xs
xsm
sm
md
lg

6 ใน 7 ยอดขุนพลโปลิตบูโรจีนถือปริญญาสังคมศาสตร์!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการประจำกรมการเมืองจีนชุดใหม่ (ภาพเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในรอบสองทศวรรษปกครองแผ่นดินมังกร ที่ผู้นำก่อนหน้ากุมบังเหียนรัฐนาวาจีนล้วนแล้วแต่สำเร็จการศึกษาสายวิทย์เสียเป็นส่วนใหญ่ ทว่าหลังจากการประชุมพรรคฯ ครั้งที่ 18 ที่ผ่านมา คณะกรรมการประจำกรมการเมืองหรือโปลิตบูโร 6 ใน 7 คนชุดใหม่ ถือปริญญาด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

นักวิเคราะห์เผยว่า ภูมิหลังการศึกษาของผู้นำจีนเป็นสิ่งสำคัญในการเสริมสร้างบุคลิกและวิสัยทัศน์การทำงาน ทว่าหลายคนก็เห็นว่าผู้นำเหล่านี้ไม่เคยแตกแถวไปจากสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์กำหนด นั่นคือ "การคงสถานะเดิม"

นายหลี่ เค่อเฉียง ผู้นำหมายเลขสองในคณะกรรมการประจำกรมการเมือง เป็นผู้นำจีนระดับสูงคนแรกที่ถือปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ และปริญญาโท-ตรี ด้านกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดได้มากจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งฯ หลี่ วัย 57 ปี ซึ่งจะได้แทนที่นายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่าในเดือนมี.ค. ปีหน้า จะกลายเป็นผู้นำที่มีวุฒิการศึกษาดีที่สุดนับแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนมาตั้งแต่ปี 2492

ขณะที่เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่ นายสี จิ้นผิง ผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมเคมีฯ จากมหาวิทยาลัยชิงหวา กรุงปักกิ่ง (2518-2522) ก็สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกภาคนอกเวลาฯ ด้านกฎหมาย (ลัทธิมาร์กซิสม์) จากคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยชิงหวาด้วย

ส่วนขุนพลโปลิตบูโรอีกสี่คนก็ศึกษาสังคมศาสตร์ หรือไม่ก็มนุษยศาสตร์ จะมีก็แต่เพียงนายอี๋ว์ เจิ้งเซิง ที่จบการศึกษาด้านการควบคุมระบบขีปนาวุธแบบอัตโนมัติ

ย้อนไปดูโปลิตบูโรชุดที่แล้ว จำนวน 7 ใน 9 มีวุฒิทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ อดีตเลขาธิการใหญ่ฯ หู จิ่นเทา ก็จบการศึกษาด้านวิศวกรรมชลศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิงหวา ในปี 2508 ขณะที่นายกเวินฯ ก่อนเป็นนักการเมืองก็เป็นนักธรณีวิทยามาก่อน

กลุ่มการเมืองที่จบด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ขึ้นเถลิงอำนาจเต็มในช่วงปี 2540 ที่ครั้งนั้น สมาชิกโปลิตบูโรทั้งหมด 7 คน ล้วนถือปริญญาสายวิทย์ เลขาธิการใหญ่เจียง เจ๋อหมิน จบตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยซั่งไห่เจียวทง ในปี 2490

สยง ปิงฉี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการศึกษาศตวรรษ 21 เผยว่า กลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วว่าผู้นำจีนจะเป็นนักวิชาการสายวิทย์ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ตลอดช่วงทศวรรษ 1950-60 ซึ่งคล้ายกับการคัดเลือกผู้นำการทหารของสหภาพโซเวียต ที่พิศวาสผู้ที่สำเร็จการศึกษาสายวิทย์เป็นพิเศษ

สยงเผยว่า ระบบการศึกษาแผ่นดินใหญ่จีนได้เริ่มขยับขยายมากขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ทำให้ผู้นำจีนเริ่มศึกษาในศาสตร์ที่หลากหลายมากขึ้น "ผู้นำที่จบสายวิทย์จะมีแนวคิดด้านการวางแผนการจัดการที่เป็นระบบ ส่วนผู้ที่จบสายสังคมจะเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมการอยู่อาศัยของประชาชน ตลอดจนความกินดีอยู่ดีของปัจเจกมากกว่า"

ทว่า ประชาชนก็อย่าได้ให้ความสนใจเรื่องพื้นภูมิการศึกษาของผู้นำ ว่าจะส่งผลต่อบริบทการเมืองขนาดนั้น ในจีนไม่มีอะไรแน่นอน

เฉิน จื้อหมิง นักวิเคราะห์การเมืองผู้สำเร็จการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ ผู้ตระหนักถึงระบบการเมืองและอารยธรรมของมนุษย์เป็นสำคัญ เขาเชื่อว่า ผู้นำใหม่จะให้ความสำคัญด้านการพัฒนามนุษย์มากขึ้น แต่ก็คงไม่ถึงขึ้นเผยแพร่คุณค่ามนุษย์ในระดับสากล เพราะว่ากรอบการทำงานของผู้นำจีนถูกวางระบบไว้แล้วภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีน

กำลังโหลดความคิดเห็น