เอเอฟพี - ผลการสำรวจว่าด้วยหลักนิติรัฐโลกประจำปีรายงานออกมา วันนี้ (13) โดยชี้ว่า จีนมีปัญหาสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รัสเซียมีความบกพร่องเรื่องเสรีภาพประชาชนร้ายแรง ส่วนสหรัฐฯ พบปัญหาการเลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน
สวีเดนและนอร์เวย์มีอันดับสูงสุดจากการสำรวจภายใต้ “โครงการความยุติธรรมโลก ดัชนีหลักนิติรัฐ” ซึ่งทำหน้าที่จัดอันดับประเทศด้วยประเด็น อาทิ รัฐบาลถูกตรวจสอบหรือไม่ ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ สิทธิมนุษยชนได้รับการปกป้องหรือไม่ และมีการป้องปรามอาชญากรรมและการทุจริตหรือไม่
หลิว หงเสีย กรรมการบริหารโครงการระบุว่า ดัชนีชี้วัดหลักนิติรัฐ “ไม่ได้จัดทำขึ้นมาเพื่อประณามหรือตำหนิ แต่เพื่อหาข้อมูลอ้างอิงที่เป็นประโยชน์สำหรับนานาประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งมีวัฒนกรรมทางกฎหมายที่เทียบเคียงกันได้ และมีระดับรายได้ใกล้เคียงกัน”
ในกรณีของจีน รายงานฉบับนี้ระบุว่ามี “พัฒนาการสำคัญ” ในเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ และการตรวจสอบสถาบันกฎหมาย แต่ยังต้องปรับปรุงเพิ่มเติมในปัญหาเรื่องอิสรภาพของตุลาการ โดยจีนอยู่อันดับ 2 ภายในกลุ่มบริกส์ หรือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่
“ดัชนีเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในจีนอ่อนแอ ทั้งสิทธิแรงงาน (อันดับ 61 จาก 66 ประเทศ) เสรีภาพในการชุมนุม (อันดับ 66) และเสรีภาพในการแสดงความเห็น (อันดับ 66)”
ส่วนอินเดีย การสำรวจพบว่ามีการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็น อิสรภาพของตุลาการ และการตรวจสอบรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ “อย่างไรก็ตาม ผลการทำงานของภาครัฐที่ไม่น่าพึงพอใจส่งผลลบต่อหลักนิติรัฐในอินเดีย”
ระบบศาลอินเดียล้มเหลว กระบวนการดำเนินคดีล่าช้า และขาดการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งมีปัญหาทุจริต การเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีการละเมิดสิทธิเป็นปกติวิสัย
รายงานฉบับนี้ระบุถึงรัสเซีย อีกหนึ่งประเทศในกลุ่มบริกส์ ว่า “ขาดการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ทำให้สิ่งแวดล้อมของสถาบันมีลักษณะเข้าข่ายการทุจริต อภิสิทธิ์ และการแทรกแซงทางการเมือง … การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น เสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพในการชุมนุม และการแทรงแซงโดยอำนาจรัฐเป็นประเด็นที่น่ากังวล”
ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ชี้ว่าอิหร่านมีคะแนนอยู่ในอันดับสุดท้ายกรณีการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ส่วนในภูมิภาคละตินอเมริกา เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศที่มีการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐเลวร้ายที่สุด