xs
xsm
sm
md
lg

‘บทบาทมาเลเซีย’สร้างความยุ่งยากให้‘ความขัดแย้งในไทย’(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เจสัน จอห์นสัน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Malaysian role vexes Thai conflict
By Jason Johnson
20/09/2012

เหตุการณ์การประดับธงชาติมาเลเซียตามจุดต่างๆ ตลอดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์อย่างแรงกล้า ทั้งนี้นอกจากเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่ามีช่องโหว่รูพรุนอยู่มากมายตามแนวพรมแดนไทย-มาเลเซียสำหรับการออกปฏิบัติการของพวกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแล้ว ยังเป็นการเน้นเตือนอย่างโต้งๆ ให้ระลึกเอาไว้ว่า ฝ่ายมาเลเซียจำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาทอันสำคัญจึงจะสามารถยุติความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอาณาบริเวณดังกล่าวได้ ยิ่งกว่านั้น เหตุการณ์เหล่านี้ยังสาธิตให้เห็นด้วยว่า การก่อความไม่สงบที่นี่มีการร่วมมือประสานงานกันระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ มากกว่าที่หลายๆ ฝ่ายเคยเชื่อกัน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**สายสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยปัญหา**

เมื่อตอนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับมาเลเซียตกอยู่ในสภาพเลวร้ายลงไปเป็นอย่างมาก มาเลเซียรู้สึกเดือดจัดจากการที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณใช้นโยบายด้านความมั่นคงแบบเน้นการปราบปรามมาจัดการกับการก่อความไม่สงบในภาคใต้สุดของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์โหดร้ายสยดสยองทางสิทธิมนุษยชนขึ้นมาด้วยฝีมือของกองกำลังความมั่นคงของไทย ทั้งในกรณีมัสยิดกรือเซะ เมื่อเดือนเมษายน 2004 และกรณีการสลายและจับกุมผู้ประท้วงที่อำเภอตากใบ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณยังทำให้ความสัมพันธ์กับแดนเสือเหลืองยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อเขาวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของฝ่ายมาเลเซียครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งการดำเนินการของฝ่ายมาเลเซียต่อกลุ่มชาวมุสลิมมาเลย์จากพื้นที่ขัดแย้งในไทยที่ข้ามเข้าไปในแดนเสือเหลืองโดยที่มาเลเซียถือว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ลี้ภัย

เมื่อคณะรัฐบาลที่กลุ่มผู้ก่อการรัฐประหารโค่นล้มทักษิณแต่งตั้ง ได้ขึ้นครองอำนาจโดยที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารบกเป็นนายกรัฐมนตรี เขาได้พยายามทำงานเพื่อให้สายสัมพันธ์ทวิภาคีนี้กลับราบรื่นขึ้นมาใหม่ พล.อ.สุรยุทธ์กระทั่งแสดงความสนับสนุนอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะต่อการใช้หนทางสันติเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่เรื่องนี้มีบางคนบางฝ่ายให้ความเห็นภายหลังศึกษาทบทวนย้อนหลังแล้ว ว่าเป็นการสนับสนุนอย่างอ้อมๆ ให้ฝ่ายมาเลเซียใช้ความพยายามอยู่หลังฉากเพื่อเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยคลี่คลายความขัดแย้งซึ่งในเวลานั้นยังถือว่าปะทุตัวขึ้นมาใหม่ไม่นานนัก

ในตอนปลายปี 2005 และต้นปี 2006 อดีตนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมเหม็ด ของมาเลเซีย ได้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดจาหารืออย่างลับๆ ต่อเนื่องกันหลายครั้งหลายหนขึ้นในมาเลเซีย ระหว่างพวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงของไทยกับบุคลากรของพวกแบ่งแยกดินแดน แต่ความริเริ่มดังกล่าวในที่สุดแล้วก็ประสบความล้มเหลวเพราะขาดการสนับสนุนจากระดับสูงสุดทั้งในฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทยและในหมู่บุคลากรของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีบทบาทสำคัญในการก่อความไม่สงบ บุคคลบางคนที่คุ้นเคยกับการพูดจาหารือกันในตอนนั้นกล่าวในทำนองว่า การที่ไทยมีท่าทีลังเลไม่เดินหน้าอย่างเต็มที่ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่ามาเลเซียไม่ได้เป็นคนกลางที่ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดและด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถที่จะไว้เนื้อเชื่อใจให้เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยคลี่คลายความขัดแย้งนี้ได้

ในขณะที่พวกเจ้าหน้าที่ไทยมีความปรารถนาที่จะเห็นมาเลเซียเปิดฉากดำเนินความริเริ่มพยายามให้มากขึ้น ในการติดตามเก็บข้อมูลข่าวกรองและแลกเปลี่ยนข่าวกับฝ่ายไทย ตลอดจนปราบปรามพวกแบ่งแยกดินแดนที่ข้ามพรมแดนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของฝ่ายมาเลเซีย แต่เป็นที่เชื่อกันว่าพวกนักการเมืองชาวมาเลเซียจำนวนมากกลับมีความรู้สึกอย่างแรงกล้าว่า รัฐบาลไทยควรที่จะเปิดกว้างให้มากขึ้นในการแก้ไขคลี่คลายปัญหาอันสืบเนื่องจากอัตลักษณ์ ตลอดจนความทุกข์ยากเดือดร้อนอื่นๆ ของชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในเดือนกรกฎาคมปีนี้เอง นักการเมืองชาวมาเลเซียที่เป็นคนเชื้อชาติมาเลย์จำนวนมาก ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจของพวกเขาให้ปรากฏในระหว่างที่เดินทางเยือนพื้นที่ภาคใต้ของไทย นักการเมืองเหล่านี้ซึ่งมาจากหลายๆ พรรค ทั้งพรรคองค์การสหมาเลย์แห่งชาติ (United Malays National Organization หรือ UMNO) ที่เป็นแกนกลางคณะรัฐบาลผสม, พรรคสหอิสลามมาเลเซีย (Pan Malaysian Islamic Party หรือ PAS) และพรรคยุติธรรมประชาชน (People's Justice Party หรือ PKR) ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ได้เดินทางเยือนจังหวัดปัตตานี และพบปะกับพวกชนชั้นนำทรงอำนาจในท้องถิ่น รวมถึงบางคนซึ่งเป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นพวกเห็นอกเห็นใจสนับสนุนการก่อความไม่สงบ

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ ได้ไปพูดในการประชุมระดับนานาชาติซึ่งจัดขึ้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทางภาคใต้ของไทย โดยเขากล่าวว่า มาเลเซียไม่เคยแทรกแซงและก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงในความขัดแย้งคราวนี้ เขาบอกอีกว่ามาเลเซียจะจัดหาทั้งข่าวกรอง, ข้อมูลข่าวสาร, และคำแนะนำให้แก่ฝ่ายไทยเพิ่มมากขึ้นอีก เพื่อช่วยให้มีการแก้ไขคลี่คลายสถานการณ์อย่างสันติ

อย่างไรก็ตาม ในทางเป็นจริงแล้วมาเลเซียไม่น่าที่จะกระทำตามความเรียกร้องต้องการของฝ่ายไทยอย่างเต็มที่ในเรื่องเกี่ยวกับข่าวกรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อฤดูการเลือกตั้งของมาเลเซียกำลังใกล้เข้ามา ขณะที่พรรคแกนนำรัฐบาลปัจจุบันอย่างพรรคอัมโน ก็เผชิญกับสภาพการณ์ที่เสียงสนับสนุนในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศทำท่าอาจจะลดต่ำลง โดยที่พื้นที่เหล่านี้เองเป็นเขตที่มีความเห็นอกเห็นใจชาวมุสลิมมาเลย์ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

**การพูดจากันอย่างจำกัดขอบเขต**

พวกนักวิเคราะห์อิสระตลอดจนบุคคลฝ่ายอื่นๆ ที่ติดตามความขัดแย้งนี้ต่างเชื่อว่า ตราบใดที่กรุงเทพฯยังคงปฏิเสธไม่ยอมเกี่ยวข้องพัวพันด้วยอย่างจริงจัง ในกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างเป็นทางการกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนแล้ว มาเลเซียก็ยังจะมีท่าทีวางตัวเหินห่างจากการเข้าช่วยเหลือเพื่อแก้ไขคลี่คลายความขัดแย้งนี้

พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายไทยกำลังถูกสะกิดจากพวกองค์การทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยระดับระหว่างประเทศตลอดจนฝ่ายอื่นๆ ให้เร่งทวีการพูดจาหารือกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนใต้ดิน แต่การตอบสนองของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเหล่านี้ยังคงอยู่ในรูปแบบเดิมๆ ที่จะย้อนถามกลับไปว่า “จะให้พูดจากับใครล่ะ?” ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของผู้คนซึ่งคุ้นเคยกับสถานการณ์เป็นอย่างดี

ในทัศนะของพวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยแล้ว พวกแบ่งแยกดินแดนต่างมีความเอนเอียงที่ต้องการแยกตัวเป็นเอกราช และด้วยเหตุนี้เองการเจรจาใดๆ ก็ล้วนแต่ไม่ก่อให้เกิดผลอะไรขึ้นมา แต่คนอื่นๆ ที่คุ้นเคยกับสถานการณ์ถึงแม้ยอมรับว่าพวกแบ่งแยกดินแดนจำนวนมากทีเดียวมีความคิดแบบที่มุ่งหมายจะเอาให้ได้ตามที่ฝ่ายตนต้องการทั้งหมดเพียงฝ่ายเดียว ทว่าก็เชื่ออย่างหนักแน่นด้วยว่าสามารถที่จะโน้มน้าวชักชวนให้คณะผู้นำของพวกแบ่งแยกดินแดนออกมาจากเงามืดได้ ถ้าหากทางการผู้รับผิดชอบของไทยแสดงให้เห็นความจริงใจในการก้าวเข้าสู่กระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการ

เป็นที่เชื่อกันว่า คณะรัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดยพรรคเพื่อไทย มีโอกาสที่จะเริ่มต้นกระบวนการสร้างสันติภาพ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วจะบังเกิดผลในรูปลักษณ์ของการผ่อนปรนอย่างสำคัญๆ ให้แก่เขตพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติมาเลย์ เป็นต้นว่า การจัดให้เป็นเขตปกครองตนเองพิเศษโดยที่มีตัวแทนซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นผู้บริหาร

พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ซึ่งใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่ในต่างแดนนับตั้งแต่ที่หลบหนีข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นอันเป็นคดีอาญาออกจากประเทศไทยในปี 2008 นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงต้นปีนี้ด้เคยพบปะหารืออยู่หลายครั้งกับพวกแบ่งแยกดินแดนรุ่นเก่าที่พำนักอยู่ในมาเลเซีย อย่างไรก็ดี อดีตผู้นำไทยทรงอิทธิพลผู้นี้ยังคงไม่สามารถที่จะพบปะหารือกับตัวบุคคลซึ่งรู้กันดีว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งในการก่อความไม่สงบในปัจจุบัน ทั้งนี้ตามการบอกเล่าของแหล่งข่าวหลายๆ รายที่ทราบเรื่องการหารือเหล่านี้

แหล่งข่าวรายหนึ่งบอกว่า ระหว่างการพบปะหารือเหล่านี้ พวกแบ่งแยกดินแดนที่ตั้งฐานอยู่ในมาเลเซียพวกนี้ ได้เสนอแนะให้รัฐบาลไทยปลดปล่อยนักโทษคดีความไม่สงบซึ่งถูกตั้งข้อหาทางด้านความมั่นคง, ยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันมาก, ยกเว้นบัญชีดำผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อความไม่สงบ, และลดจำนวนกองกำลังความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลงมา แหล่งข่าวรายเดียวกันนี้บอกอีกว่า รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงความปรารถนาที่จะทำตามข้อเรียกร้องเหล่านี้เลย

สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการตอบโต้ต่อการหยั่งท่าทีที่จบลงด้วยความล้มเหลวดังที่กล่าวมานี้ ก็คือการที่พวกผู้ก่อความไม่สงบได้จัดการวางระเบิดขึ้นหลายๆ จุดในจังหวัดยะลา และในศูนย์การค้าในอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งเป็นตัวเมืองใหญ่ที่สุดทางภาคใต้ของไทย เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา การโจมตีด้วยระเบิดรถยนต์หลายๆ จุดในลักษณะที่ดูเหมือนกับมีการวางแผนประสานงานกันคราวนี้ ทำให้มีผู้ถูกสังหาร 15 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

จากเหตุรุนแรงคราวนั้นที่ยังคงติดหูติดตา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ได้เดินทางไปมาเลเซียก่อนที่ชาวมุสลิมจะเริ่มการถือศีลอดช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ เพื่อพบปะหารือกับพวกเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลของมาเลเซีย

แหล่งข่าวรายหนึ่งที่คุ้นเคยกับการพบปะหารือคราวนั้นเล่าว่า พ.ต.อ.ทวี ได้ขอร้องพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายมาเลเซีย ให้ติดต่อกับเหล่าผู้นำการแบ่งแยกดินแดน เพื่อชักชวนเกลี้ยกล่อมผู้ก่อความไม่สงบให้ผ่อนคลายการโจมตีในระหว่างเดือนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมนี้ ซึ่งในปีนี้อยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม ถึง 19 สิงหาคม แต่ปรากฏว่าพวกผู้ก่อความไม่สงบได้ตอบสนองด้วยการก่อการโจมตีอย่างดุเดือดรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม จนทำให้ช่วงเดือนถือศีลอดปีนี้กลายเป็นรอมฎอนที่นองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย นับตั้งแต่ที่การก่อความไม่สงบได้ขยายตัวยกระดับอย่างน่าตื่นใจเมื่อเดือนมกราคม 2004

**กระสุนทางการเมือง**

ความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นนี้ ได้กลายเป็นเสมือนกระสุนทางการเมืองที่ส่งให้แก่บรรดาปรปักษ์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รวมไปถึงข้อกล่าวหาที่ว่าพรรครัฐบาลของเธอไม่สามารถทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ว่าจะนำสันติภาพมาสู่พื้นที่บริเวณนี้ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า คณะรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยนั้นถูกมัดมือมัดเท้าโดยพวกชนชั้นนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคณะผู้บังคับบัญชากองทัพซึ่งทรงอำนาจมาก

พล.อ.อกนิษฐ์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบันอย่างเหนียวแน่และเป็นปรปักษ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกมากล่าวย้ำว่า รัฐบาลไม่สามารถที่จะเจรจากับพวกผู้ก่อความไม่สงบได้ เพราะจะเป็นการกระทำความผิดละเมิดมาตราหลายๆ มาตราในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ของประเทศ

ทางด้าน พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งมีหน้าที่ดูแลภาคใต้ ก็กล่าวย้ำจุดยืนดังกล่าวนี้ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ครั้งหนึ่งที่ถูกนำออกเผยแพร่ภายหลังกรณีการมอบตัวของผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ก่อความไม่สงบจำนวน 93 คนในจังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้มีการเผยแพร่ข่าวทางสื่อมวลชนอย่างเอิกเกริก ทว่านักวิจารณ์ของสื่อจำนวนมากได้แสดงความไม่เชื่อถือกรณีการมอบตัวครั้งที่มีจำนวนผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้แปรพักตร์กันมากที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนครั้งนี้ไปเรียบร้อยแล้ว โดยพวกเขาระบุว่านี่เป็นเพียงลูกเล่นเพื่อการประชาสัมพันธ์ซึ่งจัดขึ้นโดยกองทัพบก เพื่อสาธิตให้เห็นว่าตนเองสามารถปฏิบัติงานก้าวหน้าไปโดยควบคุมการก่อความไม่สงบจำนวนน้อยจำนวนหนึ่งได้แล้ว ถ้าหากเกิดมีนักวิเคราะห์ใดๆ ซึ่งยังเชื่อว่ากองทัพสามารถควบคุมเรื่องนี้ได้ นอกจากนั้นยังมีแหล่งข่าวหลายๆ รายทีเดียวบอกว่า พวกที่มอบตัวเหล่านี้บางส่วนเป็นผู้ที่เคยไปขอลี้ภัยอยู่ในมาเลเซียมาก่อน

คนอื่นๆ แสดงการคาดเดาว่า การแถลงเรื่องผู้มอบตัวเช่นนี้คือความพยายามสุดท้ายของ พล.ท.อุดมชัย ที่จะรักษาตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ของตนเอาไว้ ทั้งนี้ พล.ท.อุดมชัยซึ่งมีชื่อเสียงมากจากการสร้างสายสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับพวกผู้นำทางศาสนาอิสลามเมื่อเปรียบเทียบกับแม่ทัพภาคที่ 4 คนก่อนๆ ตกเป็นข่าวลือสะพัดทีเดียวว่าอาจจะถูกเปลี่ยนตัวในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2012 นี้ (หมายเหตุผู้แปล: พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ยังคงดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ไม่ได้ถูกโยกย้ายแต่อย่างใด)

ถึงแม้การมอบตัวในช่วงหลังๆ มานี้ อาจจะสามารถโอ่อวดได้ว่าบ่งบอกถึงความก้าวหน้าของกองทัพบก แต่ก็มีบุคคลวงในกองทัพบางรายบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า ความพยายามต่างๆ ที่จะเข้าให้ถึงพวกผู้นำแบ่งแยกดินแดนแนวทางแข็งกร้าวนั้น ดูท่าว่ายังคงล้มเหลว นี่รวมถึงความพยายามของกองทัพบกตามที่เป็นรายงานข่าวที่ว่าจะหาทางติดต่อกับ สะแปอิง บาซอ และ มะแซ อูเซ็ง ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นบุคคลสำคัญในขบวนการแบ่งแยกดินแดน แหล่งข่าวหลายๆ รายเหล่านี้เปิดเผย

ทั้ง สะแปอิง บาซอ และ มะแซ อูเซ็ง ต่างถูกระบุว่ากำลังพำนักอยู่ในมาเลเซีย และความพยายามทั้งหลายในอดีตที่ผ่านมาของพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของไทย รวมทั้งของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง แห่ง ศอ.บต. ด้วย ที่จะติดต่อกับพวกเขาล้วนแล้วแต่ประสบความล้มเหลว ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวอื่นๆ หลายราย แต่ถ้าหากจะฟื้นฟูให้สถานการณ์ในอาณาบริเวณของชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติมาเลย์ที่ประสบปัญหาหนักหน่วงแห่งนี้กลับคืนสู่สภาพที่ค่อนข้างสงบให้ได้แล้ว ประเทศไทยก็จำเป็นที่จะต้องค้นหาหนทางไม่แต่เพียงในการเจรจาต่อรองกับพวกระดับสูงของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น หากแต่กับประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของตนอีกด้วย

เจสัน จอห์นสัน เป็นนักวิจัยและที่ปรึกษาอิสระในเรื่องพื้นที่ทางใต้สุดของประเทศไทย ปัจจุบันเขาตั้งฐานอยู่ที่จังหวัดปัตตานี และสามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ atjrj.johnson@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น