xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรปฝ่าวิกฤติ “เรื่องอะไรจีนต้องนำเงินชาติไปเสี่ยงอุ้มซื้อหนี้ฯ”

เผยแพร่:   โดย: ชัยพร พยาครุฑ

นายโหลว จี้เหว่ย ประธานบริหารกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีน (ซีไอซี) (ภาพบลูมเบิร์ก)
เดอะวอลสตรีทเจอร์นัล - นายโหลว จี้เหว่ย ประธานบริหารกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีน (ซีไอซี) ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับวิกฤติการเงินของสหภาพยุโรปว่า ขณะนี้มีความเสี่ยงมหาศาล จึงจำต้องลดปริมาณการถือครองหุ้นส่วนและพันธบัตรรัฐบาลในยูโรโซนลง ขณะเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนพากันออกโรงไม่ไว้วางใจเศรษฐกิจยุโรป เนื่องจากเห็นว่าวิธีการจัดการปัญหาของผู้นำยุโรปยังไม่เข้าขั้น แต่ก็อดหวั่นไม่ได้เนื่องจากยุโรปเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดของจีน

“ขณะนี้มีความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจยุโรปจะร่วงลงอย่างแรง และความเสี่ยงนั้นเริ่มมีเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นทุกขณะ” นายโหลวให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี พร้อมเผยว่าการลดปริมาณการลงทุนในสหภาพยุโรปของซีไอซี จะทำให้ความน่าเชื่อถือของบรรดานักลงทุนดิ่งลง เพราะการขยับของซีไอซีแม้เพียงนิดก็เป็นที่จับตาของวงการนักลงทุนทั่วโลก

ซีไอซีเป็นกองทุนความมั่นคั่งใหญ่สุดอันดับ 5 ของโลก มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการราว 410,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รัฐบาลจีนได้ก่อตั้งซีไอซีในปี 2550 ไว้เป็นองค์กรสำหรับแสวงหาผลตอบแทนด้วยวิธีการเก็งกำไรจากทุนสำรองระหว่างประเทศ จีนมองว่าการจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนมูลค่า 3.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐซึ่งมากสุดในโลกเป็นสิ่งสำคัญอันดับ 1 ของภาคการเงิน

ท่าทีกองทุนมั่งคั่งจีน

นักลงทุนในระดับโลกจับตาพิเคราะห์ยุทธศาสตร์ล่าสุดของซีไอซี เพราะโดยปรกติแล้วจีนสามารถใช้ศักยภาพของตนอุ้มซื้อหนี้หรือพันธบัตรรัฐบาลยุโรปได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ซีไอซีโต้ว่า “ซีไอซีเป็นหน่วยการลงทุนเชิงพาณิชย์ และจะไม่ลงทุนหากไร้ซึ่งผลกำไร”

นายโหลวเผยว่า ซีไอซีได้ทยอยขายพันธบัตรที่ถือครองในประเทศ “ชายขอบ” แถบสหภาพยุโรปมานานแล้ว ก่อนที่จะเกิดวิกฤติการเงินด้วยซ้ำ โดยได้ลดการถือครองทั้งหุ้นส่วนและพันธบัตรรัฐบาล เพราะมีความเสี่ยงสูง แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าประเทศชายขอบฯในยุโรปคือประเทศใด ขณะที่นักวิเคราะห์ตีความว่าน่าจะหมายถึงประเทศกรีซ โปรตุเกส และไอร์แลนด์ ผู้ต้องการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอย่างฉับพลัน

ซีไอซีไม่ได้ใจดีให้การสนับสนุนแก่ประเทศยุโรปทุกประเทศ หากประเทศใดมีภาระหนี้สินหนักอึ้ง ซีไอซีจะพิจารณาไม่เข้าลงทุน ทำให้เจ้าหน้าที่จากสหภาพยุโรปบางประเทศเสนอความเห็นสร้างรูปแบบที่เรียกว่า “หนี้รวม” ขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนประเทศในสหภาพยุโรปขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณการกู้ยืมเงินจากภายนอกสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถูกตั้งคำถามถึงความสามารถในการควบคุมเศรษฐกิจของประเทศตน

นายโหลว ซึ่งเป็นอดีตนักวิทยาศาตร์คอมพิวเตอร์ที่ผันตนมาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้คิดว่าสหภาพยุโรปมีความพร้อมที่จะก่อหนี้ขึ้นอีก โหลวชี้ว่ายุโรปยังไม่มีมาตรการด้านการเงินที่ดีพอ ไม่มีแม้กระทั่งนโยบายที่เหมาะควรในการรับมือปัญหา หากว่าซีไอซีเข้าซื้อพันธบัตรยุโรปอีกคงเป็นไปไม่ได้ เพราะมีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ซีไอซียังคงสามารถลงทุนได้ในภาคหุ้นส่วนเอกชน และการลงทุนโดยตรง เฉกเช่นโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานฯ เท่านั้น

ยุโรปกำลังจมกองหนี้ฯ ซีไอซีสนตลาดอื่น

วิกฤติการเงินในยุโรปหนักข้อขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความหวาดกลัวว่าประเทศกรีซจะต้องถอนตัวออกจากยูโร เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปส่งแถลงการณ์ขอความช่วยเหลือไปยังปักกิ่งให้ช่วยเพิ่มการซื้อหนี้ยุโรปขึ้นอีก ขณะที่ผู้นำจีนได้แถลงความเชื่อมั่นต่ออนาคตของยุโรป แต่ก็ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือในภาคการเงิน นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่ายังได้เรียกร้องให้ยุโรปเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยการยกเครื่องปฏิรูปโครงสร้างการเงินและเศรษฐกิจเสียใหม่

แม้ว่าวิกฤติในยุโรปจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่เน้นการส่งออกสู่ตลาดยุโรปและสหรัฐฯ แต่นายโหลวยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจจีน “สิ่งเดียวที่เราคงมั่นใจมากที่สุดก็คือเศรษฐกิจของจีน ซีไอซียังคงมองหาช่องทางการลงทุนต่างประเทศเพื่อขยับยกเศรษฐกิจจีนให้เชื่อมโยงกับส่วนต่าง ๆ ของโลก โดยพุ่งเป้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ รัสเซียฯ และมีความหวังที่จะเข้าไปในแอฟริกาและละตินอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เศรษฐกิจเติบโตจากการบริโภคภายในมากขึ้น
ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ของจีน (ขวา) กับ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย สัมผัสมือกันในระหว่างพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสอง ณ มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง (5 มิ.ย.) (ภาพเอเยนซี)
เมื่อวันอังคาร (5 มิ.ย.) ซีไอซีได้ลงนามกับกองทุนมั่งคั่งของรัสเซียเพื่อสร้างช่องทางการลงทุนในรัสเซียและประเทศที่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต เงินทุนสำหรับการร่วมมือดังกล่าวจะตั้งต้นที่ 2 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 พันล้านดอลลาร์ต่อไป

อย่างไรก็ดี โหลวก็รู้ว่า จีนยังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจอยู่มาก แม้ว่าจะอยู่ในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจลำดับ 2 รองจากมะกันก็ตาม ผู้นำจีนตระหนักว่าหากต้องการให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน จะต้องปรับรูปแบบการขับเคลื่อนที่เน้นการส่งออกและการลงทุน มาสู่การหนุนการบริโภคภายในประเทศ โหลวชี้ว่าการปรับสมดุลจะต้องชำแหละกันให้ถึงรากถึงโคนและนานพอสมควร

หลายคนเสนอว่า สิ่งจำเป็นสำหรับการปฏิรูปก็คือการสร้างอำนาจซื้อให้แก่ประชาชน โดยการเปิดบัญชีทุน (capital account) และปล่อยให้ค่าเงินหยวนผกผันได้อย่างเสรี จากมุมของผู้สังเกตการณ์มองว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มผลักดัน แต่มุมมองของโหลวนั้น วันนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม “วันนี้วิกฤติยังคงดำเนินต่อไป วันใดที่วิกฤติหมดไป วันนั้นคือวันที่เหมาะควร”

“ขณะนี้ จีนยังไม่เป็นประเทศพัฒนา ดังนั้นก็ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเปิดตลาดอย่างเต็มตัว” นายโหลวย้ำ

“โหลว จี้เหว่ย” ซีไอซีตัวพ่อ

นายโหลว วัย 61 ปี ดำรงตำแหน่งประธานซีไอซีเมื่อปี 2550 หลังจากนั่งเก้าอี้รองเลขาธิการใหญ่ของคณะมุขมนตรีจีน ก่อนหน้านั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านการเงินและเป็นรองผู้ว่าฯ มณฑลกุ้ยโจว เขามีบทบาทสำคัญในการยกเครื่องระบบเก็บภาษี และถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีความคิดปฏิรูป

ในปี 2550 ซีไอซีถูกวิจารณ์ว่าสูญเสียผลประโยชน์ในการลงทุนภาคการเงินที่สหรัฐฯ ซึ่งรวมทั้งในมอร์แกน สแตนลีย์ และ แบล็คสโตน กรุ๊ป แอลพี แต่ต่อมาในปี 2552 และ 2553 ก็ได้กำไรคืนมารวม 11.7 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ซีไอซีของจีนกลายเป็นองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นขึ้นมาในระดับโลกทันที

ไมเคิล แมคคอร์แม็ค ผู้อำนวยการบริหารแห่งบริษัทซี เบน แอดไวเซอร์แห่งเซี่ยงไฮ้ เผยว่า “ซีไอซีได้เกรด เอ ภายใต้การบริหารงานของโหลว ทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติการเงินที่หนักหน่วงในปี 2551 มาได้ และค่อย ๆ ขยับขยายภาคการลงทุนเข้าสู่การถือหุ้นภาคเอกชน กองทุนเพื่อการเก็งกำไร อสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนสินทรัพย์ทางเลือกอีกมากมาย การที่กองทุนมั่งคั่งจีนฯ เปลี่ยนจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาลมาเป็นการลงทุนในภาคที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ย่อมแสดงให้เห็นความเก่งฉกาจและกล้าได้กล้าเสียขององค์กร”

โหลวให้สัมภาษณ์ว่า ซีไอซียังไปไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ คือให้มีการลงทุน 50 เปอร์เซ็นต์ในสินทรัพย์อื่น อาทิ โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน โภคภัณฑ์ และภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นการถือครองหลักทรัพย์สาธารณะจำพวกพันธบัตรฯ แม้ว่าซีไอซีเป็นนักเก็งกำไรระยะยาว บางครั้งก็จำต้องเสียสละผลตอบแทนระยะยาว เพื่อลดความผกผันในระยะสั้น

เจาะตลาดพลังงาน

ด้านหนึ่งที่ซีไอซีมุ่งหน้าไปลงทุนก็คือ “ภาคพลังงาน” ซึ่งมีความผกผันในตลาดสูง ซีไอซีได้เข้าถือหุ้นบริษัทเทค รีซอสเซส ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองโลหะในแวนคูเวอร์มูลค่า 1,500 ล้านเหรียญฯ บริษัทเอเอสพี คอร์ป ผู้ประกอบการพลังงานในเวอร์จิเนีย มูลค่า 1,600 ล้านเหรียญฯ ในบริษัทเพนน์ เวส เอเนอร์จีทรัสต์ ในอัลเบอร์ตาอีก 416 ล้านเหรียญฯ

นายโหลวเผยว่า ภาคพลังงานมีความอ่อนไหวและเสี่ยง เพราะราคาพลังงานขึ้นลงตามกลไกตลาด สิ่งเหล่านี้อาจสร้างแรงกดดันในระยะสั้น “เมื่อเราสนใจด้านพลังงาน เราก็ต้องเลือกให้ดีว่าจะลงทุนในด้านไหนของพลังงาน ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าแล้วขาดทุน”

อีกส่วนหนึ่งที่ซีไอซีให้ความสำคัญก็คือด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน “กว่า 3 ปี ผมได้เรียกร้องให้มีการลงทุนในภาคโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในระดับโลก เพราะขณะนี้การลงทุนด้านนี้มีแต่ลดน้อยถอยลง” ซีไอซีต้องการให้มีการไหลเวียนของเงินทุนที่มีความผันผวนต่ำ ซึ่งการลงทุนที่ว่าก็คือ “สาธารณูปโภคพื้นฐาน” ซีไอซีตั้งตัวเลขไว้ที่ประมาณ 10,000 ล้านเหรียญ แต่ขณะนี้ยังคงไม่ได้ลงทุนเต็มเป้าหมาย

“ซีไอซีเป็นนักลงทุนภาคการเงินระยะยาว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนยิบย่อยรายวัน” ซีไอซีตัวพ่อกล่าวทิ้งท้าย.
กำลังโหลดความคิดเห็น