xs
xsm
sm
md
lg

BIS เตือนได้เวลาขึ้น ดบ. ป้องเงินเฟ้อลามทั่วโลก แนะใช้วินัยการคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บีบีซี / รอยเตอร์ / เอเอฟพี - ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements หรือ BIS) กล่าวเตือนในรายงานประจำปีว่า การที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลกคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นเวลานานต่อเนื่องกันเพื่อหมายกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น กลับเป็นการจุดชนวนภาวะเงินเฟ้อขึ้นในหลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งหากปล่อยเป็นเช่นนี้ต่อไปจะคุกคามต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโลก นอกจากนี้ บีไอเอส ยังเตือนพวกประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าให้เร่งฟื้นฟูวินัยทางการคลังด้วยการลดเพดานการก่อหนี้สาธารณะลง รวมถึงหนี้ที่ก่อโดยภาคเอกชนด้วย

บีไอเอส ซึ่งมีฐานะเป็นเสมือนธนาคารกลางของธนาคารกลางประเทศต่างๆ กล่าวสรุปในรายงานประจำปีที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (26) เตือนว่า แบงก์ชาติทั่วโลกจำเป็นจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อไปทั่วโลก หลังจากในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อสำคัญอย่างระดับราคาอาหาร, พลังงาน ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ในหลายประเทศ โดยเฉพาะพวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่พุ่งพรวดขึ้นอย่างน่าวิตกกังวล ทั้งนี้นับตั้งแต่ที่ทั่วโลกประสบภาวะวิกฤตการเงินในปี 2008 เป็นต้นมา ธนาคารกลางส่วนใหญ่ต่างพากันปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อพยายามฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของตน

บีไอเอสเตือนว่า ถึงแม้การผ่อนปรนด้านนโยบายการเงินและกฎเกณฑ์เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อที่ผ่านมา จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศจนฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ทว่า ต้นทุนการปล่อยกู้ในอัตราที่ต่ำได้ส่งผลกระทบในทิศทางลบด้วย โดยทำให้ภาคสินเชื่อและอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟูเกินไปจนกระทั่งก่อให้เกิดฟองสบู่ขึ้น

“การขยายขอบเขตระยะเวลาของการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำมากๆ จะนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้โครงสร้างระบบการเงินผิดรูปอย่างร้ายแรง รวมไปถึงการจัดสรรทรัพยากรที่ผิดพลาดด้วย” บีไอเอส กล่าว “การที่ทั่วโลกปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นในอันที่จะจำกัดแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อและขจัดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน”

บีไอเอส แนะว่า แบงก์ชาติต่างๆ ควรเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เร็วกว่าก่อนๆ นอกจากนี้ยังเสริมว่า ตราบใดที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมยังคงพุ่งตรงแบบไม่ยืดหยุ่นเช่นนี้ ราคาอาหารและโภคภัณฑ์ก็ยังจะอยู่ในระดับที่สูงต่อไปหรือแม้กระทั่งอาจจะกระโจนสูงขึ้นไปอีก พร้อมกันนี้ยังย้ำเตือนกลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ไม่ให้เข้าไปติดหล่มภาวะวิกฤตดังเช่นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน, อินเดีย และบราซิล ซึ่งเป็นสามประเทศในกลุ่มบริกส์และปัจจุบันต่างก็กำลังประสบกับปัญหาราคาอสังหาริมทรัพย์สูงลิ่วและหนี้ภาคเอกชนพอกพูน

“กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ได้จัดการทำให้ตนหลุดพ้นออกจากวิกฤตการณ์อันเลวร้ายที่สุด ทว่า หลายประเทศขณะนี้กำลังก่อความเสี่ยงที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจขาดความสมดุลอันเป็นลักษณะเดียวกับที่เคยจุดชนวนให้เกิดวิกฤตการเงินโลกระลอกล่าสุด” บีไอเอส ระบุในรายงาน

นอกจากนี้ บีไอเอส ยังเตือนให้บรรดาประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้ารีบดำเนินมาตรการตัดลดเพดานหนี้สินให้ต่ำลง ทั้งหนี้ที่ก่อโดยภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหายนะระลอกใหม่ตามมา โดยให้รายละเอียดว่า สำหรับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และสำคัญอย่างเช่นสหรัฐฯ นั้น การชะลอการตัดลดงบประมาณรายจ่ายออกไป อาจเพิ่มความเสี่ยงให้แก่วิกฤตหนี้สาธารณะมากขึ้นไปอีก ซึ่งจะบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะยาว

บีไอเอส ยังมุ่งโฟกัสไปที่สถานการณ์หนี้สินของไอร์แลนด์และสเปน โดยชี้ว่า ปัญหาการขาดดุลงบประมาณของสองประเทศนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระดับใหญ่โต ครั้นจะแก้ปัญหาได้หรือไม่นั้น รัฐบาลจำเป็นต้องใช้ความพยายามให้มากขึ้นไปอีก

สำหรับกรณีของไอร์แลนด์ก่อนหน้าที่จะประสบภาวะวิกฤตนั้น งบประมาณเกินดุลแทบจะทั้งหมดมาจากภาคการก่อสร้างที่ขยายตัวมากเกินไป ทั้งนี้หากไร้ปัจจัยความเฟื่องฟูของภาคอสังหาริมทรัพย์ ฐานะทางการคลังของไอร์แลนด์จะอยู่ในเกณฑ์สมดุล ขณะที่ในรายของสเปนนั้น 1 ใน 3 ของดุลการคลังเกินดุลในปี 2007 ก็มาจากภาคการก่อสร้างเช่นกัน ดังนั้นเมื่อฟองสบู่แตกตัวในช่วงระหว่างเกิดวิกฤตการเงิน การตัดลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐจึงเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของวิธีแก้ปัญหาเท่านั้น รัฐบาลยังจะต้องแสวงหาหนทางเติมเต็มช่องว่างของรายได้ที่ขาดหายไปนี้ด้วย
BISเตือนได้เวลาขึ้นดบ. ป้องเงินเฟ้อลามทั่วโลก
บีบีซี / รอยเตอร์ / เอเอฟพี - ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements หรือ BIS) กล่าวเตือนในรายงานประจำปีว่า การที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลกคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นเวลานานต่อเนื่องกันเพื่อหมายกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น กลับเป็นการจุดชนวนภาวะเงินเฟ้อขึ้นในหลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งหากปล่อยเป็นเช่นนี้ต่อไปจะคุกคามต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโลก นอกจากนี้ บีไอเอส ยังเตือนพวกประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าให้เร่งฟื้นฟูวินัยทางการคลังด้วยการลดเพดานการก่อหนี้สาธารณะลง รวมถึงหนี้ที่ก่อโดยภาคเอกชนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น