xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา... จีนเตรียมปฏิรูป "ค่ายแรงงาน" ที่ถูกโจมตีมากกว่าครึ่งศตวรรษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระบบอบรมสัมมนาในค่ายแรงงาน หรือเหลาเจี้ยว ของจีน เปิดทางให้ตำรวจส่งประชาชนไปเข้าค่ายแรงงานเพื่ออบรมให้การศึกษาใหม่ เป็นเวลานานถึงสี่ปี โดยไม่มีการไต่สวนใด (แฟ้มภาพ เอเจนซี)
เอเจนซี—รายงานข่าวที่สร้างความฮือฮาในวงการนักเฝ้ามองจีนรับปีใหม่อีกข่าว คือ รัฐบาลจีนเตรียมปฏิรูปค่ายแรงงานที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด นับเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปกฎหมายตามที่นายใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่ สีจิ้นผิง ให้คำมั่นไว้

สื่อของรัฐ สำนักข่าวซินหวารายงานว่า ในปีนี้รัฐบาลจีนมีความตั้งใจที่จะปฏิรูป “การสัมมนาในค่ายแรงงาน” โดยแผนปฏิรูปฯนี้มาจากการประชุมกลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานปราบปรมและควบคุมอาชญากรรมเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา

เว็บไซต์ของช่องโทรทัศน์กลางแห่งจีน หรือ CCTV อ้างคำพูดของเมิ่ง เจี้ยนจู้ เลขาธิการใหญ่แห่งคณะกรรมการกฎเมืองและการเมืองกลางแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ว่า"การอบรมสัมมนาในค่ายแรงงาน" จะยุติในปีนี้ภายหลังได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารประจำสภาผู้แทนประชาชน

เจ้าหน้าที่ไม่เผยนามผู้หนึ่งที่อยู่ในการประชุมฯ บอกว่า เมิ่ง เจี้ยนจู้ ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ว่า ภายใต้ระบบเก่า เจ้าหน้าที่คณะกรรมการกฎหมายและการเมืองฯได้เข้ามาแทรกแซงกระบวนการศาลยุติธรรมมากเกินไป โดยผู้พิพากษามักได้รับใบสั่งขณะที่นั่งบนบัลลังก์พิจารณาคดี ว่าจะต้องทำอย่างไร

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิชาการด้านกฎหมายชี้ว่า เมิ่งใช้คำว่า “หยุด” ไม่ใช้คำ “ยกเลิก” เมื่อกล่าวถึงแผนการระบบการอบรมสัมมนาในค่ายแรงงาน ที่เลื่องลือและถูกโจมตีจากนานาชาติ โดยมักถูกนำไปเทียบกับ “ค่ายกักกัน” ของเผด็จการโลก

ระบบ "การอบรมสัมมนาในค่ายแรงงาน" (Re-education through labor) จีนเรียก เหลาเจี้ยว (劳动教养) เริ่มเมื่อปี 2500 ระบบฯนี้ให้อำนาจตำรวจกักขังผู้ต้องหาในค่ายที่ว่านี้เป็นเวลาถึง 4 ปี โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการไต่สวนหรือพิจารณาคดีในศาล จึงถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการบ่อนทำลายหลักนิติธรรมและมักถูกใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีแนวคิดขัดแย้งกับรัฐ

รายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่ง สหประชาชาติ ( UN Human Rights Council ) ปี 2552ระบุ สาธารณรัฐประชาชนจีนมีค่ายแรงงาน 350 ค่าย ทั่วประเทศ มีผู้ถูกควบคุมตัวอบรมในค่าย 190,000 คน

กรณีตัวอย่างที่สื่อของรัฐเปิดเผย เหริน เจี้ยนอี่ว์ ชาวบ้านที่ถูกส่งเข้าค่ายแรงงานเพราะไปวิจารณ์รัฐบาลหรือกรณีขอถัง ฮุ่ย สตรีที่ถูกส่งเข้าค่ายแรงงานในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เพราะร้องเรียนให้ผู้ที่กระทำการข่มขืนลูกสาวของเธอได้รับโทษที่สาสม สุดท้ายเธอได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

“ค่ายกักกัน” นี้ถูกโจมตีจากปัญญาชน นักกฎหมายสิทธิ นักเคลื่อนไหวทางสังคมแม้กระทั้งสื่อของรัฐเอง เหอ เว่ยฟาง, ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาวิทยาลัยปักกิ่งกล่าวกับรอยเตอร์ว่า “ถ้าสามารถล้มเลิกค่ายกักกันนี้ได้ภายในปีนี้ ผมคิดว่ามันจะเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของหลักนิติธรรม”

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฎหมายและการเมืองกลางฯตกเป้าโจมตีจากกลุ่มนักกฎหมายว่า เป็นตัวขัดขวางกระบวนการศาลยุติธรรม โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับการเมือง ด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบ

“คณะกรรมการฯ ละเมิดรัฐธรรมนูญโดยทำลายอิสระในการศาลยุติธรรม” หู จิ้นกวน อาจารย์ภาควิชากฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งมหาวิทยาลัยประชาชนในปักกิ่งกล่าว

ทั้งนี้ ในห้าปีที่ผ่านมา คณะกรรมการกฎหมายและการเมืองฯซึ่งมีโจว หย่งคัง เป็นนายใหญ่ ครองอำนาจใหญ่คับฟ้า ละเมิดอำนาจจัดการปฏิปักษ์อย่างเหิมเกริม การแสดงความเห็นของเมิ่ง แสดงถึงความตั้งใจของผู้นำใหม่ที่จะปฏิรูปหน่วยงานกำกับดูแลด้านกฎหมายนี้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มวิเคราะห์มองว่าอิทธิพลของคณะกรรมการกฎหมายและการเมือง ถูกริดลงแล้ว หลังจากที่ โจว หย่งคัง ลงจากเก้าอี้นายใหญ่ของคณะกรรมการฯเมื่อเดือนที่แล้ว(ธ.ค. 2556) เนื่องจากโจว หย่งคัง เป็นสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองประจำของพรรคฯ ซึ่งเป็นองค์การอำนาจใหญ่สุดของประเทศ ขณะที่ เมิ่ง เจี้ยนจู้ที่มานั่งตำแหน่งแทนโจว เป็นสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองหมุนเวียน ซึ่งทรงอำนาจรองลงมา ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงมองกันว่าการยุติการส่งใบสั่งให้ผู้พิพากษาและค่ายแรงงานให้การศึกษาใหม่ คงประสบผลสำเร็จเพียงเล็กน้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น