xs
xsm
sm
md
lg

หลากความเห็น Pat(t)ani Peace Process เมื่อ “คนใน” ต้องเป็น “ตัวกลาง”สร้างสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีสนทนาพิเศษ กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน  ll Session 9: Special Discussion “Pat(t)ani Peace Process in ASEAN Context”
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - หลากหลายความเห็นเรื่องกระบวนการสันติภาพปาตานี หลังงาน Pat(t)ani Peace Process เมื่อ‘คนใน’ต้องเป็น‘ตัวกลาง’ในการนำสร้างสันติภาพสู่ชายแดนใต้

แม้การสนทนาพิเศษ “กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน” ll Session 9: Special Discussion “Pat(t)ani Peace Process in ASEAN Context” ในการประชุมวิชาการนานาชาติรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และสันติศึกษาในบริบทอาเซียน ผ่านไปแล้วหลายวัน ทว่า แรงกระเพื่อมจากงานนี้ใช่ว่าจะหมดลง เมื่อคนที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “คนใน” ต่างออกมาแสดงความเห็นต่อ “พื้นที่กลาง” อันเป็นประเด็นหัวใจของงาน ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

เป็นการแสดงความเห็นในฐานะที่พวกเขาอาจจะต้องออกมาแสดงบทบาทนำในการเป็นตัวกลางที่เป็นคนใน ในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ละคนมองกระบวนการนี้อย่างไร พวกเขาคาดหวังกับมันอย่างไร

เสียงจากฝ่ายรัฐ “ทุกคนคือพลัง”

เริ่มจากตัวแทนภาครัฐ อย่าง นายอุดร น้อยทับทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ที่มองว่า Pat(t)ani Peace Process หรือ PPP เป็นเรื่องของการพูดคุย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี และเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิด การนำเสนองานวิจัย ซึ่งภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนนี้ให้มากขึ้น เพื่อดูว่าสามารถปรับใช้กับนโยบายของรัฐได้มากน้อยแค่ไหน “แต่การพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้นจะมีผลมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติในเชิงนโยบาย และเชิงพื้นที่ด้วย”

ขณะที่ทหารระดับสูงนายหนึ่ง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่า ในกระบวนการสันติภาพปาตานี จะทำอย่างไรที่จะนำผู้แสดงทุกภาคส่วนมานั่งคุย ทำความเข้าใจกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ขัดแย้งเสมอไป ทั้งเด็ก ครู โต๊ะอิหม่าม อุสตาซ (ครูสอนศาสนาอิสลาม) พ่อค้า แม่ค้า และทุกคนยอมรับในแนวทางนี้ 
 
“ที่สำคัญ Peace Process จะไม่เกิดขึ้นได้เลย ถ้าคนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบไม่ออกมาพูดเอง” นายทหารคนเดิม ระบุ พร้อมกับเสริมว่า Peace Process คือ ทุกคนต้องมารวมพลังกัน ซึ่งแน่นอนว่าคู่ขัดแย้งยังไม่เข้ามาร่วม จึงต้องนำคนที่อยู่แวดล้อมของความขัดแย้งมาคุยกันก่อน จากนั้นก็จะค่อยๆ ดึงเข้ามา

นายทหารคนนี้ให้แง่คิดว่า จะทำอย่างไรที่จะนำความสวยงามให้ไปอยู่ในที่เดียวกับความขัดแย้ง ถ้ายังแยกกันอยู่มันก็ยากที่จะได้มาพูดกัน หลายคนบอกว่า ทหารมาเพื่อให้เกิดความสงบ แต่อีกมุมหนึ่งบอกว่า ทหารมาสร้างความขัดแย้ง ทั้งที่ทหารพยายามที่จะทำทุกอย่างให้ดีขึ้น

“ผมเป็นคนอีสาน เห็นคนชายแดนใต้มีความเป็นพี่น้องกันมีมาก พี่น้องต้องลุกขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบจากความไม่สงบเกิดขึ้นกับพวกเราอย่างไร และไม่มีใครที่จะทำให้เกิดสันติภาพได้ นอกจากพวกเราเอง ซึ่งจะใช้เวลานานแค่ไหน ก็อยู่ที่พวกเราเองนั่นแหละ”

ทหารคนนี้บอกว่า พลังในการแก้ปัญหาอยู่ที่คนในพื้นที่ที่จะต้องมาช่วยกัน คนนอกเป็นเพียงผู้จัดกระบวนการเริ่มต้นเท่านั้น แต่พลังมาจากภายใน เช่น ให้กลุ่มนักศึกษาในพื้นที่ขึ้นมามีบทบาทนำ และต้องมีกระบวนการอะไรบ้าง เป็นต้น “เส้นทางนี้ยังอีกยาวนานกว่าจะได้สันติภาพ เพราะเป็นปัญหาที่มาจากความรู้สึกที่สะสมมายาวนาน นานเกินกว่าที่จะบอกได้ว่า ก้าวไปเพียงสามก้าวแล้วจะสำเร็จ เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องอดทน เพราะมันไม่มีทางลัดที่จะนำไปสู่สันติภาพได้เร็วๆ”

นโยบายแบบ Top Down แก้ปัญหาไม่ได้

ส่วนนายตำรวจหนุ่ม อย่าง ร.ต.ท.นิยม กาเซ็ง พนักงานสอบสวน แห่งสถานีตำรวจภูธร (สภ.) เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล ในฐานะนักศึกษาปริญญาโทสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกว่า ค่อนข้างเห็นด้วยกับ Pat(t)ani Peace Process คือ การสร้างตัวกลางที่เป็นคนในมามีบทบาทในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นด้านรัฐศาสตร์ ด้านวิชาการ หรือแม้แต่การระดมความคิดเห็นต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะเป็นการมองแบบ Top Down หรือมองจากส่วนอำนาจข้างบนลงมาข้างล่าง จากนั้นมีการออกนโยบายลงมาให้ข้างล่างขับเคลื่อนไปตามที่ผู้บังคับบัญชามอง แต่หากมีเสียงจากข้างล่างสะท้อนขึ้นไป โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนความเห็น และความต้องการ อาจจะทำให้คนที่อยู่ข้างบนมองเห็นปัญหาที่ยังมองไม่เห็น หรือปัญหาที่ถูกปิดบังไว้ ก็อาจจะทำให้มีการแก้ปัญหาได้ดีขึ้น แต่จะแก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทว่า วิธีการนี้น่าจะนำไปสู่ความสำเร็จได้มากกว่า ซึ่งปัจจุบัน อำนาจการตัดสินใจส่วนมากอยู่ที่ประชาชน”

ร.ต.ท.นิยม บอกว่า จากนั้นเป็นหน้าที่ของผู้เข้าร่วมพูดคุยที่จะต้องติดตามว่า ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอต่างๆ มีใครนำไปปฏิบัติบ้าง แต่ที่ผ่านมาหลายเวทีไม่ค่อยถูกนำไปปฏิบัติเท่าที่ควร ดังนั้น หากเราต้องการให้ข้อเสนอถูกนำไปปฏิบัติได้ ก็ต้องดูว่าข้อเสนอตรงกับสิ่งที่รัฐบาลต้องการหรือไม่ หรือสอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานอื่นใดบ้าง หรือหากรัฐมีแนวคิด หรือวัตถุประสงค์ไม่ตรงตามผู้เข้าร่วม ต่อให้จัดอีกกี่เวทีก็ไม่อยากมีใครเข้าร่วมอีก คาดว่าในประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น น่าจะต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าที่ความต้องการในระดับนโยบายกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่จะเห็นตรงกัน

ทางออกที่แท้จริงจะปรากฏเมื่อทุกคนมาร่วมแชร์

ด้านนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา นายแพทย์ที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ มองว่า สิ่งที่น่าสนใจมากของ Pattani Peace Process คือ มีผู้คนหลากหลายมาร่วมพูดคุย ให้ความสนใจในการมาร่วมฟังนักวิชาการทั้งไทย และต่างชาติที่มาพูด อีกทั้งมีอีกหลายคนที่อยากร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย

ในการอธิบายกระบวนการสันติภาพปัตตานีดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมา กระบวนการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยของผู้คน ไม่ว่าจะอยู่ไกลจากพื้นที่ หรืออยู่ใกล้ หรืออยู่ในพื้นที่ต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มันมีน้อยมาก ดังนั้น การเกิดขึ้นของ Pat(t)ani Peace Process จึงมาถูกทางแล้ว “Pat(t)ani Peace Process ไม่ใช่คุยเรื่องเจรจาสันติภาพ ไม่ใช่การเจรจาเรื่องความรุนแรง แต่เป็นการนั่งคุยกันในทุกเรื่อง เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง”

นายแพทย์สุภัทร มองอีกว่า ภาครัฐ เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หากเห็นว่ากระบวนการนี้สำคัญก็ต้องมาสร้างบรรยากาศ และส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรือข้าราชการในพื้นที่มารับรู้เรื่องราว และความเป็นไปของกระบวนการนี้ด้วย เช่น ตำรวจ ทหารควรมาร่วมเวทีในครั้งนี้ด้วย เพราะพวกเขาอาจมีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกันน้อย ซึ่งต่างจากภาคประชาสังคมที่มีการคุยกันมากพอสมควร แต่ขณะเดียวกัน การเชื่อมเครือข่ายระหว่างแต่ละภาคส่วน เช่น ภาคประชาสังคมกับภาครัฐ ก็ยังไม่ถูกจัดขึ้นในกระบวนการนี้

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์สุภัทรก็มองว่า ไม่ควรคาดหวังว่ากระบวนการนี้จะเกิดผลอย่างเร็ว เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลา ไม่ควรกำหนดว่าจะให้สำเร็จภายในเวลา 10 ปี หรือในการพูดคุยเพียง 10 ครั้ง

“ไม่สามารถบอกได้ว่าผลลัพธ์ของกระบวนการนี้จะเป็นไปในแนวทางไหน เพราะแต่ละคนมีทางออกที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งทุกทางออกไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง เป็นเพียงทางออกในโลกทัศน์ของเราอันจำกัด แต่เมื่อมีการแลกเปลี่ยนกัน ทางออกที่จริงกว่าก็จะออกมา”

ตัวอย่างเช่น วันนี้มีข้อเสนอให้มีเขตปกครองตนเอง ซึ่งอาจเป็นทางออก ณ วันนี้ ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่นั้นยังไม่ทราบ แต่แน่นอนว่าการให้เสรีภาพ ให้อำนาจในการดูแลตนเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่แค่ไหนยังไม่มีใครตอบได้ ซึ่งการพูดคุยจะนำมาซึ่งคำตอบนั่นเอง”

นายแพทย์สุภัทร ทิ้งท้ายว่า เห็นด้วยกับ Pat(t)ani Peace Process อย่างยิ่ง เพราะการจะใช้มาซึ่งสันติภาพนั้น จะต้องทำเป็นกระบวนการ ไม่มีใครสั่งใครและสั่งกันไม่ได้ แต่ต้องช่วยกันทำ และมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก โดยเฉพาะด้านการสื่อสารทั้งกับคนทั่วไป และกับภาครัฐ

ต้องส่งสัญญาณว่าทางออกมีหลายทาง

นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการอิสระ พูดถึงกระบวนการนี้ว่า คือต้องสื่อสารให้แต่ละฝ่ายได้เข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมจะมีทางออกอย่างไร สำหรับข้อเสนอของภาคประชาสังคมนั้นต้องทำให้เกิดความเข้าใจว่า ทางออกในการแก้ปัญหานั้นมีอีกหลายทาง ส่วนข้อเสนอของรัฐในการแก้ปัญหานั้น ก็ควรส่งสัญญาณในทางอื่นบ้าง นอกจากด้านความรุนแรง

“เห็นด้วยกับ Pat(t)ani Peace Process เพราะน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดความรุนแรง ลดการใช้อาวุธ ลดการใช้เงิน ลดความตึงเครียด ลดความแตกแยก ขณะเดียวกัน รัฐต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษที่ใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด และต้องพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยให้เต็มรูปแบบขึ้นในพื้นที่ด้วย เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ไม่มีอย่างอื่นแล้วที่จะแก้ปัญหาได้”

สันติภาพไม่ได้ผูกขาดอยู่กับรัฐ-ขบวนการ

นายฮาดีษ์ หะมิดง ประชาชนชาวจังหวัดปัตตานี มองว่า Pat(t)ani Peace Process ถือเป็นกระบวนการริเริ่มของการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทว่า การแก้ปัญหาแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยเฉพาะในรูปของการเจรจานั้น เกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ผูกขาดอยู่กับฝ่ายรัฐกับกลุ่มที่เห็นต่างกับรัฐมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

“ปัจจุบัน คู่ขัดแย้งของรัฐไม่ประกาศตัวชัดเจนอย่างที่เป็นมา จึงยิ่งแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะฉะนั้น กระบวนการสันติภาพนี้จึงไม่ควรผูกขาดอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องเปิดพื้นที่ให้คนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เป็นแนวทางเดียวเท่านั้นที่นำไปสู่สันติภาพได้ ตนอยากให้กระบวนการนี้เป็นกระบวนการดึงคนเข้ามาพูดคุยให้มากที่สุด”

พลังสันติภาพอยู่ที่ประชาชน

นางอัสรา รัฐการัณย์ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ ระบุว่า เห็นด้วยกับ Pat(t)ani Peace Process เพราะจะมีพื้นที่กลาง และเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการสื่อสารเพื่อให้เกิดสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ยิ่งคนที่อยู่ตรงกลางยิ่งต้องสื่อสารให้เยอะ เราต้องปลุกคนที่ไม่ชอบความรุนแรง ออกมาสื่อสารในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ เนื่องจากทุกคนต้องการสันติภาพ และสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากคนในพื้นที่อยู่เฉยๆ การอยู่เฉยเท่ากับยอมจำนน”

นางอัสรา เล่าด้วยว่า ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ พยายามสื่อสารให้เกิดสันติภาพขึ้นในพื้นที่ ผ่านผู้หญิงที่เป็นแม่ที่สูญเสียลูก หรือสามีจากเหตุไม่สงบ ท่ามกลางความไม่สงบผู้หญิงเหล่านี้ต้องพบเจอวิกฤตอะไรบ้าง และการก้าวข้ามความยากลำบากเหล่านั้นได้อย่างไร

นางอัสรา มองว่า ความพยายามในการสร้างสันติภาพของเครือข่ายผู้หญิง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังอาจไม่มีพลังมากพอ จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในพื้นที่มาร่วมกันสร้างสันติภาพให้กลับมาคืนมา เพราะความรุนแรงที่ดำเนินมา 9 ปี มีผู้เสียชีวิตไป 5,000 คนมันมากพอแล้ว

“ส่วนจะกำหนดว่า สันติภาพควรมีลักษณะอย่างไรนั้น ทุกฝ่ายต้องมาร่วมกันพูดคุย ไม่เพียงเฉพาะคู่ขัดแย้งเท่านั้นที่จะคุยกัน ทั้งที่ประชาชนอยู่ตรงกลางระหว่างคู่ขัดแย้ง ดังนั้น สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อคนที่อยู่ตรงกลางลุกขึ้นมามีมีส่วนร่วมอย่างมีพลัง”

นูรยา เก็บบุญเกิด, ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

กำลังโหลดความคิดเห็น