เอเอฟพี - ปัจจุบัน แม้ยังเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่ก็มีพ่อแม่บนแดนมังกรมากขึ้น ที่หันหลังให้กับระบบการศึกษาของรัฐ และลงมือสอนหนังสือให้ลูกด้วยตัวเองที่บ้าน
นายจาง เฉียวเฟิง ละทิ้งอาชีพการงาน ที่กำลังรุ่งในตำแหน่งหัวหน้าบริษัทวิจัยด้านการแพทย์ เพื่อมีเวลาอยู่กับบ้าน และอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง
เขาบอกว่า ต้องตัดสินใจเด็ดเดี่ยวเช่นนี้ เพราะเขารู้สึกว่าไม่มีทางเลือกอื่นจริง ๆ
“ ระบบการศึกษาของจีนมีปัญหาพิเศษเฉพาะหลายอย่าง” นายจาง ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศระบุ
“ผมต้องการให้ลูกชายของผมได้รับการศึกษาในแบบที่ได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ใช่แค่ฟังครูพูด เวลาส่วนใหญ่ของลูกถูกกันไว้สำหรับให้เขาทำในสิ่งที่สนใจ หรือเล่น” เขาอธิบาย
ณ อพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ ในชานกรุงปักกิ่ง นายจางสอนหนังสือให้หงอู๋ ลูกชาย วันละ 4 ชั่วโมง โดยใช้ห้องนั่งเล่นเป็นห้องเรียนเสียส่วนใหญ่ แตกต่างจากหลักสูตรชั้นประถมศึกษาภาคบังคับ ที่เด็กชายวัย 8 ขวบผู้นี้จะต้องนั่งเรียนหนังสืออยู่ในห้องเรียนนานถึง 6 ชั่วโมง
แม้จีนประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ขณะที่เมืองต่าง ๆ เช่นนครเซี่ยงไฮ้ยังอ้างถึงอัตราเด็ก ที่เข้าเรียนในโรงเรียนว่า อยู่ในเกณฑ์ดี และองค์การสหประชาชาติเองระบุว่า จีนมีอัตราการอ่านออกเขียนได้ในหมู่เยาวชนสูงถึงร้อยละ 99
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ชาวจีนมากมายกลับมองว่า ระบบการศึกษาของรัฐถูกครอบงำด้วยผลการสอบ และรูปแบบการสอนที่เข้มงวดเคร่งครัดมากเกินไป นอกจากนั้น ยังเน้นการเรียนรู้แบบท่องจำ และการสอบผ่าน ซึ่งหมายถึงว่าเด็กต้องอยู่ในห้องเรียนยาวนานหลายชั่วโมง
จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยเด็กและเยาวชนของจีนในปี 2550 ระบุว่า เด็กในจีนเรียนหนังสือในโรงเรียนเฉลี่ยวันละ 8.6 ชั่วโมง และบางคนเรียนหนังสือถึงวันละ 12 ชั่วโมง
นายเหลา ไคเซิง นักวิจัยด้านนโยบายการศึกษาของมหาวิทยาลัยปักกิ่งนอร์มอลระบุว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พ่อแม่ผู้ปกครอง ที่สอนหนังสือให้บุตรหลานด้วยตนเองที่บ้าน มีเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ยังไม่ถึง 1 %
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พ่อแม่เหล่านี้กำลังวิตกกันมากที่สุดก็คือการให้ลูกเรียนหนังสือที่บ้านจะขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเห็นได้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเวทีสนทนาในอินเทอร์เน็ต ซึ่งนายซู ซื่อจิ้น ผู้สอนหนังสือให้ลูกที่บ้าน ซึ่งมีความโดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง เปิดขึ้นเมื่อปี 2553 และมีสมาชิกเข้ามาในบล็อกแล้วในขณะนี้กว่า 4,000 คน
นายซูลงทุนย้ายจากเจ้อเจียง เมืองศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรม ที่เฟื่องฟู ทางภาคตะวันออกของจีน พาลูก 2 คนมาอาศัยในท่ามกลางทัศนียภาพ อันสวยงามเงียบสงบของเมืองต้าลี่ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้
“ เด็ก ๆชาวจีนถูกสอนให้แข่งขันกันมาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ” เขากล่าว
“ นักเรียนที่ไม่สามารถเอาชนะได้จะถูกกำจัดไป… เด็ก ๆ ได้รับแรงกดดันมากเกินไป” เขาให้ความเห็น
สำหรับนายซู ซึ่งเป็นคริสเตียน เขาต้องการให้ลูกได้รับการศึกษา ที่มีคัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นศูนย์กลางมากขึ้น ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญในหลายประเทศ เช่นในสหรัฐฯ ที่การสอนหนังสือที่บ้านกำลังได้รับความนิยมมากกว่าเดิม
นายเหลา นักวิจัยระบุว่า ขณะนี้นักการศึกษาของจีนแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือพวกต้องการบังคับให้เด็กกลับเข้าโรงเรียน กับพวกที่ต้องการทำให้การสอนหนังสือที่บ้านเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่เห็นการตรากฎระเบียบใหม่เกิดขึ้นในเวลานี้
อย่างไรก็ตาม นายจาง คุณพ่อ ซึ่งสอนหนังสือลูกชายภายในอพาร์ตเม้นต์เล็ก ๆ ไม่หวั่นเรื่องว่า จะผิด หรือไม่ผิดกฎหมาย
“ ทักษะภาษาจีนและภาษาอังกฤษลูกชายของผมสูงกว่าเด็กชาวจีนคนอื่น ๆในวัยเดียวกัน” เขาชี้ไปที่ชั้น ซึ่งเต็มไปด้วยหนังสือ ที่เด็กชายหงอู๋อ่านมาแล้ว
“ผมวางแผนไว้ว่า จะสอนหนังสือให้ลูกจนเขาพร้อมจะเข้ามหาวิทยาลัย ผมหวังว่าลูกจะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ที่ยิ่งใหญ่อย่างฮาร์วาร์ด อ็อกซฟอร์ด หรือเคมบริดจ์ ผมแน่ใจ 95 % ว่า เขาจะทำได้ครับ ” นายจางกล่าวอย่างเชื่อมั่น