เอเยนซี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์เติบโตของจีน เหลือร้อยละ 8 ลดลงร้อยละ 0.2 ขณะที่ในปีหน้า ก็ลดลงร้อยละ 0.3 อยู่ที่ร้อยละ 8.5 แต่ก็ยังมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าสหรัฐฯ และยุโรป แต่การชะลอตัวของจีนก็ดับความหวังที่จะฟื้นเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะซีกฝั่งตะวันตก
รายงานข่าว (17 ก.ค.) กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสสองของจีนที่โตเพียงร้อยละ 7.6 สืบเนื่องจากการหดตัวของภาคส่งออก การบริโภค บรรดานักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ในครึ่งปีหลังนี้ เศรษฐกิจอาจจะฟื้นกลับคืนมาได้แต่ก็ใช้เวลานาน และก็ไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่เคยคาดการณ์
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีจีน เวิน จยาเป่า ได้เตือนถึงภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงผันผวนและเตรียมรับมือกับปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น โดยนายกฯ ให้คำมั่นว่าจะพิจารณาระงับมาตรการภาษีและให้ความช่วยเหลือบรรดากิจการที่ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของภาคส่งออก
รายงานของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า มีสัญญาณความเสี่ยงในการทรุดของเศรษฐกิจจีน ซึ่งยอดการลงทุนลดลงอย่างชัดเจน ทำให้ภาคการผลิตจำนวนหนึ่งต้องแบกรับภาระหนัก และการชะลอตัวอย่างยาวนานของเศรษฐกิจโลก ยังทำให้จีนลดการน้ำเข้าน้ำมัน, แร่เหล็ก วัตถุดิบในการผลิตอื่นๆ จากออสเตรเลีย บราซิล และแอฟริกา ซึ่งกระทบเป็นห่วงโซ่ไปถึงประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่ส่งชิ้นส่วนอุตสาหกรรมออกไปยังจีน
ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า จีน อินเดีย และบราซิล ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมส่งออก และภาคการบริโภคในประเทศไปพร้อมๆ กัน รวมไปถึงผลจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง และมาตรการคุมความร้อนแรงของเศรษฐกิจที่เคยเติบโตอย่างไม่สมดุลย์ และนโยบายเหล่านั้น ก็ยังไม่ได้ผ่อนคลายลง ซึ่งคาดว่าครึ่งปีหลังนี้คงจะมีการปรับเปลี่ยน หากมิเช่นนั้น จะมีผลต่อศักยภาพในการเติบโตของในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ลงไปอีก
รายงานข่าวกล่าวว่า นับแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วสองครั้ง และอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจผ่านการลงทุนของรัฐ และโครงการที่อยู่อาศัยราคาถูก รวมทั้งกิจการสาธารณะอื่นๆ โดยจีนได้ใช้ความระมัดระวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่โหมอย่างหนักในช่วงปี 2551 ซึ่งยังคงทำให้เกิดภาวะหนี้สูญเปล่า โดยเจ้าหน้าที่กล่าวว่า อย่างไรก็ดี การคุมราคาบ้านเพื่อชะลอความร้อนแรงเกินจริงก็จะต้องคงไว้ต่อไป และการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนจะยังคงเป็นเรื่องแรกๆ ที่มุ่งเน้น ตราบเท่าที่ภาคการบริโภคภายในประเทศและ ภาคอุตสาหกรรมส่งออก ยังคงไม่เติบโตรวดเร็วอย่างที่ต้องการ
ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (12 ก.ค.) ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เพิ่งจะปรับลดความคาดการณ์ทางเศรษฐกิจในเอเชีย จากร้อยละ 6.9 มาอยู่ที่ ร้อยละ 6.6 อันเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤติการเงินยุโรป และการยังไม่ฟื้นของสหรัฐฯ รวมทั้งอัตราเติบโตที่ลดต่ำลงของจีนและอินเดีย