xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.IMF เตือน ศก.โลกเสี่ยงจม “วังวนถดถอย” แนะเอเชียรีบป้องกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนไอเอ็มเอฟ กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมอินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนซ์ ฟอรัม ที่กรุงปักกิ่ง วันนี้ (9)
เอเอฟพี - คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนวันนี้ (9) ในระหว่างการเยือนจีนเป็นเวลา 2 วัน ว่า โลกกำลังตกอยู่ในขั้นเสี่ยงที่จะกระโจนพรวดลงสู่หุบเหวแห่ง “ความไม่แน่นอนและความไร้เสถียรภาพทางการเงิน” พร้อมกันนี้ก็ได้เร่งเร้าให้บรรดาประเทศในเอเชียเตรียมตัวป้องกันเอาไว้ให้ดี

ระหว่างการกล่าวปราศัยในที่ประชุมอินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนซ์ ฟอรัม ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งวันนี้ (9) บิ๊กบอสหญิงแห่งไอเอ็มเอฟ ระบุว่า เอเชียยังไม่มีภูมิคุ้มกันสำหรับปัญหาที่กำลังลุกลามทั่วยูโรโซนขณะนี้

“หากพวกเราไม่ร่วมมือกันดำเนินการอะไร เศรษฐกิจทั่วโลกก็จะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะจมดิ่งลงสู่วังวนแห่งความไม่แน่นอน ตลอดจนความไร้เสถียรภาพทางการเงิน” เธอ กล่าว

“เอเชียไม่มีระบบภูมิคุ้มกัน โดยไม่ว่าจะเป็นช่องทางการค้า หรือไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน ก็สามารถเป็นตัวเร่งวิกฤตได้ ดังนั้น เอเชียจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเอาไว้”

“พวกเราต่างตกอยู่ในความเสี่ยงด้วยกันทั้งหมด และโชคชะตาของพวกเราก็จะเป็นตายร้ายดีด้วยกัน” ลาการ์ด กล่าว หลังจากที่เธอเพิ่งเสร็จสิ้นจากการเยือนรัสเซียสดๆ ร้อนๆ โดยระหว่างอยู่ที่นั่น เธอเตือนมอสโกถึงท่าทีที่ยังใจเย็นต่อวิกฤตการคลังในกลุ่มประเทศซึ่งใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน)

นอกเหนือจากคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่โลกกำลังจะเผชิญแล้ว ลาการ์ดยังเรียกร้องให้จีนปฏิรูปเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นตามความเป็นจริง หลังจากสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าจากจีนรายใหญ่ กล่าวหาจีนมาตลอดว่าพยายามกดค่าเงินหยวนให้ต่ำเข้าไว้เพื่อสร้างความได้เปรียบแบบไม่เป็นธรรมแก่บรรดาผู้ส่งออกของตน

ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ลาการ์ด จะพบหารือกับใครที่เมืองหลวงของจีนคราวนี้ ทว่า ก็มีการคาดหมายกันว่าหัวข้อการพูดคุยคงหนีไม่พ้นเรื่องที่จะตามจีบปักกิ่งเข้ามามีส่วนร่วมในโปรแกรมช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่ประเทศที่กำลังประสบภาวะวิกฤต ด้วยการให้ลงทุนในกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility หรือ EFSF)

เมื่อเดือนที่แล้ว เคลาส์ เรจลิง ผู้อำนวยการกองทุนอีเอฟเอสเอฟ ก็เคยไปเยือนปักกิ่งเพื่อพูดคุยถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทว่า จนถึงตอนนี้จีน ประเทศซึ่งมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลกที่ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ ก็ยังไม่ได้ตกลงปลงใจว่าจะร่วมลงขันด้วยหรือไม่

หลายฝ่ายมองว่า เป็นเรื่องยากที่ยุโรปจะโน้มน้าวผู้นำจีนให้คล้อยตามโดยเข้ามาช่วยเหลือประเทศยุโรปที่พัฒนาแล้ว ทั้งๆ ที่ประชาชนหลายร้อยล้านคนในประเทศของตนยังคงมีฐานะยากจน ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจภายในจีนเองก็ไม่เบา ด้วยวิกฤตเงินเฟ้อและราคาภาคอสังหาริมทรัพย์

จีนเคยลิ้มรสความขมขื่นจากการลงทุนความเสี่ยงสูงในต่างประเทศมาก่อน โดยที่ได้ลงทุนในสินทรัพย์ของวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ มอร์แกน สแตนลีย์ และแบล็กสโตน ซึ่งเป็นบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ และผลก็คือจีนได้แต่มองดูราคาสินทรัพย์ที่ตนลงทุนร่วงระนาว ในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตการเงินโลกในปี 2008

ผลจากการขาดทุนย่อยยับคราวนั้นได้นำไปสู่การวิพากษวิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาดของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัฐบาลจีน หรือ ซีไอซี ซึ่งมีโครงสร้างลักษณะคล้ายกับเทมาเส็กของสิงคโปร์

กระนั้น จิน ลี่ฉวิน ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกองทุนซีไอซี ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์อัลญะซีเราะห์ สื่ออาหรับ ว่า รัฐบาลปักกิ่งอาจพิจารณาลงทุนในยุโรป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การตัดสินใจใดๆ ย่อมต้องขึ้นอยู่กับผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น