xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” สั่งวิเคราะห์เชิงลึกจุดเสี่ยงวิกฤตยูโร “กิตติรัตน์” เข็น 10 มาตรการรับมือ โว ศก.ไทยยังบวกอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ นั่งหัวโต๊ะถก ครม.เศรษฐกิจ รับมือวิกฤตยูโร ยันไม่ประมาท สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกาะติดวิเคราะห์เชิงลึกจุดเสี่ยง รับห่วงภาคการส่งออก อุตสาหกรรมสิ่งทอ เน้นความพร้อมของกลุ่มเอสเอ็มอี ส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ “กิตติรัตน์” ย้ำ 10 มาตรการรับมือวิกฤตยูโรโซน ระบุ “กองทุนพยุงหุ้น” แค่เตรียมการอาจไม่ต้องใช้จริง เผย นายกฯ สั่งประชุม 9 กระทรวง ศก.ทุกสัปดาห์ ออกตัวแค่ไม่ประมาท เชื่อ ยุโรปดูแลกันได้ไม่ลามถึงไทย โอ่ไม่ปรับเป้าส่งออก-จีดีพี ลงแน่ โวเลวร้ายแค่ไหนก็ยังบวกอยู่

วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ครั้งที่ 5/2555 เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรป หรือกลุ่มยูโรโซน และประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจไทย ถึงการเตรียมความพร้อมรับมือจากวิกฤตยูโร ว่า จากการประชุม ครม.เศรษฐกิจได้สั่งให้ติดตามผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม ซึ่งทางอ้อมจะต้องทำรายละเอียด เช่น เรื่องผลธุรกรรมที่จะมีผลกระทบโดยตรงกับผู้ค้าที่อยู่ในกลุ่มของยูโรโซนทั้งหมด ซึ่งเราจะต้องมาทำความเข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างจะหายไปหรือมีผลกระทบทั้งหมด ก็ต้องกลับมาประเมินทั้งหมด เพราะบางครั้งมีรายละเอียด

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการประชุมและติดตาม สั่งงานรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ลงไปวิเคราะห์ ทั้งในจุดสถานการณ์ปัจจุบัน และจุดเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น เรื่องของแรงงาน ผลประกอบการแต่ละธุรกิจ ว่า ที่ไหนบ้างได้รับผลกระทบเพื่อให้รัฐทำความเข้าใจ และเตรียมการป้องกัน เพื่อให้อยู่ในความไม่ประมาทอันนี้เป็นแผนที่เราติดตามอยู่เป็นระยะ สำหรับสิ่งที่เร่งด่วน เราเห็นแล้วว่า หลายภาคอุตสาหกรรมมีผลกระทบชะลอตัว เช่น ที่เราเป็นห่วง คือ ภาคการส่งออก หรืออุตสาหกรรมสิ่งทอ และอีกหลายๆ อุตสาหกรรม ทั้งนี้ จะเรียกประชุมหน่วยงาน ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน และมาหารือว่า ต้องการให้รัฐมีมาตรการต่างๆ เข้ามาช่วยเหลืออย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะกระทบต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจของไทยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ณ วันนี้ ยังไม่ทราบ แต่อัตราการเจริญเติบโตเริ่มดีขึ้น หลังจากสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งวันนี้ตลาดต่างๆ เริ่มกลับมา แต่เรายังไม่เห็นตัวเลขทั้งหมด คงต้องลงไปทำความเข้าใจรายละเอียดเชิงลึก เมื่อถามว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขจีดีพีของไทยหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตัวเลขภาพรวม ณ วันนี้ คงต้องดูผลกระทบจากลุ่มทางยูโรโซนก่อน ว่า มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งได้ให้ทางสภาพัฒน์ และแบงก์ชาติ และกระทรวงการคลัง ติดตามประเมิน ซึ่งต้องประเมินทั้งกรณีที่เลวร้ายที่สุดว่า จะกระทบต่อไทยอย่างไร และถ้าแก้ปัญหาได้จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งตรงนี้เราต้องติดตามตัวนี้ก่อนเพื่อให้อยู่ในความไม่ประมาท ดังนั้น วันนี้เรายังต้องรอติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ว่า กลุ่มยูโรโซนมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่ ณ วันนี้เราต้องแก้ปัญหาของตัวเอง โดยอย่างแรกต้องดูความพร้อมของกลุ่มเอสเอ็มอี และการส่งเสริมเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น และสร้างความแข็งแรงของโรงงานอุตสาหกรรมให้มีการเติบโตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งตรงนี้เราต้องทำควบคู่ขนานกันไป เมื่อถามว่า ตัวเลขจีดีพียังอยู่ที่ 5-6 หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า วันนี้ยังอยากเห็นเป็นอย่างนั้น คงต้องขออนุญาตประเมินก่อนแล้วจะเรียนให้ทราบอีกครั้ง

ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แถลงข่าวโดยเปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้มีการรับทราบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.55 และรับทราบ 10 มาตรการรับมือทางเศรษฐกิจ จากการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 4/2555 โดยมีสาระสำคัญ อาทิ 1.การติดตามปัญหาของประเทศกรีซอย่างใกล้ชิด ที่หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และอาจจะลุกลามไปถึงโปรตุเกส สเปน และ อิตาลี และส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในที่สุด 2.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดอัตราดอกเบี้ยในประเทศระดับที่เหมาะสม 3.เร่งวางแผนเตรียมรองรับผลกระทบต่อภาคการเงิน โดยต้องมีข้อมูลสถาบันการเงินในประเทศ ว่า มีเงินจากยุโรปที่มีความเสี่ยงไหลออกจำนวนเท่าไร ป้องกันผลกระทบค่าเงินและเศรษฐกิจไทย 4.เตรียมการล่วงหน้าถึงกรณีที่วิกฤตเศรษฐกิจยุโรปกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า จะมีมาตรการใดเหมาะสมที่จะดำเนินการ เช่น การจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น

“ในอดีตประเทศไทยผ่านภาวะความผันผวนในตลาดทุนมาแล้วหลายครั้ง มีการเชิญชวนสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อมาร่วมกันกองทุนก็มีมาแล้วหลายครั้งเช่นกัน เพียงแต่ในอดีตมีกระบวนการคิดตัดสินใจที่ใช้เวลา จนล่วงเลยไปพอสมควร มาในครั้งนี้ที่ประชุมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อที่หากมีความจำเป็นก็สามารถทำได้รวดเร็ว ส่วนขนาดของกองทุนจะมากหรือน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ใดที่จะต้องกังวลในเรื่องความผันผวนในตลาดหุ้น” นายกิตตรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า 5.กระทรวงพาณิชย์ วิเคราะห์ข้อมูลการส่งออกไปยุโรป รวมถึงกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นรายบริษัท เพื่อเตรียมการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกได้ไม่ลดลง 6.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งผู้แทนพิเศษในยุโรป ติดตามข้อมูลเชิงลึก และประสานรัฐบาลประเทศในยุโรปในช่วงที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ 7.เตรียมมาตรการช่วยเหลือแรงงาน กรณีประสบปัญหาเลิกจ้างจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป 8.จัดประชุมร่วมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ 9 กระทรวงทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงได้ทันที โดยนายกฯ อาจเข้าร่วมด้วย 9.กระทรวงการคลัง ธปท.และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตั้งทีมเกาะติดสถานการณ์และรายงานข้อมูลนายกฯ และสุดท้าย 10.ให้ทุกหน่วยงานหาโอกาสจากวิกฤตครั้งนี้

“การหารือวันนี้ ไม่ได้หมายความว่า เราเชื่อว่าจะเกิดวิกฤตอย่างรุนแรง แม้เราจะถือว่าเป็นวิกฤตของยุโรปครั้งนี้เป็นปัญหาที่ที่ไม่ธรรมดา แต่เรื่องที่เกิดขึ้นก็เป็นระบบเศรษฐกิจที่อยู่ในกรอบของกลุ่มอียู ที่น่าจะดูแลกันได้ และไม่เป็นผลกระทบลุกลามไปภายนอก แต่รัฐบาลก็ไม่ประมาท และเตรียมการไว้สำหรับทุกความเสี่ยงที่เกิดขึ้น” นายกิตติรัตน์ ระบุ

นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวย้ำด้วยว่า วิกฤตยูโรโซนครั้งนี้ ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะส่งผลให้รัฐบาลต้องปรับเป้าหมายการส่งออกของปีนี้ ที่ตั้งไว้ร้อยละ 15 รวมไปถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของไทยในปีนี้ที่ตั้งไว้ร้อยละ 5.5-6.5 ยังเป็นไปตามเป้าหมายเดิม ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ในช่วงนี้ เชื่อว่า แม้จะเลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจไทยก็ยังเป็นบวกอยู่ สำหรับภาระหนี้สินของประเทศก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำอย่างมาก ประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท เท่านั้น ภาวะเงินคงคลังก็ยังมียอดเกินกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งจากการประเมินของกระทรวงการคลังล่าสุด พบว่า ขณะนี้เงินคงคลังอยู่ในระดับที่สูงเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ในยอดของภาระหนี้มีเงินของกองทุนฟื้นฟูฯ 1.4 ล้านล้านบาทรวมอยู่ด้วย แต่ยอดนี้ไม่เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน เท่ากับว่า เรามีภาระหนี้ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำและปลอดภัยต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ หรือจะนำเงินไปสร้างระบบบริหารจัดการน้ำ แม้กระทั่งปีงบประมาณ 2556 ก็สามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้ แต่ไม่สูงมากนัก



นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง (ภาพจากแฟ้ม)
กำลังโหลดความคิดเห็น