xs
xsm
sm
md
lg

‘บทบาทมาเลเซีย’สร้างความยุ่งยากให้‘ความขัดแย้งในไทย’(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เจสัน จอห์นสัน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Malaysian role vexes Thai conflict
By Jason Johnson
20/09/2012

เหตุการณ์การประดับธงชาติมาเลเซียตามจุดต่างๆ ตลอดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์อย่างแรงกล้า ทั้งนี้นอกจากเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่ามีช่องโหว่รูพรุนอยู่มากมายตามแนวพรมแดนไทย-มาเลเซียสำหรับการออกปฏิบัติการของพวกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแล้ว ยังเป็นการเน้นเตือนอย่างโต้งๆ ให้ระลึกเอาไว้ว่า ฝ่ายมาเลเซียจำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาทอันสำคัญจึงจะสามารถยุติความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอาณาบริเวณดังกล่าวได้ ยิ่งกว่านั้น เหตุการณ์เหล่านี้ยังสาธิตให้เห็นด้วยว่า การก่อความไม่สงบที่นี่มีการร่วมมือประสานงานกันระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ มากกว่าที่หลายๆ ฝ่ายเคยเชื่อกัน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ปัตตานี – เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พวกผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิมมาเลย์ ได้ประดับธงชาติมาเลเซียกันตามถนนสายต่างๆ , สะพานคนเดินข้ามหลายต่อหลายแห่ง, และตามเสาไฟฟ้าตลอดทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนทางใต้สุดของไทยซึ่งประชากรส่วนใหญ่ที่สุดเป็นชาวมุสลิม พฤติการณ์เชิงสัญลักษณ์แห่งการประกาศแข็งข้อก่อกบฏเช่นนี้ ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงบทบาทข้ามพรมแดนของมาเลเซียในกรณีขัดแย้งที่ได้มีการสูญเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากแล้วนี้ โดยที่บทบาทดังกล่าวมักถูกละเลยมองเมินไปอยู่บ่อยๆ

ถึงแม้พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยยืนยันเรื่อยมาว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาอันเกิดจากปัจจัยต่างๆ ภายในพื้นที่ดังกล่าวเอง แต่การตีความเช่นนี้ก็ยังคงถูกขยายกว้างออกไปอยู่ดี จากข้อเท็จจริงที่ว่าชาวมุสลิมมาเลย์ที่เป็นคนสัญชาติไทยจำนวนมาก เป็นผู้ที่มีเชื้อชาติและศาสนาใกล้ชิดใกล้เคียงกับคนเชื้อชาติที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย ด้วยเหตุนี้เองตั้งแต่นมนานมาแล้ว มาเลเซียจึงมีฐานะเป็นแหล่งพักพิงหลบภัยของพวกแบ่งแยกดินแดนเชื้อชาติมาเลย์ ผู้ซึ่งเปิดการโจมตีต่างๆ ในเขตประเทศไทย จากนั้นก็หลบหนีข้ามชายแดนไปพักพิงอย่างปลอดภัยในพื้นที่ของมาเลเซีย

มีการกล่าวหากันอย่างอึงคะนึงกว้างขวางว่า บริเวณภาคเหนือของมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐกลันตัน ถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมและวางแผนของพวกผู้ก่อความไม่สงบ เป็นที่ทราบกันดีด้วยว่าเหล่านักรบของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจำนวนมาก ตลอดจนคนอื่นๆ ซึ่งมีสายสัมพันธ์โยงใยกับการก่อกบฎมุ่งแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีการติดต่อขอคำปรึกษาคำแนะนำในเชิงยุทธศาสตร์จากพวกแบ่งแยกดินแดนมุสลิมมาเลย์รุ่นเก่าสูงอายุ ซึ่งพำนักพักพิงอยู่ในมาเลเซีย

เหตุการณ์การประดับธงชาติเช่นนี้ จึงเป็นเสมือนการเน้นเตือนอย่างโจ่งแจ้งตรงไปตรงมาว่า มาเลเซียจำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาทในทางเสริมส่งอย่างสำคัญยิ่ง ถ้าหากต้องการจะลดระดับของความรุนแรงในเขตพื้นที่ชนชาติส่วนน้อยแห่งนี้ ทั้งนี้ถึงแม้อาณาบริเวณนี้บังเกิดความไม่สงบอยู่เป็นระยะๆ มายาวนานแล้ว ทว่าความรุนแรงที่ปรากฏขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2004 ต้องถือว่าเป็นการปะทุตัวอย่างชนิดไม่เคยขึ้นสูงถึงขนาดนี้มาก่อนเลย

วันที่ 31 สิงหาคม อันเป็นวันที่พวกผู้ก่อความไม่สงบประดับธงชาติมาเลเซียตามจุดต่างๆ ทั่วทั้งเขตจังหวัดปัตตานี, นราธิวาส, ยะลา, และหลายๆ ส่วนของจังหวัดสงขลานั้น มีความหมายทั้งในฐานะที่เป็นวันครบรอบวาระที่มาเลเซียได้รับเอกราชหลุดพ้นจากการปกครองแบบอาณานิคมของอังกฤษ และก็เป็นวันครบรอบวาระการก่อตั้งขบวนการเบอร์ซาตู (Bersatu) เมื่อปี 1989 โดยที่เบอร์ซาตูเป็นกลุ่มรวมที่มุ่งนำเอากลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วมมือกัน

แหล่งข่าวหลายรายที่มีความรู้เกี่ยวกับขบวนการใต้ดินของผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มนี้ บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า เหตุการณ์ที่ต้องอาศัยการร่วมมือประสานงานกันอย่างสูงมากเฉกเช่นการประดับธงตลอดทั่วทั้งอาณาบริเวณเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ได้รับคำสั่งออกมาจากพวกผู้นำการแบ่งแยกดินแดนซึ่งตั้งฐานอยู่ในมาเลเซีย

มีแหล่งข่าวชาวมุสลิมมาเลย์บางรายโยงใยเหตุการณ์ประดับธงนี้เข้ากับการที่ไทยเข้ายึดเอาพื้นที่จังหวัดชายแดนเหล่านี้ ซึ่งแต่เดิมเป็นอาณาจักรสุลต่านมาเลย์ ไปเป็นอาณานิคม แหล่งข่าวเหล่านี้เชื่อว่ามีการก่อเหตุต่างๆ ขึ้นมา รวมทั้งสิ้น 103 เหตุการณ์ เท่ากับจำนวนปีที่อาณาบริเวณอันเคยรู้จักกันในชื่อว่า “ปะตานี” (Patani) แห่งนี้ต้องตกอยู่ใต้การปกครองของฝ่ายไทยอย่างเป็นทางการ (สนธิสัญญาอังกฤษ-สยามปี 1909 Anglo-Siamese Treaty of 1909 ซึ่งเป็นเอกสารการตกลงแบ่งเขตแดนระหว่าง สยาม ที่ปัจจุบันคือประเทศไทย กับ มาเลเซีย ที่เวลานั้นเป็นดินแดนอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ คือการยุติความสัมพันธ์ในรูปของรัฐบรรณาการแบบดั้งเดิม โดยที่ในความสัมพันธ์แบบเก่านั้น รัฐสุลต่านปัตตานียังคงมีอิสระอยู่มาก ถึงแม้ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่สยามในหลายยุคหลายสมัย)

เหตุการณ์ประดับธงซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือประสานงานกันระหว่างกลุ่มต่างๆ อย่างใกล้ชิด แถมยังปรากฏขึ้นในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อันกว้างขวางเช่นนี้ ทำให้บังเกิดคำถามขึ้นมาอีกคำรบหนึ่งเกี่ยวกับโครงสร้างของการก่อความไม่สงบคราวนี้ ซึ่งบ่อยครั้งมักถูกวาดภาพว่ามีความแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ และเกิดการแข่งขันช่วงชิงกันอย่างสูงในบรรดากลุ่มและฝักฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมขบวนการนี้ ขณะที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนนี้ประกอบด้วยกลุ่มจำนวนมาก รวมทั้งฝักฝ่ายต่างๆซึ่งแยกตัวออกมาจากกลุ่มกบฎรุ่นเก่าๆ เฉกเช่น องค์การปลดแอกสหปะตานี (Patani United Liberation Organization หรือ PULO) และ บาริซาน เรโวลูซิ นาซิโอนัล (Barisan Revolusi National หรือ BRN) แต่ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวที่ทราบเรื่องดีรายหนึ่งนั้น มีสภาผู้อาวุโสลับๆ ที่จัดโครงสร้างกันอย่างหลวมๆ คอยเป็นผู้ติดต่อประสานงานกลุ่มและฝักฝ่ายเหล่านี้ทั้งหมด

**การทูตอันละเอียดอ่อน**

ภายหลังเกิดเหตุประดับธงชาติมาเลเซียในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้วไม่นานนัก เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้ออกมาอธิบายว่า พวกผู้ก่อความไม่สงบกำลังพยายามที่จะจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยกับมาเลเซียขึ้นมา อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวอื่นๆ หลายๆ รายซึ่งสามารถเข้าถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดนนี้ กลับชี้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือการตอกย้ำให้เห็นถึงความปรารถนาอันมีมานานช้าในหมู่ผู้คนจำนวนมากในขบวนการแบ่งแยกดินแดนใต้ดินนี้ ซึ่งต้องการให้มาเลเซียเข้าแสดงบทบาทเป็นตัวกลางในกระบวนการเจรจาต่อรองสร้างสันติภาพกับรัฐบาลไทย

สำหรับฝ่ายมาเลเซียนั้น ในตอนแรกๆ ทีเดียว สื่อมวลชนที่ตกอยู่ในอิทธิพลของรัฐในแดนเสือเหลือง ต่างพากันเงียบเฉยต่อเหตุการณ์นี้ ต่อมาในวันที่ 2 กันยายน สื่อมวลชนมาเลเซียได้รายงานอ้างอิงคำพูดของพวกเจ้าหน้าที่ซึ่งกล่าวเพียงว่า พวกเขาก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมจึงมีการประดับธงชาติมาเลเซียในดินแดนไทย ในเวลาเดียวกันนั้น พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลไทย ก็ออกมายืนยันว่าพวกเขายังคงมีสายสัมพันธ์อย่างจริงใจฉันมิตรกับคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค แห่งมาเลเซีย

ในวันที่ 8 กันยายน นาจิบได้มีการพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของไทย ในระหว่างที่ทั้งคู่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ซึ่งจัดขึ้นในรัสเซีย นาจิบ ได้ยืนยันกับ ยิ่งลักษณ์ ว่ามาเลเซียจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการแก้ไขคลี่คลายปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบนี้ รวมทั้งยังกล่าวด้วยว่าเขามีความพึงพอใจในนโยบายต่างๆ ที่ไทยใช้อยู่ในพื้นที่ซึ่งเกิดความไม่สงบขึ้นมาอย่างยาวนานแล้วนี้

แต่ถึงแม้มีการแสดงออกซึ่งความนุ่มนวลดูดีในทางการทูตเหล่านี้ ในทางเป็นจริงแล้วทั้งสองประเทศมีประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับเขตจังหวัดทางใต้สุดของไทยที่ประชากรส่วนใหญ่ที่สุดเป็นชาวมุสลิมมาเลย์ ตัวอย่างเช่น ในทศวรรษ 1960 และ ทศวรรษ 1970 มาเลเซียมีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ที่ต่อสู้คัดค้านการปกครองของไทย

ครั้นมาถึงทศวรรษ 1990 มาเลเซียเริ่มถอนความสนับสนุนที่ให้แก่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน หลังจากที่ไทยแสดงบทบาทเป็นเครื่องมือเสริมส่งฝ่ายมาเลเซียในการกำจัดกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา (Communist Party of Malaya หรือ CPM) ในปี 1989 ต่อมาเมื่อถึงปี 1998 มาเลเซียได้ส่งมอบตัวผู้นำสำคัญๆ ของกลุ่มพูโลให้แก่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย ซึ่งมีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้เกิดยุคที่ค่อนข้างเงียบสงบของภูมิภาคแถบนี้ขึ้นมา

ครั้นเมื่อการก่อความไม่สงบของพวกแบ่งแยกดินแดนเริ่มปรากฏโฉมขึ้นมาอีกครั้งในปี 2001 พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายไทยวาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายมาเลเซีย ทั้งในเรื่องการติดตามบุคลากรของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งตั้งฐานอยู่ในมาเลเซีย, การยุติไม่ให้มีบุคคล 2 สัญชาติเพื่อทำให้ความมั่นคงปลอดภัยตามชายแดนมีความเหนียวแน่นเข้มแข็งยิ่งขึ้น, และการเร่งรัดปราบปรามสินค้าเถื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันเถื่อนและยาเสพติด

ข้อตกลงชายแดนระดับทวิภาคีซึ่งลงนามกันในปี 2000 โดยที่มีเนื้อหาเน้นหนักอยู่ที่การต่อสู้ปราบปรามอาชญากรรมและการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนั้น ในตอนแรกๆ ทีเดียวมีสัญญาณบ่งบอกว่าจะเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความร่วมมือระดับทวิภาคีของทั้งสองประเทศ แต่แล้วความช่วยเหลือของฝ่ายมาเลเซียก็ค่อยๆ ถดถอยลงไป ในขณะที่การก่อความไม่สงบมีความเข้มข้นรุนแรงขึ้นทุกที

ผลก็คือ ฝ่ายไทยมีความหงุดหงิดผิดหวังฝ่ายมาเลเซียในตลอดช่วงระยะแห่งความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยระลอกล่าสุดนี้ซึ่งกินเวลายาวนานร่วมๆ 1 ทศวรรษแล้ว ในวันที่ 23 สิงหาคมปีนี้ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจของเขา ต่อการที่มาเลเซียไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเท่าที่ควรจะเป็น ในระหว่างที่เขาให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ในเมืองไทย

พล.อ.อกนิษฐ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญมายาวนานในการพูดจาหารืออย่างไม่เป็นทางการกับบุคลากรของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ตั้งฐานอยู่นอกประเทศ ได้กล่าวย้ำอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่า ทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของมาเลเซียทราบดีว่าพวกแบ่งแยกดินแดนได้ใช้ดินแดนของพวกเขาเป็นแหล่งหลบหลีกหนีภัยจากการปราบปรามกวาดล้างของกองกำลังฝ่ายไทย และไม่ได้ดำเนินมาตรการรูปธรรมใดๆ เลยเพื่อหยุดยั้งเรื่องนี้

แหล่งข่าวหลายรายที่สามารถเข้าถึงพวกผู้ก่อความไม่สงบบอกว่า การให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อกนิษฐ์ กลายเป็นการเติมเชื้อให้แก่กองเพลิงของพวกผู้ก่อความไม่สงบในการก่อเหตุเนื่องในวันที่ 31 สิงหาคมขึ้นมา ซึ่งรวมถึงการลอบวางระเบิด 5 ครั้งที่ทำให้มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้รับบาดเจ็บไป 6 คน ทั้งนี้เอเชียไทมส์ออนไลน์ไม่สามารถที่จะหาแหล่งข่าวอิสระมายืนยันข้ออ้างนี้ได้

ขณะที่ทัศนะเช่นนี้ของ พล.อ.อกนิษฐ์ ก็เป็นความคิดเห็นของพวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยที่ประจำอยู่ทางภาคใต้จำนวนไม่น้อย หากได้พูดจาสนทนากับบุคลากรเหล่านี้เป็นการส่วนตัว แต่การพูดเช่นนี้ออกมาอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะก็ถือเป็นการลดทอนดอกผลที่บังเกิดขึ้นจากการดำเนินการทางการทูตของไทยต่อมาเลเซียในช่วงหลังๆ นี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่เป็นพี่ชายของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกขับลงจากอำนาจไปด้วยการก่อรัฐประหารของฝ่ายทหารในปี 2006 แล้ว พวกเจ้าหน้าที่ไทยต่างหลีกเลี่ยงไม่วิพากษ์วิจารณ์กล่าวหามาเลเซียอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะว่ามีบทบาทที่ช่วยทำให้ปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้สุดของไทยยังคงดำรงอยู่อย่างไม่สามารถคลี่คลายได้

เจสัน จอห์นสัน เป็นนักวิจัยและที่ปรึกษาอิสระในเรื่องพื้นที่ทางใต้สุดของประเทศไทย ปัจจุบันเขาตั้งฐานอยู่ที่จังหวัดปัตตานี และสามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ atjrj.johnson@gmail.com
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น