xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดทุนมั่นใจรับมือพายุการเงิน “โต้ง” ยันไทยไม่ซ้ำรอยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรพล โสคติยานุรักษ์
เลขาธิการ “ก.ล.ต.” มั่นใจ “ตลท.-บจ.” มีกลไกรับมือความเสี่ยง และวิกฤตหนี้ยุโรปลุกลามถึงไทย แนะนักลงทุนใช้ความระมัดระวัง แต่หากผันผวนรุนแรงเกิน 10% ก็ยังมีเครื่องมือเด็ด “เซอร์กิตเบรกเกอร์” เข้ามาดูแลได้ในทันที “กิตติรัตน์” ยันหนี้สาธารณะของไทยเอาอยู่ ไม่ซ้ำรอยวิกฤตแฮมเอบร์เกอร์ของสหัฐฯ คาดส่งออกยังได้ตามเป้าเดิม

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจไม่ว่าจะเป็นผลการเลือกตั้งของกรีซ และการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่อาจจะมีผลกระทบส่งผ่านไปยังตลาดการเงิน และตลาดทุนทั่วโลก รวมถึงไทยนั้น ทางภาคตลาดทุนก็ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบปัญหาเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่ง ก.ล.ต. มั่นใจว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีกลไกที่ดีในการบริหารจัดการกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

ส่วนทางด้านบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทยนั้น เชื่อว่า บจ.ของไทย มีความสามารถ และมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้นักลงทุนมั่นใจในมาตรการของตลาดหลักทรัพย์ฯ และใช้ความระมัดระวังในการลงทุน

ทั้งนี้ หากตลาดหุ้นไทยมีความผันผวน โดยหากดัชนีหลักทรัพย์มีการปรับตัวลดลงถึง 10% ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีเครื่องมือสำคัญ คือ มาตรการหยุดพักซื้อขายชั่วคราว (เซอร์กิตเบรกเกอร์) ซึ่งจะเป็นหนึ่งในมาตรการที่มีความพร้อม และสามารถนำเข้ามาดูแลตลาดได้ในทันที

ด้านนายกิตติรัตน์ ณระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เชื่อมั่นว่า หนี้สาธารณะของไทยจะไม่กลายเป็นหนี้เสียเหมือนหลายประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) และคาดว่า ปัญหายุโรปจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกซวนเซหนักเหมือนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และยังไม่ลดเป้าส่งออกของไทยปีนี้ที่ขยายตัวร้อยละ 15 รวมถึงผลิตภัณฑ์มวงรวมประชาชาติ (จีดีพี) ที่ร้อยละ 5.5

สำหรับประเด็นปัญหากรีซจะมีการเลือกตั้งใหม่วันอาทิตย์นี้ และอาจเป็นการชี้ชะตาว่า ประเทศจะอยู่ในยูโรโซนต่อไปหรือไม่ นายกิตติรัตน์ ประเมินว่า กรีซจะอยูในยูโรโซน หรือออกไป ล้วนแต่มีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น ขณะนี้หลายประเทศในอียูมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ แต่ปัญหาค่อยๆ เกิดขึ้น ทั่วโลกรวมทั้งไทยจึงเตรียมการต้อนรับ จึงเชื่อมั่นว่าโลกจะไม่กระทบหนักเหมือนกับวิกฤติแฮมเบอร์ของสหรัฐฯ ในปี 2552

ทั้งนี้ รัฐบาลทุกภาคส่วนได้เตรียมพร้อมตั้งรับ เช่น การประสานกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะมีการติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ดูแลนโยบายการเงินการคลังไปร่วมกัน เหมือนกับการจัดทำงบประมาณปี 2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณขาดดุล 300,000 ล้านบาท ทาง ธปท.คลัง สศช.ก็เห็นร่วมกันว่ามีวินัยการเงินการคลังที่เหมาะสม

“ปัญหาหนี้ของยุโรปประเทศที่มีปัญหามีหนี้สาธารณะถึงร้อยละ 100 แต่ไทยมีหนี้สาธารณะ 4.2-4.3 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 40 ของจีดีพีที่มีมูลค่า 12.5 ล้านล้านบาท และมีวินัยการคลังดูแลหนี้ไม่ให้เกินร้อยละ 60 จึงเห็นว่า เราอยู่ห่างไกลปัญหามาก และที่สำคัญ หนี้สาธารณะมีหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินมาจ่ายหนี้คืนแต่อย่างใด”

นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยมีการกระจายตัวพึ่งพาทั้งการส่งออก การลงทุนในประเทศ และภาคบริการ (การท่องเที่ยว) ซึ่งยอมรับว่า ปัญหาอียูจะกระทบต่อเศรษฐกิจบ้าง แต่จะดูแลให้กระทบน้อยที่สุด ขณะที่นายกรัฐมนตรีให้ความสนใจ และให้ทุกฝ่ายร่วมกันลดผลกระทบ โดยในภาคการส่งออก จากที่ได้เจรจาตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นหลายตลาด จึงยังไม่ลดเป้าหมายส่งออกขยายตัวร้อยละ 15 และให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยมาเตรียมตัวช่วยเหลือเอกชนกรณีการเปิดแอล/ซี ลดความเสี่ยง และยังให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเตรียมพร้อมในกรณีธนาคารพาณิชย์อาจจะไม่กล้าปล่อยกู้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันน้ำท่วม รวมถึงนโยบายการสร้างรายได้แก่ประชาชน ด้วยการเพิ่มค่าจ้างแรงงาน การลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 20 ในขณะที่ดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางต่ำ และราคาพลังงานอ่อนตัว เงินบาทที่อ่อนค่าลงจนส่งผลดีต่อการส่งออก สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้ภาพรวมอยู่ในภาวะสมดุล และอุ่นใจได้ว่า ไม่เกิดปัญหารุนแรง เชื่อมั่นว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.5
กำลังโหลดความคิดเห็น