xs
xsm
sm
md
lg

ประท้วงเซนเซอร์สื่อจีน ทวง “ความฝันสู่รัฐธรรมนูญ”

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

หนังสือพิพม์ เซาเทิร์น วีคลี่ (Southern Weekly) หรือ หนันฟาง โจวมั่ว ฉบับวันที่ 3 ม.ค. 2556 ตีพิมพ์บทบรรณาธิการ ที่จุดชนวนการประท้วงต่อต้านการควบคุมสื่อ (ภาพ รอยเตอร์)
ASTVผู้จัดการออนไลน์—ในวันปีใหม่ ที่เมืองจีนได้เกิดเหตุการณ์ประท้วงการริดรอนเสรีภาพสื่อ ระดับ “แผ่นดินไหว” ที่ท้าทายรัฐบาลโดยเฉพาะกลุ่มผู้นำใหม่ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ที่ขณะนี้ครองตำแหน่งเลขาธิการคนใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์แล้วเมื่อเดือนพ.ย. และกำลังขึ้นเป็นประธานาธิบดีในเดือนมี.ค.นี้

เมื่อสี จิ้นผิง ขึ้นเป็นนายใหญ่พรรคฯ ก็แสดงท่าทีไปในทางเปิดกว้าง ระหว่างเดินทางไปตรวจเยี่ยมมณฑลก่วงตง หรือกวางตุ้ง ที่เขาไปเยี่ยมเยือนแห่งแรกหลังรับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ สียังได้พูดถึงสื่อชั้นนำที่เสนอแนวคิดเสรีนิยมมากสุดในจีนคือ เซาเทิร์น วีกลี่(Southern Weekend) หรือที่จีนเรียก หนันฟาง โจวมั่ว โดยกล่าวชื่นชมว่าเป็นสื่อที่มีเหตุผลและสุขุมคัมภีรภาพ

ในวันขึ้นปีใหม่ เซาเทิร์น วีกลี่ ได้ตระเตรียมนำเสนอจดหมายถึงผู้อ่าน โดยพาดหัว ว่า "ฝันของจีน ฝันจะมีรัฐธรรมนูญ" โดยเนื้อหาเรียกร้อง “รัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ” แต่ก่อนที่จดหมายฉบับนี้จะเผยแพร่สู่สาธารณะ ก็ถูกกรรไกรเซ็นเซอร์อันคมกริบของหน่วยโฆษณาการประจำก่วงตง ตัดออกไปเสียก่อน พร้อมสั่งการให้เสนอบทความสดุดีพรรคคอมมิวนิสต์แทน โดยเปลี่ยนพาดหัวใหม่ ว่า "พวกเราใกล้ถึงความฝันมากกว่ายุคใด ๆ"

การถอดบทความรับขวัญปีของเซาเทิร์น วีกลี่ นี้ เป็นข่าวเผยแพร่เมื่อวันศุกร์(4 ม.ค.) พร้อมกับข่าวสั้นอีกชิ้น การปิดเว็บไซต์นิตยสารรายเดือน เหยียนหวง ชุนชิว (Yanhuang Chunqiu《炎黄春秋》 เหยียนหวง ชุนชิว หรือชื่อสากล คือ China Through the Ages เป็นเวทีนำเสนอบทความของกลุ่มเจ้าหน้าที่ปลดเกษียณที่ล้วนมีแนวคิดปฏิรูป

ทีแรก ข่าวปิดเว็บไซต์ เหยียนหวง รายงานออกมาสั้นๆ ไม่มีรายละเอียดใด จนในวันอังคาร(8 ม.ค.) จึงมีรายงานจากสื่อไต้หวัน ที่อ้างข่าวของวิทยุสากลแห่งฝรั่งเศส ( Radio France Internationale (RFI)) เป็นบทสัมภาษณ์รองผู้อำนวยการเหยียนหวง นาย หยัง จี้เสิง

หยังเผย เจ้าหน้าที่อ้างเหตุปิดเหยียนหวงว่าเนื่องจากใบจดทะเบียนหมดอายุลง แต่ทางผู้บริหารเหยียนหวงก็ได้ต่อใบทะเบียนแล้ว ตามกฎฯเว็บไซต์เหยียนหวงก็สามารถเปิดทำการได้ภายใน 10 วัน

แต่ในวงการเชื่อกันว่า เหตุที่เหยียนหวงถูกปิดนั้น เนื่องจากการนำเสนอบทความ หัวเรื่อง “รัฐธรรมนูญคือฉันทามติของการปฏิรูประบบการเมือง” เนื้อหาในบทความยังได้โจมตีพรรคคอมมิวนิสต์จีนกระทำการบางอย่างที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ

“หากผู้ใดปิดกั้นสื่อของเรา เพราะว่าเราเป็นผู้ธำรงรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นก็คือผู้ละเมิดรัฐธรรมนูญ

“หากผู้ใดหมายปิดนิตยสารของเรา เพราะเราทุ่มเทอุทิศให้แก่การปกป้องรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นก็สมควรถูกจับมาตอกตรึงประจานบนเสาความอัปยศแห่งประวัติศาสตร์” คำพูดของหยังระหว่างให้สัมภาษณ์แก่สื่อแดนน้ำหอม

หลังเกิดเหตุถอดข่าวเซาเทิร์น วีกลี่ ประชาชนจากหลายวงการ อาทิเช่น นักข่าว นักวิชาการ ก็จับมือกันส่งจดหมายเปิดผนึกประท้วงว่าการแทรกแซงสื่อว่าเป็นการบิดเบือนความจริง…และในวันจันทร์ที่ 7 ม.ค. กลุ่มผู้สื่อข่าวเซาเทิร์น วีกลี่ กว่าร้อยก็หยุดงานประท้วง ประชาชนก็ได้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบบริเวณหน้าสำนักงานใหญ่บริษัท หนันฟาง มีเดีย กรุ๊ป (Nanfang Media Group) เจ้าของสื่อหลายหัว ได้แก่ หนังสือพิพม์รายสัปดาห์ เซาเทิร์น วีคลี่ หรือ หนันฟาง โจวมั่ว (Southern Weekend) หนังสือพิมพ์รายวัน หนันฟางเดลี่

รัฐพยายามโต้ตอบฯโดยการเสนอบทบรรณาธิการในโกลบอล ไทมส์ (Global Times) กล่าวโทษว่า การต่อต้านการถอดข่าว และการแทรกแซงของหน่วยโฆษณาการนั้น เป็นฝีมือยุเหย่ของต่างชาติ
ทั้งนี้ Global Times เป็นสื่อในเครือของหนังสือพิมพ์ประชาชน (People's Daily) กระบอกเสียงหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ตามรายงานข่าวของสื่อฮ่องกง เซาท์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์เมื่อวัน 9 ม.ค. แจ้งว่า ฝ่ายโฆษณาการพยายามบีบให้สื่อแผ่นดินใหญ่ลงบทบรรณาธิการโกลบอลไทม์สในฉบับวันอังคาร(8 ม.ค.) แต่มีสื่อเพียงหยิบมือเท่านั้น ที่ยอมตามสิ่งที่ “คุณขอมา” นอกจากนี้ นาย ไต้ จื้อเกิง เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ประจำ เดอะ เป่ยจิง นิวส์ (新京报) ได้ประกาศลาออกหลังโดนขอให้ลงบทบรรณาธิการโกลบอลไทม์ส

สำหรับกลุ่มสื่อในแผ่นดินใหญ่ที่ล้วนตกอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด เมื่อเกิดเหตุประท้วงเซ็นเซอร์จดหมายถึงผู้อ่านของเซาเทิร์น วีกลี่ ต่างก็ได้แต่มองตาปริบๆ ทว่า สื่อหลายรายได้แสดงการสนับสนุนเซาเทิร์น วีกลี่ ด้วยวิธีการซ่อนคำในข้อความในคอลัมน์ต่างๆ ที่เมื่ออ่านในแนวที่แตกต่างไปจากปกติก็จะพบข้อความสนับสนุนฯ ได้แก่ ข้อความที่ใช้แบบการเขียนให้อ่านในแนวนอนจากซ้ายไปขวา แต่เมื่ออ่านในแนวตั้งจากบนลงล่าง ก็จะพบสาร์น เช่น “เซาเทิร์น วีกลี่ สู้! สู้!” “เซาเทิร์น วีคลี่ ยืนหยัดต่อไป..”

ข่าวล่าสุดเมื่อวันพุธ(9 ม.ค.) แจ้งว่า นาย หู ชุนหวา เลขาธิการพรรคฯประจำก่วงตง ได้ออกมาพูดคุยกับนักข่าวและผู้บริหารของเซาเทิร์น วีกลี่ ที่กำลังดำเนินการประท้วงการเซ็นเซอร์ ซึ่งในการประท้วงนี้ยังเรียกร้องให้ปลดนายใหญ่แห่งหน่วยโฆษณาการก่วงตง นาย ถั่วเจิ้น ด้วย บางแหล่งข่าวบอกว่า นักข่าวบางกลุ่มได้ตกลงกลับไปทำงานแล้ว

พ่อเมืองก่วงตงคนใหม่หู ชุนหวา ผู้นี้ เป็นนักการเมืองดาวรุ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพิ่งถูกส่งมานั่งเก้าอี้นายใหญ่พรรคฯสาขาก่วงตงเมื่อเดือนที่แล้ว เป็นศิษย์ก้นกุฏิของผู้นำ หู จิ่นเทา เคยสั่งสมประสบการณ์การปกครองในเขตชนชาติส่วนน้อยทั้งทิเบตและมงโกเลียใน แม้ว่าหูจะได้รับยกย่องเป็นนักการเมืองผู้ทรงเกียรติ และถูกมองว่ามีแนวโน้มเป็นกลางหรือหนุนการปฏิรูป ทว่าเขาก็ได้จับกุม ฮาต๋า นักรณรงค์สิทธิชนชาติมองโกลเข้าคุกในข้อหาแบ่งแยกดินแดน ต้องโทษจำคุก 15 ปี ในช่วงปลายปี 2553

คงพอเห็นได้ลางๆว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การควบคุมอำนาจของพรรคฯนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ส่วนเรื่องการปฏิรูปการเมืองหรือเปิดกว้างสิทธิต่างๆนั้นก็รอไปก่อน... มองโลกในแง่ดีอย่างน้อยการส่งสียงประท้วงดังๆก็ช่วยผลักให้ “ความฝันสู่อะต่อมิอะไร” ได้คืบคลานออกไป.

ภาพการประท้วงการควบคุมเซาทเทิร์น วีกลี่ ในก่วงโจว มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) ช่วงวันที่ 7-10 ม.ค. 2555 (ภาพ รอยเตอร์/เอเอฟพี/ไมโครบล็อก เวยปั๋ว)
กลุ่มชุมนุมต่อต้านการควบคุมสื่อบริเวณ สำนักงานเซาเทิร์น วีกลี่ ในนครก่วงโจว เมื่อวันที่ 7 ม.ค. หลังจากที่ผู้สื่อข่าวเซาเทิร์น วิกลี่ผละงานประท้วงการถอดข่าวฯ (ภาพ รอยเตอร์)
ผู้ประท้วงคนหนึ่งชูป้าย “ไม่มีสิ่งใด ทำให้คนซาบซึ้งใจได้ง่ายๆ นอกไปจากความถูกต้อง” คำอุทิศในวันขึ้นปีใหม่ ปี 1999 ของ เซาเทิร์น วีกลี่ (ภาพไมโครบล็อก เวยปั๋ว)
หญิงสาวคนหนึ่งชูป้าย ข้อความว่า “วันนี้ เราไม่ยืนขึ้นสู้ พรุ่งนี้ก็ไม่อาจลุกขึ้นยืนสู้ได้อีกแล้ว” (ภาพไมโครบล็อก เวยปั๋ว)
ผู้ประท้วงวางดอกไม้ไว้อาลัยเสรีภาพสื่อระหว่างประท้วงการเซ็นเซอร์สื่อ หน้าสำนักงานเซาเทิร์น วีกลี่ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. (ภาพ รอยเตอร์)
หญิงสาวที่เข้าร่วมการประท้วงคาดผ้าปิดปาก ถือภาพล้อเลียนผู้นำบนกองอาจม (ภาพไมโครบล็อก เวยปั๋ว)
ถ้าไอ้ยาพิษถั่ว เจิ้น (หัวหน้าฝ่ายโฆษณาการมณฑลก่วงตง) ไม่ถูกปลด มณฑลก่วงตงก็จะถูกตอนเป็นหมันทั้งเสรีภาพของสื่อ การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย (ภาพไมโครบล็อก เวยปั๋ว)
ป้ายประท้วงของกลุ่มฝ่ายซ้ายบริเวณสำนักงานเซาเทิร์น วีกลี่เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่มาชุมนุมงัดข้อกับกลุ่มต่อต้านเซ็นเซอร์ป้ายประท้วงเป็นภาพของผู้นำเหมา เจ๋อตง และข้อความประณามเซาเทิร์น วีกลี่ “หนังสือพิพม์ทรยศ” ที่บังอาจท้าทายพรรคฯ (ภาพรอยเตอร์)
บรรดาสื่อในแนดินใหญ่ ซึ่งอยู่ภายใต้กฎเหล็กควบคุมสื่อของรัฐ ต่างๆส่งสัญญาณสนับสนุน เซาเทิร์น วีกลี่  โดยแอบซ่อนข้อความสนับสนุนไว้ในข้อเขียนคอลัมน์ต่างๆ ข้อความในกรอบสีแดงมีความหมาย อาทิเช่น “เซาเทิร์น วีกลี่”  “เซาเทิร์ วีกลี่ สู้ ! สู้! ” “เซาเทิร์น วีกลี่ เดินหน้า เชียร์ เชียร์”  “เซาเทิร์น วีกลี่ ยืนหยัด สู้ต่อไป”
(ภาพไมโครบล็อก เวยปั๋ว)
ผู้ประท้วงเรียกร้องให้มีการตรวงจสอบการควบคุมสื่อ และคืนอิสระในการพูดแก่ประชาชน (ภาพ เอเอฟพี)
ตำรวจกำลังแยกผู้สนับสนุนเซาเทิร์น วีกลี่ (คนที่สอง จากซ้าย) ที่กำลังวางมวยกับกลุ่มฝ่ายซ้าย(ขวา) ที่มาชุมนุมประจัญหน้ากันบริเวณสำนักงานเซาเทิร์นวีกลี่ในก่วงโจว (ภาพ รอยเตอร์)
ที่แผงจำหน่ายหนังสือพิมพ์ในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 10 ม.ค. กองหนังสือพิมพ์เซาเทิร์น วีกลี่ (ซ้าย) ถูกวางเคียงคู่กับกองหนังสือพิมพ์ โกลบอล ไทม์ส ขณะที่กระแสต่อต้านการเซ็นเซอร์สื่อกำลังแรงสืบเนื่องจากการถอดข่าวของเซาเทิร์น วีกลี่ ส่วนหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ส เป็นสื่อของรัฐ ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการ กล่าวโทษว่า การประท้วงเซ็นเซอร์ฯมาจากการยุเหย่ของต่างชาติ (ภาพ รอยเตอร์)
ชายจีนกำลังอ่านเรื่องปกของเซาเทิร์น วีกลี่ ฉบับเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดของหนังสือพิมพ์แนวเสรีนิยมที่สุดของจีนที่จุดชนวนการประท้วงต่อต้านเซ็นเซอร์ โดยเซาเทิร์น วีกลี่ฉบับล่าสุดนี้มีวางจำหน่านที่แผงในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ แต่ไม่ปรากฏบนแผงในก่วงโจว ซึ่งเป็นบ้านของเซาเทิร์น วีกลี่ (ภาพ รอยเตอร์)
ตำรวจนอกเครื่องแบบกำลังจับกุมตัวผู้เข้าร่วมการประท้วงเซ็นเซอร์ และนำตัวขึ้นรถใกล้สำนักงานเซาเทิร์น วีกลี่ ในนครก่วงโจว เมื่อวันที่ 10 ม.ค. (ภาพ รอยเตอร์)
ผู้ประท้วงชูป้าย “เปิดกว้างการเซ็นเซอร์สื่อ คนจีนต้องการเสรีภาพ” พร้อมโลโก้ เซาเทิร์น วีกลี่ และคำขวัญ “ทำความเข้าใจประเทศจีน ได้ที่นี่” (ภาพไมโครบล็อก เวยปั๋ว)
กำลังโหลดความคิดเห็น