xs
xsm
sm
md
lg

‘กก.ผจก.ไอเอ็มเอฟ’คนต่อไปควรจะมาจากไหน

เผยแพร่:   โดย: ธาลิฟ ดีน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Sex, race, debt stir up IMF battle
By Thalif Deen
20/05/2011

ทางฟากฝั่งยุโรปยังคงอ้างว่า ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต้องเป็นของชาวยุโรปต่อไป ตามที่ได้เคยมีการทำความตกลงกันไว้ตั้งแต่ตอนแรกก่อตั้งองค์การนี้ และไม่มีท่าทีจะยอมอ่อนข้อในเรื่องนี้อย่างง่ายๆ อย่างไรก็ตาม จากการที่วิกฤตหนี้สินของพวกเขายังคงแผ่ลามออกไปอย่างต่อเนื่อง กำลังกลายเป็นเหตุผลอันหนักแน่นที่ตอกย้ำให้เห็นว่า ไม่ควรที่จะรักษาประเพณีเดิมซึ่งจะต้องให้ชาวยุโรปเท่านั้นได้เข้ามาแทนที่ โดมินิก สเตราส์-คาห์น โดยอัตโนมัติ

สหประชาชาติ - นับจากการเลือกตั้งชิงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1946 โดยที่ผู้ชนะในครั้งนั้นคือ คามิล กัตต์ (Camille Gutt) ซึ่งเบลเยียมส่งเข้าประกวด ชาวยุโรปก็ได้ทึกทักกันสืบมาว่าเก้าอี้ทรงอิทธิพลระดับโลกตัวนี้ ต้องเป็นโควตาของพวกตน ในลักษณะที่ถือว่ามันเสมือนเป็น “สิทธิโดยกำหนด” ในทางการเมืองและในทางปัญญา (political and intellectual birthright) ของพวกตนเลยทีเดียว

ที่ผ่านมาหกทศวรรษกว่าๆ ประมุขแห่งไอเอ็มเอฟ จึงกลายเป็นสมบัติผลัดกันชมในหมู่มวลชาติยุโรปต่อเนื่อง อาทิ ฝรั่งเศสได้ครองตำแหน่งนี้ 4 สมัย สวีเดนได้ครอง 2 สมัย ขณะที่เยอรมนี สเปน และเนเธอร์แลนด์ได้ครองกันประเทศละ 1 สมัย

และแล้วประเด็นว่าด้วยสิทธิการสืบทอดบัลลังก์นายใหญ่ไอเอ็มเอฟ ก็กำลังกลายเป็นข้อถกเถียงขึ้นมาอย่างกว้างขวางในเวลานี้ เมื่อประมุขคนล่าสุด โดมินิก สเตราซ์-คาห์น (Dominique Strauss-Kahn) แห่งฝรั่งเศส ประกาศลาออกหลังถูกจับกุมที่มหานครนิวยอร์ก และถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาวาบหวิว คือการล่วงละเมิดทางเพศและพยายามข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ข้อถกเถียงระอุขึ้นในเชิงการวิเคราะห์กะเก็งว่า เก้าอี้อันทรงอิทธิพลอย่างมหาศาลในตลาดการเงินโลกรายการนี้ ยังควรที่ตกสู่อ้อมกอดของชาวยุโรปอีกวาระหนึ่งหรือไม่

สำหรับตัวเก็งระดับหัวแถวที่กำลังมีการระบุพูดถึง ได้แก่ คริสทีน ลาการ์ด (Christine Lagarde) รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสในปัจจุบัน ซึ่งหากเธอได้รับตำแหน่งนี้สืบต่อจากสเตราส์-คาห์น เธอจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ขึ้นกุมบังเหียนไอเอ็มเอฟอันมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ทั้งนี้ วาระของสเตราส์-คาห์นจะหมดลงในปี 2012

เจมส์ เอ พอล (James A Paul) ผู้อำนวยการบริหารแห่ง กลอเบิล โพลิซี ฟอรั่ม (Global Policy Forum องค์กรเอ็นจีโอที่มุ่งเรียกร้องให้พวกองค์การระหว่างประเทศทั้งหลายต้องได้รับการตรวจสอบให้มากขึ้น ตลอดจนผลักดันให้เพิ่มความเข้มแข็งของกฎหมายระหว่างประเทศ -หมายเหตุผู้แปล) ให้ความเห็นต่อสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) ว่า การลาออกของสเตราส์-คาห์น คือการจุดประกายให้แก่โอกาสของความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

”ในที่สุด ก็จะมีความเป็นไปได้กันเสียทีว่า นายใหญ่ของไอเอ็มเอฟ อาจถูกดึงตัวมาจากแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยุโรป และเป็นการคัดสรรด้วยกระบวนวิธีที่โปร่งใส” พอลตั้งข้อสังเกตไว้อย่างนั้น

ที่ผ่านมาประดาสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งที่สำคัญได้แก่ ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก มักที่จะอยู่ในความครอบครองของสหรัฐอเมริกากับยุโรป โดยที่ว่ากระบวนวิธีการคัดสรรผู้บริหารสูงสุด ก็ไกลหูไกลตาจากความรับรู้ของสาธารณชน

“ก็คล้ายกับกรณีของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติล่ะครับ ความเป็นไปในพวกสถาบันการเงินระหว่างประเทศเหล่านี้ สะท้อนถึงภาพของภูมิรัฐศาสตร์ที่ล้าสมัยไปนมนานแล้ว ภูมิเศรษฐกิจที่ล้าหลังไปนมนานแล้ว” พอลว่าไปประมาณนี้

ทั้งนี้ตั้งแต่ในทศวรรษ 1940 สหรัฐฯกับยุโรปได้บรรลุข้อตกลงกันในลักษณะของสัญญาสุภาพบุรุษว่า ในขณะที่กรรมการผู้จัดการของไอเอ็มเอฟ จำเป็นต้องมาจากชาติทางยุโรป ประธานของธนาคารโลกก็จะเป็นของสหรัฐฯ

แต่พอมาในกรณีของผู้บริหารสูงสุดแห่งสหประชาชาติ คือตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ นั้น โอกาสของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในอันที่จะครองตำแหน่งอันทรงอิทธิพลนี้ กลับกว้างขวางกว่า และได้มีการเวียนเก้าอี้ไปตามภูมิภาคต่างๆ อย่างทั่วถึง

โดยที่ว่า ยุโรปได้ครองตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ยูเอ็นมาแล้ว 3 ชาติ คือ นอร์เวย์ สวีเดน และออสเตรีย ขณะที่ฝั่งแอฟริกา ได้ครองเก้าอี้นี้แล้ว 2 ชาติ คือ อียิปต์ กับกานา ส่วนชาติในเอเชียที่ได้เป็นเลขาฯ ยูเอ็น คือ พม่า กับเกาหลีใต้ และชาติทางละตินอเมริกา กับหมู่เกาะแคร์ริบเบียน ก็ได้สัมผัสไปแล้ว 1 ชาติคือ เปรู

สำหรับการเสนอชื่อบุคคลเข้าชิงตำแหน่งบิ๊กบอสไอเอ็มเอฟเที่ยวนี้ จำนวนชาติที่แสดงท่าทีอาจจะส่งคนของตนเข้าประกวดด้วยนั้น นับว่ากว้างขวางน่าตื่นตาตื่นใจ โดยมีตัวเก็งตัวเด่นได้แก่ ตุรกี แอฟริกาใต้ อินเดีย ฯลฯ

“กระนั้นก็ตาม จู่ๆ เราถูกแจ้งมาว่า คริสทีน ลาการ์ด รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส คือตัวเก็งระดับหัวแถว” พอลให้ข้อมูล

ก็จริงอยู่ว่า ถ้าคริสทีน ลาการ์ด ได้ มันจะเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่เราจะมีผู้นำสตรีอยู่ในไอเอ็มเอฟ โดยเฉพาะในยามที่สเตราส์-คาห์นต้องจากไปด้วยประเด็นเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ พอลให้ความเห็นไว้ประมาณนั้น

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันถึงเวลาที่จะต้องมีกระบวนการคัดสรรที่จริงจังเกิดขึ้นมาได้แล้ว โดยเป็นกระบวนวิธีที่จะมีผู้สมัครจากทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่ใช่แค่ผู้สมัครแบบที่เลือกกันหลังไมค์ไว้เรียบร้อยตั้งแต่อยู่ในมุ้ง ดั่งที่ทำกันมาแต่เก่าก่อน พอลบอกอย่างนั้น

นอกจากนั้น พอลยังชี้ด้วยว่าควรให้กระบวนการคัดสรรเป็นไปอย่างจริงจังและเป็นประชาธิปไตย และไม่มีการกีดกันทางเพศ โดยที่จะต้องไม่ย้อนกลับไปใช้สูตรโบราณที่โลกตะวันตกเป็นผู้ครอบงำโลกทั้งใบ ในเมื่อโลกใบนี้ก็ได้มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายแล้ว

สำหรับเหตุผลที่ฝ่ายยุโรปเรียกร้องให้ตำแหน่งเบอร์หนึ่งของไอเอ็มเอฟตกเป็นของยุโรปนั้น มีอยู่ว่าเพื่อมาช่วยแก้ปัญหาวิกฤษเศรษฐกิจที่กำลังแพร่ลามไปทั่วทวีป ทั้งนี้ สเตราส์-คาห์นมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในการกำกับดูแลเงินกู้ก้อนยักษ์มูลค่า 141,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อโอบอุ้มกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส

แต่สำหรับ จักราวธี รากาวาน (Chakravarthi Raghavan) นักข่าวรุ่นเดอะที่ติดตามรายงานข่าวในแวดวงสหประชาชาติทั้งที่นิวยอร์กและเจนีวา มาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ ได้ปฏิเสธที่จะเอออวยกับแนวคิดดังกล่าว

เขาบอกว่าเมื่อทศวรรษ 1980 ยุคที่สถาบันการเงินระหว่างประเทศกำลังดำเนินการล้วงลูกเข้าไปปรับโครงสร้างและสถาปนาประชาธิปไตยตามประเทศลูกหนี้ทั้งปวงนั้น สหรัฐฯ กับยุโรปเคยใช้ข้ออ้างว่า ในเมื่อประเทศกำลังพัฒนาเป็นฝ่ายขอกู้ พวกนี้ไม่สามารถได้รับอนุญาตให้เข้าควบคุมสถาบัน

“ตรรกะแบบเดียวกันนี้ก็สมควรจะนำมาประยุกต์ใช้ในคราวนี้เช่นกัน ไม่ควรมีคนยุโรปรายใดได้รับอนุญาตให้มาเป็นประมุขที่ไอเอ็มเอฟ” รากาวานกล่าวไว้อย่างนั้น โดยแสดงความเห็นในฐานะของอดีตบรรณาธิการใหญ่ของสื่อมวลชนชื่อ South-North Development Monitor ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา อีกทั้งยังเป็นบรรณาธิการของ Third World Economics ด้วย

อันที่จริงแล้ว แพ็คเก็จช่วยเหลือไม่ให้ชาติต่างๆ ของยุโรปต้องตกที่นั่งล้มละลายนั้น ที่แท้ก็เป็นความพยายามที่จะปกป้องผลประโยชน์ของธนาคารพาณิชย์ในฝรั่งเศสกับเยอรมนีซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่ถือพันธบัตรของทางการกรีซ สเปน และโปรตุเกส พอลฟันธงไว้อย่างนั้น

“อาจเป็นได้ด้วยว่าแบงก์ในอังกฤษก็เป็นเจ้าหนี้ของไอร์แลนด์ (ซึ่งรัฐบาลของประเทศนี้ได้ประกาศทำการค้ำประกันหนี้แบงก์เอกชน)” พอลบอก และเสริมว่า “ผมไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสกว้างขวางเพียงใดที่จะให้มีผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งมาจากหลากหลายภูมิภาคได้มากมายจริง แต่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องยืนหยัดร่วมกัน”

นอกจากนั้น สำนักข่าวไอพีเอสยังไปได้ความเห็นจากนักการทูตประจำสหประชาชาติรายหนึ่ง ซึ่งขอพูดโดยไม่เปิดเผยนามว่า “พวกยุโรปได้ประกาศปักใจแล้วว่าจะเอาตำแหน่งนี้ไว้เป็นของพวกตนให้จงได้ ดังนั้น พวกนี้ไม่มีแผนจะวางมือจากการผูกขาดไอเอ็มเอฟแน่นอน”

ในการนี้ มันย่อมจะยากมากที่บรรดาประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายจะช่วงชิงมาได้สำเร็จ ในยามที่ฝั่งยุโรปจะเดินเกมกัดไม่ปล่อย แม้ทางฝั่งประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่แข็งแรงมากๆ จะสามารถคัดหาผู้สมัครเข้าไปชิงตำแหน่งบิ๊กบอสไอเอ็มเอฟได้อย่างเหลือเฟือ เหตุผลที่สำคัญก็คือ ต้องไม่ลืมว่าสัดส่วนคะแนนเสียงที่ยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่นมีอยู่ในการโหวตในไอเอ็มเอฟนั้น ก็เป็นเสียงส่วนใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว

“ผมแน่ใจว่ากลุ่มบริกส์ (BRICS อันได้แก่บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) หรือกระทั่งชาติอื่นๆ กลุ่มอื่นๆ ล้วนแต่สามารถที่จะส่งผู้สมัครคุณภาพดีๆ เข้าไปได้มากๆ ถ้าพวกนี้ต้องการจะเอาจริง” นักการทูตรายนี้กล่าวไว้อย่างนั้น พร้อมฟันธงว่า

ในเมื่อยุโรปประกาศแล้วว่าจะรั้งเก้าอี้นี้ไว้เป็นโควตาของตน แถมยังได้เอ่ยอ้างว่าปัญหาทางเศรษฐกิจการเงินของพวกตัว เป็นเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องไล่ล่าเอาตำแหน่งนี้ไว้ในครอบครองให้จงได้อย่างนี้แล้ว มันก็คงจะยาดที่ชาติในภูมิภาคอื่นจะฉกฉวยเอาไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย แอฟริกา หรือละตินอเมริกา

โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟจะถูกเลือกตั้งมาจาก 187 ชาติสมาชิกของไอเอ็มเอฟ ซึ่งผู้ชนะจะต้องได้รับเสียงสนับสนุน 85% ของสิทธิในการโหวตทั้งหมด ในทางเป็นจริงแล้วสิทธิในการโหวตนั้นกระจุกตัวอยู่ในชาติขาใหญ่ผู้ทำการบริจาคเงินเข้ากองทุน ไอเอ็มเอฟ เพียงไม่กี่ชาติ ได้แก่ สหรัฐฯ (16.7%) ญี่ปุ่น (6.0%) เยอรมนี (5.8%) อังกฤษ (4.8%) ฝรั่งเศส (4.8%) จีน (3.6%) และอิตาลี (3.2%)

ดังนั้น ในทางเป็นจริงแล้ว ยุโรปถือสิทธิการโหวตในสัดส่วนที่เป็นเสียงส่วนใหญ่เหลือเฟือ

แต่ในเวลาเดียวกัน บรรดาองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศที่ไม่ใช่หน่วยงานของภาครัฐ ต่างออกโรงมากดดันให้กระบวนการเลือกตั้งกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ เป็นไปอย่างเปิดและโปร่งใส พร้อมกับให้ทลายการผูกขาดโดยพวกยุโรป

กลุ่มที่รณรงค์เด่นๆ ได้แก่ โครงการเบรตตันวู้ดส์ (Bretton Woods Project) กลุ่มแอคชั่นเอด (ActionAid) และกลุ่มออกซ์แฟม (Oxfam)

ทั้งนี้ โฆษกของออกซ์แฟม คือ เอลิซาเบธ สจวร์ต (Elizabeth Stuart) บอกว่า “ทางเดียวที่จะทำให้หัวหน้าคนใหม่ของไอเอ็มเอฟมีความชอบธรรมละมีอำนาจบารมีอย่างแท้จริงนั้น ก็คือจะต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่เป็นไปอย่างเปิดเผย โดยที่ผู้ชนะเลือกตั้งต้องได้รับการสนับสนุนจากประเทศส่วนใหญ่จริงๆ มิใช่เพียงแค่ได้เสียงข้างมากจากสัดส่วนการถือหุ้น”

สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส
กำลังโหลดความคิดเห็น