยความกินดีอยู่ดี และเศรษฐกิจอันแข็งแกร่ง ประชาชนชาวสิงคโปร์ดูจะไม่ค่อยดิ้นรนกับเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนัก นอกจากนั้น การใช้นโยบายควบคุมสื่ออย่างหนักหน่วงรุนแรงมาก่อน ยังทำให้วงการสื่อสารมวลชนของเมืองลอดช่องถูกปกคลุม แผ่ซ่านไปด้วย บรรยากาศของ “ความหวาดกลัว” การเซนเซอร์ตัวเองในระดับทีเรียกว่า “เกินกว่าเหตุ” จึงเกิดขึ้นในประเทศแห่งนี้แล้ว

........................

ถึงตอนนี้มีนักเขียนบทละครชื่อดังรายหนึ่ง ได้ยอมรับว่า มีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในวงการละคร จากบรรดาผู้จัดต่างๆ ให้กำจัดความสุ่มเสี่ยงใดๆ ออกจากบทละครที่เตรียมสร้างอยู่ทั้งหมด

ส่วนหนัง “ปิตุภูมิ พรมแดนแห่งรัก” ของ “ยุทธเลิศ สิปปภาค” ที่เล่าเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง และศาสนาทางภาคใต้ ก็ยังไม่ได้เข้าฉายเสียที ถึงจะถ่ายทำ และตัดต่อเสร็จแล้ว พร้อมข่าวลือที่ว่าบรรดาผู้สร้างที่ได้ดูหนังฉบับเต็ม มีความวิตกกังวลถึงเนื้อหาบางอย่างของหนัง จนตัดสินใจเลื่อนฉายไปแบบไม่มีกำหนด

สุดท้ายการ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายเสียทีเดียว อย่างไรเสียก็ถือเป็นกลไกหนึ่งของการแสดงความคิดเห็น แต่ก็ไม่ใช่คำตอบที่จะสามารถหยุดข้อสงสัยความไม่ชอบพอมาพากลทั้งหมดได้ และการเซ็นเซอร์ตัวเองที่เกิดขึ้นจากการกดดันทางภายนอก ไม่ว่าจะเป็นด้วยเรื่องธุรกิจหรือการเมือง ก็คงไม่สามารถเรียกว่าเป็นการเซนเซอร์ตัวเองที่แท้จริงไปได้

โดยเฉพาะกรณี “เหนือเมฆ 2” ซึ่งแทบไม่มีคำตอบ และคำอธิบายใดๆ ที่น่าพอใจเลย ที่ย่ำแย่ไปกว่านั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังสร้างบรรยากาศอันไม่น่าไว้วางใจ และน่าหวาดกลัวขึ้นมาในแบบเดียวกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ “การเซ็นเซอร์ตัวเอง” ก็เลวร้ายไม่ได้แตกต่างจากการ “เซ็นเซอร์” ด้วยวิธีอื่นเลย

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก




ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
นักเล่าข่าวคนดังเลือก เซนเซอร์ตัวเอง เช่นเดียวกัน
ผู้กำกับชาวอิหร่านที่เชื่อว่าการ เซนเซอร์ตัวเอง คืออันตราย
ผู้กำกับหนังชาวสิงคโปร์ทำหนังเสียดสีการเซนเซอร์ในประเทศ
ปิตุภูมิ พรมแดนแห่งรัก มีสิทธิ์โดน เซนเซอร์ตัวเอง ไปอีกเรื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น