xs
xsm
sm
md
lg

หลายฝ่ายเชื่อ จีนมีศักยภาพเอาตัวรอดได้ แม้จีดีพีร่วงต่อเนื่อง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กราฟแสดงตัวเลขอัตราเติบโต ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน ในแต่ละไตรมาส ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2550 - 2555 (ภาพเอเยนซี)
เอเยนซี - บรรดาผู้คุมนโยบายและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน เชื่อมั่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่รู้จักทั้งชะลอช้า และควบเร่ง เหมือนการขับรถไปตามถนนขรุขระ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนผ่านช่วงวิกฤติโลก และเลี่ยงปัญหาอุปสรรคภายในพร้อมทั้งใช้การบริโภคภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อน

สื่อจีนรายงาน (18 ก.ค.) ว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่สองซึ่งตกลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.6 เทียบกับปีก่อนหน้า ร่วงจากร้อยละ 9.5 เวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และตกลงมา 0.5 เทียบกับอัตราเติบโตร้อยละ 8.1 ของไตรมาสแรก ซึ่ง​เป็นตัว​เลข​การขยายตัวที่ต่ำกว่าร้อยละ 8 ​เป็นครั้ง​แรก​ในรอบ 3 ปี และแม้ว่า จังหวะก้าวย่างเศรษฐกิจจีนยังไม่สะดุด แต่ก็คงจะไม่ค่อยลื่นไหลนัก ก่อนหน้านี้ ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก จีนเคยพบกับอัตราถดถอยเศรษฐกิจหนักๆ ในช่วงปีพ.ศ. 2551 - 2552 โดยไตรมาสแรกของปี 2552 ตอนนั้น อัตราเติบโตเศรษฐกิจจีนอยู่ที่ร้อยละ 6.6 ก่อนที่จีนจะระดมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมโหฬารเพื่อรักษาระดับเติบโตไว้

สำหรับการเติบโตที่ชะลอลงไปนี้ แน่นอนว่าเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจถดถอยหนักของกลุ่มยูโรป ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ขณะที่การฟื้นตัวของสหรัฐฯ ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มๆ ขนาดที่ว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้แถลงเมื่อวันจันทร์ ว่าได้ปรับลดคาดการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในโลก และยังเฝ้าติดตามความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจลุกลามไม่หยุด

เฉิน เต้อหมิง รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จีน เคยกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า ในปีนี้ (ถ้าโชคดี) จีนจะสามารถรักษาการค้าระหว่างประเทศให้เติบโตอยู่ระดับร้อยละ 10 ได้

ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อว่า การเติบโตที่ช้าลงส่วนหนึ่งเป็นไปด้วยความตั้งใจเพื่อต้องการคุมการเติบโตที่เกินจริงโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อ โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการจำนวนมากเพื่อควบคุมการเติบโตที่ไม่สมดุลย์ของที่อยู่อาศัยและราคาฯ จนทำให้เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 29 เดือน

ด้านนางลา​เอล ​เบรนนาร์ด รัฐมนตรีช่วยกระทรวง​การคลังของสหรัฐฯ กล่าวเชื่อมั่นว่า จีนมีศักภาพมากพอ​ใน​การรับมือกับ​ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ​และคาดว่ามาตร​การเศรษฐกิจจีนยังมีศักยภาพมากพอ​ใน​การหลีก​เลี่ยง​เศรษฐกิจร่วงทรุดรุน​แรง

เบรนนาร์ดกล่าวว่า จีนมีวินัย​ใน​การดำ​เนินงานเพื่อให้เป็นตามเป้าหมาย ซึ่งเป็น​เรื่องที่สำคัญ และการกำหนดน​โยบายของจีน​ใน​การส่ง​เสริม​ผู้บริ​โภคภาย​ในประ​เทศ​ในขณะที่รักษา​ความสมดุล​ให้​ได้อย่างต่อ​เนื่องก็น่าจะมีศักยภาพ อีกทั้งในการประเมินศรษฐกิจของจีนอย่างถูกต้องนั้น ต้องใช้ดัชนีชี้วัดหลายราย​การ​ มากกว่าลำพังเพียงดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภาย​ในประ​เทศ (จีดีพี) ​ซึ่งรวมถึงการประเมินในภาพกว้างถึงความพยายาม​เพื่อสร้าง​ความสมดุล​การเติบโตและ​ขยายตัวที่มี​ความยั่งยืน่ในระยะยาวด้วย ซึ่งจะพบว่าจีน​ได้กำหนด​เป้าหมายที่ชัด​เจน​ และยังดำ​เนินงานอย่างสอดคล้องกับ​แผน 5 ปี ฉบับที่ 12 ​อยู่ และที่น่าสนใจคือการลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญของ ยอด​เกินดุลของบัญชี​เดินสะพัด​ในปัจจุบันของจีน​ ซึ่งสะท้อน​ให้​เห็น​ถึง​การ​แข็งค่าของ​เงินหยวน​เมื่อ​เทียบกับดอลลาร์ หลังจากที่ปรับค่า​เงิน​เฟ้อ​แล้ว

หวัง เถา นักเศรษฐศาสตร์จาก ยูบีเอส ซีเคียวริตี้ส์ (UBS Securities) ให้ความเห็นว่า การเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศจะเป็นหนทางยั่งยืนของความเติบโตเศรษฐกิจจีน

หลี่ เว่ย และ สเตฟาน กรีน นักวิเคราะห์จากสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ส เขียนในรายงานฯ ว่า คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของจีนจะมีความกระเตื้องขึ้นในครึ่งปีหลัง หลังจากที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และเพิ่มการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภค

เซิง ไหล่ยวิ่น โฆษกของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน กล่าวว่า หลังจาก 30 ปี ที่จีนโตไม่หยุด เราก็เข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และเป็นปกติที่อัตราเติบโตต้องชะลอช้าลง อย่างไรก็ดี เรายังมีพื้นที่เติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนอีกมากในประเทศ ทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การค้าการตลาดระหว่างประเทศ และสำหรับตัวเลขเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 7.5

ขณะที่ไฟแนนเชียล ไทม์ รายงานความเห็นของ นิค ลาร์ดี้ จาก สถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศปีเตอร์สัน ว่า ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา จีนได้ลงทุนในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 40 ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นๆ และการจะถอนตัวบางทีก็ไม่ง่าย และตัวเลขจีดีพีที่ตกลงต่อเนื่อง จนเกือบเท่าจุดที่อ่อนแอสุดในปี 2552 ก็คงมีผลกระทบต่อสัดส่วนการลงทุนทางด้านสินทรัพย์ต่างๆ ของจีน และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจะเป็นปัจจัยหลักที่จีนจะพึ่งพา

ไฟแนนเชียล ไทม์ ระบุ (17 ก.ค.) ว่า บรรดานักวิเคราะห์ต่างมีความเชื่อว่า ภาวะนี้จะดีต่อจีน เพราะสำหรับโลกเศรษฐกิจที่ยังผันผวนอ่อนแอ ถ้าจีนยังโหมระห่ำ มีหวังว่าเวลาล้มจะดังและสั่นสะเทือนมาก และการลงทุนแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ก็จะหมักหมมเข้าไปอีกแน่ๆ

เผิง เวิ่นเซิง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจจาก ไชน่าอินเตอร์เนชั่นแนล แคปิตอล คอร์ป (China International Capital Corp) กล่าวว่า "จีนกำลังอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง จำเป็นต้องรักษาสมดุลย์ทั้งการเติบโตระยะสั้น และระยะยาว จะไปกังวลแค่ผลเติบโตระยะสั้นทำให้เสียการใหญ่ในระยะยาวไม่ได้"
กำลังโหลดความคิดเห็น