xs
xsm
sm
md
lg

ภาพชุด “โอบามา” ให้รอยจูบกับความหวัง ดันพม่าโชติช่วงชัชวาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ประธานาธิบดีสหรัฐ บารัก โอบามา จุมพิตนางอองซานซูจี ระหว่างการแถลงข่าวที่บ้านพักของผู้นำฝ่ายค้านพม่าในวันจันทร์ 19 พ.ย. ระหว่างเยือนประเทศนี้เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ได้กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ .. ภาพแห่งการถนอมรัก สนิทสนมและเป็นเกียรติที่ผู้นำประเทศอภิมหาอำนาจเข้มแข็งที่สุดของโลกพึงให้แก่สตรีที่แกร่งดั่งเหล็กเพชรคนหนึ่งซึ่งฟันฝ่าอุปสรรคทางการเมืองมาอย่างโชนโชน รวมทั้งหวุดหวิดจะเสียชีวิตอย่างน้อย 1 ครั้ง เหตุการณ์เช่นในภาพนี้หาดูชมได้ยาก. -- AFP Photo/Jewel Samad.  </b>
.

ASTVผู้จัดการออนไลน์/เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีสหรัฐบารัค โอบามา เยือนพม่าอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ในวันจันทร์ 19 พ.ย.นี้ โดยมีชาวพม่าที่สนับสนุนไปให้การต้อนรับที่ท่าอากาศยาน ตามรายทางที่ผ่าน และสถานที่ต่างๆ เป็นจำนวนมากมายอย่างน่าประหลาดใจ ขณะที่ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศเริ่มศักราชใหม่ความสัมพันธ์ แต่ขณะเดียวกัน ก็เตือนว่าการปฏิรูป และการพัฒนาของพม่าเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น ยังจะต้องเดินทางต่อไปอีกไกล

นายโอบามาซึ่งกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ไปเยือนประเทศนี้ขณะอยู่ในตำแหน่ง ได้พบหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่งในกรุงย่างกุ้ง ไปเยี่ยมเยือนและหารือกับนางอองซานซูจีที่บ้านพักริมบึงใหญ่ของกรุงเก่า ซึ่งผู้นำฝ่ายค้านพม่าเคยเปิดต้อนรับนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ต้นเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว อันเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่เช่นกัน

นางคลินตันซึ่งได้พบกับนางซูจีหลังจากผู้นำฝ่ายค้านพันจากการถูกกักบริเวณในบ้านพัก ภาพสตรีที่โลกรู้จักมากที่สุด 2 คนสวมกอดกันแน่นด้วยมิตรไมตรีเต็มเปี่ยมได้แพร่ไปทั่วโลก เช่นเดียวกับภาพนายโอบามาจุมพิตนางซูจี และสวมกอดอย่างอบอุ่นก็แพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็ว

ภาพอาจจะขัดหูขัดตาชาวพม่าที่ยึดมั่นถือมั่นในขนบธรรมเนียม ไม่กอดจูบกันต่อหน้าสาธารณะ แต่เป็นภาพธรรมดาสำหรับผู้นำประเทศมหาอำนาจคนหนึ่งกับสตรีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดผู้หนึ่ง ซึ่งเกือบค่อนชีวิตเติบโตใช้ชีวิต และศึกษาในต่างประเทศ ขนบธรรมเนียมแบบชาวตะวันตกจึงไม่ใช่สิ่งแปลกแยก

การโอบกอด และจุมพิตของผู้นำสหรัฐฯ ที่มอบให้สตรีชาวต่างชาติคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ภาพที่เห็นได้บ่อยๆ หากเป็นการแสดงความรักอันดูดดื่ม และเป็นการให้เกียรติสูงสุดเท่าที่บุรุษที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่ง ให้แก่สตรีที่เข้มแข็งที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ในนั้น 15 ปีเป็นช่วงที่ถูกกักขัง หรือกักบริเวณในบ้านพัก

นางซูจีเคยรอดชีวิตหวุดหวิดมาครั้งหนึ่ง จากการโจมตีของฝูงชนจัดตั้งที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร ขณะนางออกเดินทางเยี่ยมเยือนผู้สนับสนุนที่เมืองมัณฑะเลย์

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเยือนที่เร่งรัดนี้ครั้งนี้ นายโอบามายังได้นำคณะไปเยี่ยมชมพระมหาเจดีย์ชเวดากอง และได้ถอดรองเท้าเดินชม แสดงความเคารพต่อสถานที่ตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพม่าทุกประการ

ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี ไปเยือนครั้งนี้ นายโอบามาเรียกชื่อประเทศพม่าทั้ง “เมียนมาร์” และ “เบอร์มา” เรียกชื่อแรกขณะไปปราศรัยที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ท่ามกลางผู้ฟังในหอประชุมที่แน่นขนัด และระหว่างแถลงข่าวร่วมกับผู้นำพม่า และเรียกเป็น “เบอร์มา” ขณะแถลงข่าวที่บ้านพักนางซูจี ซึ่งเจ้าของบ้านเรียกประเทศของตัวเองเป็น “เบอร์มา” มาตลอด

อย่างไรก็ตาม ปธน.สหรัฐฯ ได้ปฏิเสธว่า การเยือนครั้งนี้มิใช่การรับรอง หรือการสนับสนุนรัฐบาลประธานาธิบดีเต็งเส่งที่ยังเป็นคณะบริหารกึ่งพลเรือนกึ่งทหาร

“แต่เราคิดว่า กระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตย และปฏิรูปเศรษฐกิจในเมียนมาร์ที่เพิ่งจะเริ่มโดยประธานาธิบดี เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถนำไปสู่โอกาสอันใหญ่หลวงในการพัฒนา” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการแถลงโดยมีประธานาธิบดีเต็งเส่งยืนเคียงข้าง

ผู้นำพม่าเดินทางกลับจากกัมพูชาหลังการประชุมอาเซียน เพื่อไปต้อนรับผู้นำสหรัฐฯ ในกรุงย่างกุ้ง แต่ในวันจันทร์ได้เดินทางกลับกัมพูชาอีกครั้งเพื่อร่วมประชุม “อาเซียนพลัส” และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่จะเริ่มในต่อไป
.

2

3
ประธานาธิบดีเต็งเส่งปราศรัยเป็นภาษาพม่าโดยมีล่ามช่วยแปลเป็นภาษาอังกฤษ ได้กล่าวตอบว่า “สองฝ่ายจะก้าวเดินต่อไปบนพื้นฐานของความเชื่อถือ ความเคารพและความเข้าใจ”

บรรยากาศในพม่าคึกคักตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากมีข่าวนายโอบามาจะไปเยือน ทางการประดับธงทิวตามถนนสายสำคัญต่างๆ บ้านเรือนของประชาชนทั่วไปก็ติดธงชาติพม่าคู่กับธงชาติสหรัฐฯ โดยสมัครใจ ชาวพม่าจำนวนมากได้จับกลุ่มกันกลุ่มละนับร้อยๆ คน ไปยืนเรียงรายตามถนนที่ขบวนรถของผู้นำสหรัฐฯ เคลื่อนผ่าน พร้อมถือป้ายที่ทำขึ้นเอง มีข้อความ “ยินดีต้อนรับอย่างอบอุ่น”

ชาวพม่าบางคนตะโกนส่งเสียงร้อง “อเมริกา” ขณะขบวนรถนายโอบามาแล่นผ่าน

ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน สหรัฐฯ ได้ประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าจากพม่า แม้จะยังคงบางรายการรวม ทั้งสินค้าหยกกับอัญมณีเอาไว้ก็ตาม และพม่าได้ประกาศปล่อยนักโทษการเมือง กับนักโทษทั่วไปอีกหลายร้อยคนต้อนรับการเยือนครั้งนี้

“กว่าหนึ่งปีกับหกเดือนก่อนการเปลี่ยนผ่านอันน่าพิศวงได้เริ่มขึ้น หลังจากระบอบเผด็จการที่ครองอำนาจมานานห้าทศวรรษยอมคลายมือ” เอเอฟพีอ้างคำพูดของนายโอบามาซึ่งกล่าวที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ในการเยือนที่มีเวลาจำกัดนี้

“การเดินทางที่สำคัญนี้ได้เริ่มขึ้นแล้ว และยังจะต้องไปข้างหน้าอีกไกลมาก ... ความก้าวหน้าอันน่าพิศวงต่างๆ ที่เราได้เห็นจะต้องไม่ถูกดับมอด แต่จะต้องกระชับให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น”

“ตลอดเวลาห้าทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศของเราทั้งสองเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการเยือนต่างแดนครั้งแรกหลังจากชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2

“แต่ในวันนี้ ข้าพเจ้าสามารถบอกแก่พวกท่านได้ว่า เรายังคงมีความหวังอยู่เสมอเกี่ยวกับประชาชนประเทศของท่าน เกี่ยวกับพวกท่านทั้งหลาย พวกท่านได้ให้ความหวัง และเราได้กลายเป็นประจักษ์พยานในความกล้าหาญของพวกท่าน” นายโอบามาระบุในคำปราศรัย ซึ่งสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นยกย่องว่าเป็นการปราศรัยที่แหลมคม และลึกซึ่งกินใจที่สุดอีกครั้งหนึ่งของผู้นำสหรัฐฯ

หลังไปเยี่ยมชมพระมหาเจดีย์ เวลาต่อมา นายโอบามาได้ไปปรากฏตัวคู่กับนางซูจีเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2534 ที่บ้านพักท่ามกลางกองทัพของผู้สื่อข่าว กับฝูงชนอีกหลายร้อยคนที่ไปชุมนุมกันตามถนนในบริเวณใกล้เคียงคอยติดตามข่าวสารต่างๆ ด้วยความสนใจ

ประชาชนบางกลุ่มตะโกนจากถนนว่า “โอบามา... เสรีภาพ”
.

เพื่อนเก่าพบกัน
AFP Photo

4

5
.

นางซูจีกล่าวที่บ้านพักว่า “ยามที่ยากลำบากที่สุดในช่วงเปลี่ยนผ่านก็คือ เมื่อเรามองเห็นความสำเร็จอยู่ต่อหน้า” และกล่าวเตือนว่า “เราจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่ให้ตัวเราถูกลวงด้วยภาพลวงตาแห่งความสำเร็จ”

ทำเนียบขาวหวังว่า การเยือนของนายโอบามาจะช่วยกระชับความเข้มแข็งในการขับดันปฏิรูปของประธานาธิบดีเต็งเส่ง การเยือนยังถูกมองเป็นเสมือน “การรัฐประหารทางการเมือง” ของนายโอบามา หลังชัยชนะการเลือกตั้ง และเป็นกำลังใจอันสำคัญสำหรับผู้นำพม่า ที่ถูกต่อต้านจากกลุ่มหัวเก่าในระบอบปกครองซึ่งไม่อาจปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วช่วงที่ผ่านมาได้

ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวย้ำว่า การเยือนครั้งนี้มิใช่ใช่การรับรองระบอบปกครองพม่า แต่เป็นการ “ยอมรับ” ในกระบวนการปฏิรูป

นายโอบามาได้ใช้คำปราศรัยเรียกร้องให้ยุติกความไม่สงบในรัฐระไค (ยะไข่) โดยระบุว่า “ไม่มีข้ออ้างใดๆ ในการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้บริสุทธิ์”

การปะทะกันอย่างรุนแรงสองครั้งนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ระหว่างชนชาติส่วนน้อยมุสลิมกับชาวพุทธพม่าในรัฐภาคตะวันตกแห่งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 180 คน กว่า 11,000 คน กลายเป็นคนพลัดถิ่น

ผู้คนส่วนใหญ่ที่หลบหนีจากความรุนแรงเป็นชามุสลิมโรฮิงญาที่รายงานขององค์การสหประชาชาติเรียกว่า เป็นชนชาติส่วนน้อยที่ถูกรังแกมากที่สุดบนโลกใบนี้

“เป็นเวลานานเหลือเกินที่ประชาชนของรัฐนี้ รวมทั้งชนชาติระไค ได้พบกับความยากจนแสนสาหัสกับการรังแก แต่ไม่มีข้ออ้างใดในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ และชาวโรฮิงญามีศักดิ์ศรีในตัวของพวกเขา เป็นสิ่งเดียวกับที่ท่านทั้งหลายมี และข้าพเจ้ามี” ปธน.สหรัฐฯ กล่าว

คำปราศรัยของนายโอบามาที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้งเต็มไปด้วยถ้อยคำอันเป็นสัญลักษณ์ สถาบันการศึกษาแห่งนี้ถูกเผด็จการทหารในอดีตมองว่าเป็นถิ่นของ “พวกหัวรุนแรง” เป็นถิ่นก่อการของนักศึกษาในยุคปี 2531-2533 ที่นำไปสู่การปราบปรามนองเลือดโดยฝ่ายทหาร

มหาวิทยาลัยย่างกุ้งถูกปิดตายเป็นเวลาหลายปีหลังการรัฐประหารนองเลือด ต่อมา ถูกย้ายออกไปตั้งอยู่นอกเมือง โดยฝ่ายทหารคิดว่าจะสามารถลดบทบาทของนักศึกษาลงได้

แต่นายโอบามาเปิดเผยขณะแถลงร่วมกับประธานาธิบดีเต็งเส่งก่อนหน้านี้ว่า สองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะปฏิรูปการเมืองต่อไป พร้อมกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล.

6 ชั่วโมงในเมียนมาร์.. เบอร์มา
Reuters/AFP

6

7

8

9

10

11

12

13

14

15

16

17

18

19

20
กำลังโหลดความคิดเห็น