xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนมั่งคั่งจีนลั่น รุกลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอียูและอเมริกา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ – นายโหลว จี้เหว่ย ประธานและซีอีโอของบริษัทการลงทุนแห่งประเทศจีน หรือซีไอซี แถลงในการประชุมการเงินอาเซียนในฮ่องกง 20 ม.ค. 2553 (ภาพรอยเตอร์)
เอเอฟพี - กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติจีนแถลงว่าจะไปลงทุนในด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งฝั่งสหภาพยุโรปและในสหรัฐอเมริกา

โหลว จี้เหว่ย ประธานบริษัทการลงทุนแห่งประเทศจีน หรือซีไอซี เผยว่า “ขณะนี้สิ่งที่เป็นโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งในสหภาพยุโรปและอเมริกานั้นต้องการการลงทุนเร่งด่วน และขณะนี้บริษัทฯก็ได้สร้างทีมงานขึ้นมาเพื่อเข้าไปร่วมมือกับคู่หุ้นส่วนทางธุรกิจในบริเตนแล้ว”

“แต่ไหนแต่ไรมา การเข้าไปมีส่วนลงทุนในกิจการด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานของจีนในต่างแดนนั้น มีลักษณะเป็นการทำสัญญา แต่ปัจจุบันนี้ผู้ลงทุนสัญชาติจีนเห็นควรไปลงทุนพัฒนาหรือร่วมมือในโครงการต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองแล้ว” โหลวเขียนในบทความซึ่งตีพิมพ์ในไฟแนนเชียลไทมส์

ซีไอซี เป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 มีหน้าที่นำทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไปลงทุนเพื่อได้ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ทั้งนี้จีนมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากสุดในโลก เมื่อสิ้นเดือนก.ย.อยู่ที่มูลค่า 3.2017 ล้านล้านดอลลาร์

นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มการลงทุนในภาคสินทรัพย์ถาวร เช่น แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากบริษัทต้องการทำให้การลงทุนหลากหลายไม่ใช่มีเพียงการถือครองเงินตราไว้เช่นเดียวกับกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ

ผู้นำของสหภาพยุโรปเรียกร้องให้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจลำดับสองของโลกอย่างจีน ช่วยแก้ปัญหาภาระหนี้สินของบรรดาประเทศยุโรป แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสของซีไอซีชี้ว่า สำหรับเดือนนี้แล้วไม่ว่าจะการลงทุนใด ๆ ก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าผลตอบแทนทางการเงินนั้นน่าสนใจหรือไม่

จิน ลี่ฉวิน ประธานบริหารของทีมที่ปรึกษาซีไอซี ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีร่าว่า “ประชาชนของเราก็ต้องถามเราว่า เดี๋ยวนะ การไปลงทุนเช่นนี้จะได้ผลตอบแทนคุ้มไหม”

ส่วนปฏิบัติการกู้วิกฤติเศรษฐกิจยุโรปนั้นค่อนข้างจะต้องคิดหนัก เพราะว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เองก็ยังมีประชาชนอีกหลายล้านคนที่ต้องดูแลให้พ้นปัญหาความยากจน ปัญหาเงินเฟ้อ ราคาบ้าน ราคาอาหารแพง ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาเร่งด่วนภายในประเทศทั้งสิ้น

จีนได้เข้าไปซื้อหุ้นส่วนการลงทุนในมอร์แกนสแตนเลย์ วณิชธนกิจของสหรัฐฯ และบริษัทจัดการสินทรัพย์แบล็กสโตนในปี 2551 ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ความไม่คุ้มในการไปลงทุนครั้งนั้น ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์เรื่องการเลือกช่องทางการลงทุนของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติจีน เพียงปีเดียวหลังจากก่อตั้ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น