xs
xsm
sm
md
lg

Analysis : นักวิเคราะห์ชี้ประเทศ ศก.เกิดใหม่ได้แค่ “ช่วย” แต่ไม่อาจแก้วิกฤตยูโรโซน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ความช่วยเหลือจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตหนี้สินของยูโรโซนได้ในระยะยาว
เอเอฟพี - แม้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีนและบราซิลจะเสนอตัวเข้าฉุดยุโรปให้พ้นจากหล่มหนี้สิน เพื่อให้เศรษฐกิจโลกไม่ต้องเผชิญทางตัน แต่นักวิเคราะห์มองว่าความช่วยเหลือดังกล่าวจะไม่เป็นผลเท่าใดนัก และกลับจะสร้างความเสี่ยงด้านการเงินเพิ่มขึ้นอีก

บราซิล ประกาศว่า ประเทศกลุ่มบริกส์ (BRICS) ซึ่งประกอบด้วยบราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ จะจัดการประชุมที่กรุงวอชิงตันในวันพฤหัสบดีหน้า (22) เพื่อหารือถึงวิธีช่วยเหลือให้สหภาพยุโรปพ้นวิกฤตหนี้สินครั้งใหญ่ ขณะที่จีนก็ยืนยันว่า พร้อมจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาคยุโรป

อย่างไรก็ตาม อเล็กซ์ อะกอสตานี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากบริษัทวิเคราะห์ความเสี่ยง ออสติน เรตติง ของบราซิล ระบุว่า ข้อเสนอของประเทศกลุ่มบริกส์ “ฟังดูเข้าที” แต่จะบรรเทาปัญหาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพราะเศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงถึงกันหมด และวิกฤตการณ์ครั้งนี้ก็จะส่งผลกระทบไปยังทุกๆ ประเทศ” อะกอสตานีให้สัมภาษณ์

เขาบอกด้วยว่า ความช่วยเหลือจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งเติบโตเร็วยิ่งกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “จะช่วยชะลอความผันผวนได้ชั่วคราว แต่ไม่สามารถแก้ปัญหา” ความอ่อนแอในเชิงโครงสร้างของยูโรโซนได้

ด้าน เอ็นเค ซิงข์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอินเดีย ระบุว่า ประเทศกลุ่มบริกส์จะต้องช่วยควบคุมวิกฤตยูโรโซน หากไม่ต้องการให้มูลค่าการส่งออกลดลงเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน และมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่สามารถช่วยบรรเทาวิกฤต ด้วยการซื้อพันธบัตรของประเทศในยูโรโซนที่มีหนี้สินล้นพ้น

“ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้ล้วนแต่มีบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ไม่เฉพาะจีนซึ่งมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงที่สุดถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น” อักแนส เบนาสซี-เกเร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ CEPII ในฝรั่งเศส ระบุ

“การนำงบประมาณส่วนเกินมาหมุนเวียนนั้น นอกจากซื้อทองคำหรือเงินฟรังก์สวิสแล้ว ก็ไม่เสียหายถ้าจะซื้อพันธบัตรอิตาลี”

คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ความช่วยเหลือจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ถือเป็น “พัฒนาการที่น่าสนใจ”

“หากพวกเขาจะซื้อแต่พันธบัตรของประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูงอย่างเยอรมนีและอังกฤษ ก็คงไม่มีความเสี่ยงมากนัก แต่ดิฉันหวังว่าถ้ามีการแทรกแซงเกิดขึ้นจริง คงจะเป็นการทุ่มซื้อครั้งใหญ่ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะพันธบัตรของบางประเทศ” ลาการ์ด ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ ลา สแตมปา ของฝรั่งเศส

ภาณุ บาเวจา ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จากบริษัทการเงิน ยูบีเอส ให้ความเห็นว่า ประเทศกลุ่มบริกส์อาจจะรับซื้อพันธบัตรยูโรโซน แต่จะไม่ซื้อเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงเกินไป อีกทั้งประเทศเหล่านี้ก็มีปัญหาภายในของตนเช่นกัน

รัฐบาลอิตาลียอมรับว่าได้ส่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจไปเจรจากับประธานบริษัท ไชนา อินเวสเมนต์ คอร์ป (ซีไอซี) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่เป็นการพูดคุยถึงการลงทุนโดยตรงในบริษัทของอิตาลีมากกว่ารับซื้อพันธบัตรรัฐบาล

เบนาสซี เกเร ย้ำว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยเฉพาะจีน สามารถช่วยเหลือยุโรปโดย “กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับอุปสงค์ภายในประเทศ” ซึ่งจะช่วยให้ประเทศร่ำรวยสามารถส่งสินค้าเข้าไปขายได้

หากไม่ทำเสียแต่วันนี้ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจไม่มีโอกาสในภายหลัง เธอกล่าว

“หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ตลาดเกิดใหม่จะไม่อาจพึ่งพาการส่งออกอย่างเดียวได้อีกต่อไป แต่จะต้องกระตุ้นการเติบโตของตลาดภายในประเทศด้วย ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้ควรเกิดขึ้นโดยเร็ว”
กำลังโหลดความคิดเห็น